“...ปัจจุบันร่างกฎหมายได้เข้าระบบรับฟังความเห็นตามมาตรา 77 แห่งรัฐธรรมนูญปี 2560 แล้ว โดยเริ่มรับฟังความเห็นเมื่อวันที่ 29 ส.ค. 2566 ที่ผ่านมา ส่วนจะรับฟังความเห็นถึงเมื่อไหร่ ยังไม่ทราบ ต้องรอฝ่ายกฎหมายของสำนักเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรแจ้งมาก่อน ทั้งนี้ พรรคก้าวไกล จะเร่งผลักดันกฎหมายฉบับดังกล่าวเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร (สส.) ทันทีที่การรับฟังความเห็นแล้วเสร็จ...และในฐานะที่เป็นพรรคตรวจสอบการทุจริตของรัฐบาล เห็นว่าการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารเป็นเรื่องสำคัญในการตรวจสอบทุจริตและคอร์รัปชัน..”
“ในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร แม้ว่ารัฐบาลจะประกาศแล้วว่า มันเป็น Open Government แต่ในข้อเท็จจริงยังมีหน่วยงานจำนวนมากที่ยังไม่มีการเปิดเผยข้อมูล อาทิ การเบิกจ่ายงบประมาณ การจัดซื้อจัดการ ข้อมูลกระบวนการยุติธรรม ถ้ามีการปรับปรุงขึ้นสิ่งนี้จะเป็นส่วนสำคัญในการปฎิรูปและป้องกันการคอรัปชั่นได้”
ความตอนหนึ่งจากการปาฐกถา 'บทบาทข่าวสืบสวนในการเปลี่ยนแปลงสังคม' โดยนายประสงค์ เลิศรัตนวิสุทธิ์ ผู้อำนวยการสถาบันอิศรา เมื่อวันที่ 13 ก.พ. 2566 ยังเป็นสิ่งที่สะท้อนปัญหาสำคัญของไทยกับการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารของภาครัฐ ที่สามารถเชื่อมโยงกับปัญหาการทุจริตและคอร์รัปชัน ที่ยังเป็นประเด็นแก้ไม่ตกของสังคมไทยมายาวนาน
(อ่านปาฐกถาฉบับเต็ม: รัฐต้องเปิดเผยข้อมูล! คือทางออกของการทำข่าวสืบสวน : 'ประสงค์ เลิศรัตนวิสุทธิ์')
แม้ที่ผ่านมา จะมีคณะรัฐบาลที่ชูการปฏิรูปประเทศภายใต้อำนาจพิเศษปกครองยาวนานเกือบทศวรรษ แต่ในการรายงานผลการจัดอันดับความโปร่งใส Corruption Perception Index หรือ ดัชนีชี้วัดภาพลักษณ์คอร์รัปชัน ที่จัดทำโดย องค์กรความโปร่งใสสากล(Transparency International: TI) พบว่า นับตั้งแต่ปี 2012 (2555) ถึงปี 2022 (2565) ที่มีการจัดเก็บข้อมูลล่าสุด คะแนนความโปร่งใสของไทยอยู่ในระดับ 35-38 คะแนน จากคะแนนเต็ม 100 มาโดยตลอด
สะท้อนได้ดีว่า การปราบปรามการทุจริตของไทยที่ผ่านมาอยู่ตรงไหนของโลก?
หากลงลึกถึงหลักเกณฑ์ที่ CPI ใช้ในการประเมินคะแนนความโปร่งใสในแต่ละปี มีการใช้ข้อมูลจากกลุ่มนักวิจัย The World Justice Project ที่ทำผลการสำรวจดัชนีหลักนิติธรรม (Rule of Law) ในแต่ละปี ซึ่งหนึ่งในเกณฑ์สำคัญที่ใช้ชี้วัดคือ การเปิดเผยข้อมูลภาครัฐ (Open Government)
ตัดกลับมาดูกระแสข่าวความเคลื่อนไหวหน้าสื่อที่ผ่านมา จะพบว่า บางข้อมูลที่สาธารณชนต้องการรับรู้ โดยเฉพาะข้อมูลที่เกี่ยวกับพฤติกรรมของข้าราชการระดับสูง รัฐมนตรี และอื่นๆ แม้ในปัจจุบันจะมี พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารของราชการ 2540 แต่การเปิดเผยข้อมูลให้เป็นที่รับทราบกัน กลายเป็นเรื่องยาก และมีการใช้อำนาจของแต่ละหน่วยงานในการปกปิดข้อมูลดังกล่าว
@เปิดจุดบอด พ.ร.บ.ข้อมูลปี 40
นายพงศ์พิพัฒน์ บัญชานนท์ อดีตบรรณาธิการอาวุโส สำนักข่าวออนไลน์ The MATTER ในฐานะผู้ที่ฟ้องร้องสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ต่อศาลปกครองให้เปิดเผยข้อมูลกรณีที่ คณะกรรมการ ป.ป.ช. ชี้มูลคดีนาฬิกาหรูของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยกับสำนักข่าวอิศราว่า กฎหมายเดิมที่ใช้กันคือพ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารของราชการ 2540 ปัญหาหนึ่งที่เกิดขึ้นจาก พ.ร.บ.นี้คือ ไม่มีคำว่า ‘ดิจิทัล’ หรือ ‘ออนไลน์’ เลยแม้แต่จุดเดียว ในการขอข้อมูลจึงมักจะได้เป็นเอกสารกระดาษ
และอีกประเด็นคือ ประเภทของข้อมูลข่าวสารที่ต้องเปิดเผยมีระบุในพ.ร.บ.ดังกล่าว 2 แบบ คือ 1. ข้อมูลที่ต้องเปิดเผยแบบอัตโนมัติ และ 2. ข้อมูลที่ต้องมาขอก่อนจึงจะเปิดเผย ซึ่งสื่อมวลชนและภาคประชาสังคมใช้ในการเรียกดูข้อมูบ่อย
ในทัศนะของอดีตบรรณาธิการ The Matter มองว่า ข้อมูลข่าวสารของราชการเวลานี้ ควรเพิ่มรายการข้อมูลที่เปิดเผยได้ทันที ให้มีจำนวนมากขึ้น ไม่ใช่ไปเพิ่มรายการข้อมูลที่ต้องทำเรื่องขอก่อน จึงจะเปิดเผย ซึ่งในกฎหมายเดิมเมื่อปี 2540 ระบุถึงข้อมูลที่บังคับให้เปิดเผยทันทีมีเพียง 20 รายการเท่านั้น กลายเป็นว่า ถ้าประชาชนต้องการรู้เรื่องใด จะต้องทำเอกสารไปขอกับหน่วยงานรัฐ ซึ่งบางครั้งเจอปัญหาไปรษณีย์จัดส่งตกหล่นบ้าง ก็ต้องรวบรวมเอกสารส่งกันใหม่ เป็นการเพิ่มภาระให้ประชาชนต้องดิ้นรนไปขอข้อมูล
นายพงศ์พิพัฒน์ กล่าวต่อไปว่า นอกจากประเด็นข้อมูลข่าวสารแล้ว ในพ.ร.บ.ซึ่งระบุถึง ‘คณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของราชการ’ ในขั้นตอนแม้จะสั่งการให้หน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งเปิดเผยข้อมูลไปแล้ว แต่ก็ไม่ถึงที่สุดจริง และไม่มีบทลงโทษหน่วยงานกรณีที่ไม่ปฏิบัติตามมติของคณะกรรมการ โดยขอยกตัวอย่างกรณีนาฬิกาหรูที่ได้เข้าไปมีส่วนร่วม แม้คณะกรรมการ ป.ป.ช. จะเป็นฝ่ายแพ้ในทุกขั้นตอนการพิจารณา แต่สุดท้ายคณะกรรมการ ป.ป.ช.ก็ยังไม่ยอมเปิดเผยข้อมูลอยู่ดี และสุดท้ายไม่มีบทลงโทษอะไรเกิดขึ้น เป็นต้น และในบางกรณีเมื่อไม่เปิดเผยตามที่คณะกรรมการวินิจฉัย และจะต้องมีการลงโทษทางวินัยกับหน่วยงานที่ไม่ทำตาม
แต่หน่วยงานหลายแห่ง คนที่ไม่เปิดเผยข้อมูลเป็นผู้บริหารระดับสูงสุด คำถามคือ แล้วใครจะกล้าสั่งการลงโทษ และในทางกลับกัน ข้าราชการที่ออกมาให้ข้อมูล กลับถูกตำหนิและสร้างภาระต่อหน้าที่การงานในอนาคต
ทั้งนี้ สำหรับการแก้ไข พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารของราชการ 2540 เคยมีความพยายามในช่วงรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชาเมื่อประมาณ 2-3 ปีที่แล้ว แต่เนื่องจากครั้งนั้นมีการต่อต้านจากสังคมที่มองว่า การแก้ไขดังกล่าวมีลักษณะปกปิดมากขึ้น และมีโทษรุนแรง10 ปี ทำให้ในท้ายที่สุดรัฐบาลก็ถอนเรื่องนี้ออกไป
พงศ์พิพัฒน์ บัญชานนท์ อดีตบรรณาธิการอาวุโส สำนักข่าวออนไลน์ The MATTER
ที่มาภาพ: Facebook Whee Pongpiphat
@ที่มาร่าง พ.ร.บ.ข้อมูลฉบับ ‘ก้าวไกล’
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เกี่ยวกับประเด็นการแก้ไข พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารของราชการ เมื่อวันที่ 9 ส.ค. 2566 พรรคก้าวไกลโดยนายพริษฐ์ วัชรสินธุ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ยื่นร่างกฎหมายจำนวน 9 ฉบับ หนึ่งในนั้นคือ ร่างพ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารสาธารณะ ซึ่งทางพรรคก้าวไกลระบุว่า เป็นร่างกฎหมายที่ช่วยให้ประชาชนมีสิทธิ์ในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารอย่างเป็นทางการและโปร่งใส ยึดหลักเปิดเป็นหลัก ปกปิดเป็นข้อยกเว้น หากจะปกปิดข้อมูลใด ทางรัฐจะต้องมาชี้แจงเหตุผล
นายวรภพ วิริยะโรจน์ สมาชิกทีมเศรษฐกิจ และสส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล เปิดเผยสำนักข่าวอิศราว่า ความคืบหน้าของร่างกฎหมาย ตอนนี้ได้เข้าระบบรับฟังความเห็นตามมาตรา 77 แห่งรัฐธรรมนูญปี 2560 แล้ว โดยเริ่มรับฟังความเห็นเมื่อวันที่ 29 ส.ค. 2566 ที่ผ่านมา ส่วนจะรับฟังความเห็นถึงเมื่อไหร่ ยังไม่ทราบ ต้องรอฝ่ายกฎหมายของสำนักเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรแจ้งมาก่อน ทั้งนี้ พรรคก้าวไกล จะเร่งผลักดันกฎหมายฉบับดังกล่าวเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร (สส.) ทันทีที่การรับฟังความเห็นแล้วเสร็จ
สำหรับความจำเป็นที่เสนอกฎหมายฉบับนี้ นายวรภพอธิบายว่า เนื่องจากพรรคก้าวไกลในฐานะที่เป็นพรรคตรวจสอบการทุจริตของรัฐบาล เห็นว่าการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารเป็นเรื่องสำคัญในการตรวจสอบทุจริตและคอร์รัปชัน ประกอบกับพ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารของราชการ 2540 บังคับใช้มายาวนานแล้ว จึงมีบทบัญญัติและมาตรการบางประการที่ไม่เหมาะสมหรือสอดคล้องกับสภาวการณ์ในปัจจุบัน ประกอบกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มีการรับรองสิทธิของบุคคลและชุมชนในการรับทราบและเข้าถึงข้อมูลหรือข่าวสารสาธารณะในครอบครองของหน่วยงานของรัฐตามที่กฎหมายบัญญัติ ซึ่งกำหนดหน้าที่ของรัฐต้องเปิดเผยข้อมูลหรือข่าวสารสาธารณะในครอบครองของหน่วยงานของรัฐที่มิใช่ข้อมูลเกี่ยวกับความมั่นคงของรัฐหรือเป็นความลับของทางราชการตามที่กฎหมายบัญญัติ และต้องจัดให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลหรือข่าวสารดังกล่าวได้โดยสะดวก
อีกทั้ง เพื่อให้สอดรับกับการพัฒนาด้านเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัลที่มีการเชื่อมโยงเทคโนโลยีทำให้ประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลหรือข่าวสารสาธารณะได้โดยสะดวกและมีประสิทธิภาพ ลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงข้อมูลหรือข่าวสารสาธารณะ อันเป็นการเปิดโอกาสให้ภาคประชาชนมีส่วนร่วมในการรับทราบและตรวจสอบการดำเนินงานของภาครัฐ ซึ่งจะทำให้การป้องกันปัญหาการทุจริตและประพฤติมิชอบในภาครัฐมีประสิทธิภาพ การปฏิบัติราชการมีธรรมาภิบาล มีการกำกับดูแลตรวจสอบการดำเนินงานภาครัฐให้เป็นไปอย่างโปร่งใส รวมทั้ง เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนมีสิทธิทราบการดำเนินงานของภาครัฐที่อาจจะมีผลกระทบต่อสิทธิหรือกำหนดหน้าที่อย่างใด ๆ แก่ประชาชนอันเป็นการพิทักษ์สิทธิประโยชน์ของประชาชนจากคำสั่งทางปกครองหรือการกระทำทางปกครองต่าง ๆ ของเจ้าหน้าที่รัฐ โดยมีการใช้ระบบปฏิบัติการที่มีเทคโนโลยีสารสนเทศทันสมัยมาเพิ่มประสิทธิภาพในการปฏิบัติราชการ จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้
"เจตนาของร่างกฎหมายฉบับนี้คือ ตั้งใจให้ข้อมูลภาครัฐทั้งหมดเป็นข้อมูลข่าวสารสาธารณะ ก็คือ ต้องเปิดเผยออกมาทั้งหมดโดยไม่ต้องร้องขอ และขยายความถึงข้อมูลที่จัดเก็บอยู่ในฐานข้อมูลของภาครัฐด้วย เพราะทุกวันนี้หน่วยงานรัฐจัดเก็บเป็นดิจิทัลอยู่แล้ว ดังนั้น ข้อมูลในฐานนี้จะต้องถูกเปิดเผยทั้งหมด โดยยกว้นข้อมูลที่ตีออกมาเป็นความลับ และข้อมูลส่วนบุคคล โดยในกฎหมายฉบับนี้จะระบุชัดเจนว่า ข้อมูลอะไรคือข้อมูลข่าวสารสาธารณะ ต่างกับ พ.ร.บ.ฉบับเดิมเมื่อปี 2540 ที่แม้จะมีระบุถึงข้อมูลที่ต้องเปิดเผย และให้คณะกรรมการข้อมูลข่าวสารพิจารณาทยอยกำหนดประเภทข้อมูลเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เช่น เรื่องจัดซื้อจัดจ้าง ระบุให้เปิดเผยผู้เข้าประมูล แต่ไม่ได้ระบุให้เปิดเผยการเบิกจ่าย เพราะไม่ได้มีระบุไว้ ซึ่งทำให้ต้องระบุประเภทข้อมูลที่ต้องเปิดเผยไปเรื่อยๆ" นายวรภพกล่าว
วรภพ วิริยะโรจน์ สมาชิกทีมเศรษฐกิจ และสส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล
ที่มาภาพ: Facebook วรภพ วิริยะโรจน์
@ผ่าสาระสำคัญร่างพ.ร.บ.ข้อมูลฉบับก้าวไกล
ในส่วนสาระสำคัญของร่างพ.ร.บ.ฉบับดังกล่าว มีทั้งสิ้น 7 หมวด 54 มาตรา กำหนดให้จัดตั้งสำนักงานคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารสาธารณะขึ้นในสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี มีหน้าที่ปฏิบัติงานเกี่ยวกับงานวิชาการ และธุรการให้กับคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารสาธารณะ และคณะกรรมการวินิจฉัยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสาร และกำหนดให้สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ ในสำนักนายกรัฐมนตรี มีหน้าที่ปฏิบัติงานวิชาการ และธุรการให้แก่คณะกรรมการข้อมูลความลับราชการ
สำหรับรายการข้อมูลข่าวสารสาธารณะของหน่วยงานของรัฐที่ต้องเปิดเผยต่อสาธารณะ ระบุในมาตรา 7 ของร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ มีจำนวน 20 รายการ เช่น สัญญาของหน่วยงานของรัฐ, วาระการประชุม บันทึกการประชุม รายงานการประชุม บันทึกภาพและเสียงของการประชุม ชวเลข เอกสารประกอบการนำเสนอในที่ประชุมของคณะรัฐมนตรี (ครม.) คณะกรรมาธิการ หรือคณะกรรมการที่แต่งตั้งโดยกฎหมายหรือโดยมติครม. รวมถึง ผลการลงมติและความคิดเห็นของครม. คณะกรรมาธิการ หรือคณะกรรมการเป็นรายบุคคล, ข้อมูลข่าวสารที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนในทุกขั้นตอนการดำเนินการ ข้อมูลข่าวสารที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะด้านสิ่งแวดล้อม สาธารณสุข และสิทธิผู้บริโภค เป็นต้น
และให้เอกชนซึ่งมีข้อมูลข่าวสารสาธารณะ มีหน้าที่ต้องจัดทำและเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารสาธารณะตามรายการข้อมูลข่าวสารโดยเร็วที่สุด โดยกำหนดรูปแบบข้อมูล ช่องทางเผยแพร่ ความเร็วในการเปิดเผย ความถี่ในการปรับปรุงข้อมูลให้ทันสมัยไม่น้อยว่าหนึ่งครั้งต่อเดือน (ร่างมาตรา 13)
@จัดลำดับชั้น ‘ข้อมูลลับ’ ต้องเปิดเผยหลังตีเป็นลับระหว่าง 10-75 ปี
ส่วนข้อมูลที่เป็นความลับทางราชการ ในร่างกฎหมายดังกล่าว มาตรา 16 ระบุว่า ข้อมูลข่าวสารของราชการใดที่เป็นข้อมูลความลับราชการ ไม่ต้องถูกเปิดเผยตามมาตรา 10 โดยชี้แจงว่าเป็นข้อมูลความลับราชการ ปกปิดและตัดทอนเฉพาะส่วนที่เป็นข้อมูลความลับราชการ และเปิดเผยข้อมูลข่าวสารสาธารณะที่เหลือตามปกติ โดยให้หน่วยงานของรัฐมีดุลพินิจในการเปิดเผยหรือไม่เปิดเผยข้อมูลความลับราชการตามมาตรา 14 หรือ แลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารกับหน่วยงานรัฐอื่นๆ โดยคำนึงถึงการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายของหน่วยงานของรัฐ ประโยชน์สาธารณะ ประโยชน์และการมีส่วนได้ส่วนเสียของบุคคลที่เกี่ยวข้องประกอบกัน ซึ่งบทบัญญัติตามข้างต้นไม่กระทบถึงข้อมูลข่าวสารของราชการที่มีกฎหมายเฉพาะกำหนดให้มีการเข้าถึง เผยแพร่ หรือเปิดเผย ด้วยวิธีการอย่างอื่น
โดยข้อมูลที่เป็นความลับ มาตรา 17 แบ่งระดับชั้นความลับไว้ 3 ประเภท ประกอบด้วย
ลับที่สุด (TOP SECRET) หมายความถึง ข้อมูลข่าวสารใด ๆ ที่การเปิดเผยจะก่อให้เกิดความเสียหายต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ข้อมูลด้านการถวายความปลอดภัย หรือข้อมูลข่าวสารใด ๆ ที่จะก่อให้เกิดความเสียหายต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ กำหนดระยะเวลาเปิดเผยข้อมูล 75 ปี นับแต่ปีที่ข้อมูลความลับราชการเกิดขึ้น
ลับมาก (SECRET) หมายความถึง ข้อมูลข่าวสารด้านการต่างประเทศที่เกี่ยวกับความมั่นคงของรัฐ ด้านการทหารและการป้องกันประเทศ ด้านการข่าวกรอง ด้านการป้องกันและปราบปรามการก่อการร้าย ด้านการรักษาความปลอดภัยบุคคล และข้อมูลข่าวสารของราชการอื่น ๆ ตามที่คณะรัฐมนตรีประกาศกำหนดโดยข้อเสนอของคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารสาธารณะ กำหนดระยะเวลาเปิดเผยข้อมูล 20 ปีนับแต่ปีที่ข้อมูลความลับราชการเกิดขึ้น
ลับ (CONFIDENTIAL) หมายความถึง ข้อมูลข่าวสารใด ๆ ที่การเปิดเผยจะทำให้การบังคับใช้กฎหมายเสื่อมประสิทธิภาพ หรือไม่อาจสำเร็จตามวัตถุประสงค์ได้ ไม่ว่าจะเกี่ยวกับการฟ้องคดี การป้องกัน การปราบปราม การทดสอบ การตรวจสอบ หรือการรู้แหล่งที่มาของข้อมูลข่าวสารหรือไม่ก็ตาม ข้อมูลรายชื่อผู้ทำหน้าที่ประเมินผลงานทางวิชาการเพื่อแต่งตั้งบุคคลให้ดำรงตำแหน่งทางวิชาการหรือตำแหน่งอื่นที่มีลักษณะเดียวกัน ซึ่งการเปิดเผยอาจกระทบต่อความเป็นอิสระในการประเมินผลงานนั้น ข้อมูลข่าวสารที่การเปิดเผยจะก่อให้เกิดอันตรายต่อชีวิตหรือความปลอดภัยของบุคคลหนึ่งบุคคลใด และข้อมูลข่าวสารของราชการอื่น ๆตามที่คณะรัฐมนตรีประกาศกำหนดเพิ่มเติมโดยข้อเสนอของคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารสาธารณะ กำหนดระยะเวลาเปิดเผยข้อมูล 10 ปีนับแต่ปีที่ข้อมูลความลับราชการเกิดขึ้น
ทั้งนี้ ข้อมูลความลับราชการจะไม่รวมถึง ข้อมูลข่าวสารที่เกี่ยวข้องกับการใช้อำนาจผิดกฎหมายของเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือหน่วยงานของรัฐ
เกี่ยวกับการเปิดเผยข้อมูลที่เป็นชั้นความลับ นายวรภพอธิบายเพิ่มเติมว่า การเริ่มนับระยะเวลาเปิดเผยข้อมูลจะเริ่มนับตั้งแต่วันที่ข้อมูลได้รับการพิจารณาเป็นข้อมูลลับ ส่วนกระบวนการกำหนดชั้นความลับของข้อมูลตามร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้คือ ทุกหน่วยงานของรัฐต้องไปทำประเภทข้อมูลที่จะถูกจัดเป็นความลับ เช่น กองทัพบก (ทบ.) ออกประกาศรายการข้อมูลที่ถูกจัดว่าเป็นข้อมูลลับออกมา โดยต้องจัดทำเป็นรายการเรียงลำดับลงมาให้ครบถ้วน ขั้นตอนนี้จะทำให้ไม่ต้องใช้ดุลยพินิจในการพิจารณาเปิดเผยข้อมูล ยึดตามประกาศได้ทันที
หลังจากนั้น หากประชาชนเห็นว่า มีบางข้อมูลที่ไม่ควรถูกจัดประเภทเป็นความลับ สามารถอุทธรณ์กับคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารสาธารณะได้ทันที เช่น ในข้อมูลกองทัพบกที่ระบุถึงข้อมูลที่เป็นความลับ หากประชาชนไม่เห็นด้วยกับการจัดให้ ข้อมูลอัตรากำลังพลทหารในแต่ละปีเป็นความลับ ก็ยื่นอุทธรณ์กับคณะกรรมการข้างต้นได้ จะต้องอุทธรณืเป็นชุดข้อมูลเลย และคำวินิจฉัยของคณะกรรมการชุดนี้ถือเป็นที่สุด ทั้งนี้ หลังพ้นจากระยะเวลาเปิดเผยข้อมูลแล้ว หน่วยงานเจ้าของข้อมูลลับสามารถขอยื่นขยายระยะเวลาเก็บเป็นข้อมูลได้อีกคราวละ 3 ปี
@ข้อมูลส่วนบุคคล รัฐจะเปิดเผย ต้องขออนุญาตก่อน
ขณะที่ข้อมูลส่วนบุคคล ตามมาตรา 30 กำหนดให้สำนักข่าวกรองแห่งชาติ สำนักสภาความมั่นคงแห่งชาติ และหน่วยงานของรัฐแห่งอื่นตามที่กฎหมายกำหนดอาจออกระเบียบโดยความเห็นชอบคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารสาธารณะมาใช้กับข้อมูลส่วนบุคคลที่อยู่ในความดูแลของหน่วยงานดังกล่าว โดยกำหนดห้ามไม่ให้หน่วยงานของรัฐเปิดข้อมูลส่วนบุคคลที่อยู่ในความดูแลของตนต่อหน่วยงานของรัฐแห่งอื่นหรือผู้อื่น โดยปราศจากความยินยอมเป็นหนังสือของเจ้าของข้อมูลที่ให้ไว้ล่วงหน้า หรือในขณะนั้นมิได้ เว้นแต่เข้าข้อยกเว้นตามที่กฎหมายกำหนด (ร่างมาตรา 32)
@มอบกรมศิลป์รับผิดชอบข้อมูล ‘จดหมายเหตุ’
หากข้อมูลข่าวสารที่จะเปิดเผยนั้นมีข้อมูลส่วนบุคคลรวมอยู่ด้วย ให้หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องแจ้งให้คณะกรรมการข้อมูลข่าวสารสาธารณะทราบ รวมทั้ง จัดให้มีการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของข้อมูลส่วนบุคคลตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กฎหมายกำหนด (ร่างมาตรา 33)
ส่วนข้อมูลที่จัดเป็นจดหมายเหตุ ตามมาตรา 34 ของร่างพ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวระบุว่า ให้หน่วยงานของรัฐจัดทำทะเบียนเอกสารจดหมายเหตุแล้วส่งมอบทะเบียนและเอกสารนั้นให้แก่หอจดหมายเหตุแห่งชาติ กรมศิลปากร หรือหน่วยงานอื่นของรัฐตามที่กำหนดในกฎกระทรวง หรือหน่วยงานของรัฐจะเก็บรักษาไว้เองตามที่ทำความตกลงกับกรมศิลปากรก็ได้
ส่วนข้อมูลข่าวสารของราชการที่มิใช่เอกสารจดหมายเหตุให้หน่วยงานของรัฐทำลายได้ตามกำหนดระยะเวลา หลักเกณฑ์ และวิธีการที่กำหนดในระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ในกรณีที่หน่วยงานของรัฐเก็บรักษาข้อมูลไว้เองตามวรรคหนึ่ง ให้หน่วยงานของรัฐปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยจดหมายเหตุแห่งชาติและคำแนะนำของกรมศิลปากร
ในการจัดทำทะเบียนเอกสารจดหมายเหตุตามวรรคหนึ่ง ให้หัวหน้าหน่วยงานของรัฐคัดเลือกผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งมีความรู้ความเชี่ยวชาญในด้านวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ของชาติ การศึกษา และการวิจัย และผู้แทนกรมศิลปากรตามบัญชีรายชื่อที่กรมศิลปากรประกาศกำหนดเพื่อทำหน้าที่ประเมินคุณค่าข้อมูลข่าวสารของราชการและจัดทำทะเบียนเอกสารจดหมายเหตุและแจ้งให้กรมศิลปากรทราบตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่อธิบดีกรมศิลปากรประกาศกำหนด
@ตั้ง 3 บอร์ด ดึง สส.มีส่วนร่วม
ขณะที่คณะกรรมการตามร่างพ.ร.บ.นี้ กำหนดให้มี 3 ชุด คือ
1.สำนักงานคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารสาธารณะ ให้อยู่ในสังกัดสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ทำหน้าที่ปฏิบัติงานให้แก่คณะกรรมการข้อมูลข่าวสารสาธารณะ และกำหนดให้ สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ มีหน้าที่ปฏิบัติงานให้แก่คณะกรรมการข้อมูลความลับราชการ
ให้มีคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารสาธารณะ ประกอบด้วย ผู้ทรงคุณวุฒิจำนวน 8 คน และ ผู้แทนจากหน่วยงานของรัฐจำนวน 5 คน และให้ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีแต่งตั้งข้าราชการเป็น เลขานุการ จำนวน 1 คน และผู้ช่วยเลขานุการ จำนวน 2 คน
มีหน้าที่และอำนาจในการออก ระเบียบ กำหนดนโยบาย ส่งเสริม สนับสนุน เสนอความเห็น กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ เพิ่มเติม แก้ไข หรือยกเลิก สั่งให้หน่วยงานหรือบุคคลส่งข้อมูลหรือเอกสาร ออกคำสั่งให้หน่วยงานของรัฐ หยุดเผยแพร่ หรือแก้ไขข้อมูลข่าวสารสาธารณะ พิจารณาและวินิจฉัยคำร้อง แต่งตั้ง คณะอนุกรรมการ อนุมัติคำขอผ่อนผันในการเปิดเผยข้อมูล จัดทำรายงานเสนอคณะรัฐมนตรี และ ปฏิบัติการอื่นตามที่กฎหมายกำหนด กำหนดคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ
ให้มีวาระการ ดำรงตำแหน่งคราวละ 4 ปี นับแต่วันที่ได้รับแต่งตั้ง และอาจได้รับแต่งตั้งใหม่ได้แต่ต้องไม่เกิน 2 วาระ และการพ้นจากตำแหน่ง
2.คณะกรรมการสรรหากรรมการข้อมูลข่าวสารสาธารณะผู้ทรงคุณวุฒิ ให้มีคณะกรรมการสรรหากรรมการข้อมูลข่าวสารสาธารณะผู้ทรงคุณวุฒิ ประกอบด้วย ผู้แทนจากพรรคการเมืองพรรคร่วมรัฐบาล และผู้แทนจากพรรคร่วมฝ่ายค้าน ฝ่ายละ 4 คน และ กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการคัดเลือกกรรมการข้อมูลข่าวสารสาธารณะผู้ทรงคุณวุฒิ
3.คณะกรรมการข้อมูลความลับราชการ ให้มีคณะกรรมการข้อมูลความลับราชการ ประกอบด้วย รัฐมนตรีซึ่งนายกรัฐมนตรี มอบหมายเป็นประธานกรรมการ ผู้แทนกระทรวงกลาโหม ผู้แทนสำนักข่าวกรองแห่งชาติ ผู้แทน สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ โดยให้เลขาธิการสภาความมั่นคง แห่งชาติ แต่งตั้งข้าราชการเป็นเลขานุการ จำนวน 1 คน และผู้ช่วยเลขานุการ จำนวน 2 คน มีหน้าที่และอำนาจออกประกาศหรือระเบียบเพื่อกำหนดวิธีการรักษาคุ้มครอง รวบรวมจัดเก็บ และรับรองดัชนี ติดตามและตรวจสอบการเปิดเผยข้อมูลความลับราชการ แต่งตั้ง คณะอนุกรรมการ และปฏิบัติการอื่นใด
ขณะที่บทลงโทษ กำหนดบทคุ้มครองเจ้าหน้าที่รัฐผู้กระทำการโดยสุจริต กำหนดบทลงโทษกรณีไม่ปฏิบัติ ตามคำสั่งของคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารสาธารณะ และกำหนดโทษกรณีเอกชนซึ่งมีข้อมูล ข่าวสารสาธารณะไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารสาธารณะ หรือไม่เปิดเผย ข้อมูลข่าวสารสาธารณะ
เหล่านี้คือ รายละเอียดส่วนหนึ่งของร่างพ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารสาธารณะ พ.ศ. ....ที่อาจจะเป็นบันไดขั้นแรกของการเปิดให้ข้อมูลที่เคยถูกปกปิด ไม่ให้รับรู้ สามารถให้ประชาชนเข้าถึงได้ง่ายถึง
แต่ก็ต้องไปลุ้นกันต่อในขั้นพิจารณาของสภาฯ ซึ่งพรรคก้าวไกลมีบทเรียนมาแล้วจากยุครัฐบาลที่แล้วที่แม้ว่าจะเสนอกฎหมายให้พิจารณาได้ถึง 103 ฉบับ
...แต่ไม่มีกฎหมายใดเลยที่ได้รับเสียงโหวตจนมีผลบังคับใช้ในที่สุด
ถือเป็นอีกหนึ่งประเด็นสำคัญเกี่ยวกับความโปร่งใสเรื่องการเปิดเผยข้อมูลข่าวสาร ข้อมูลสำคัญ ของประเทศไทย ที่ควรต้องได้รับการแก้ไขอย่างจริงจังเสียที
สามารถอ่านร่างพ.ร.บ.ดังกล่าวได้ ที่นี่