โหวตนายกฯ เริ่มแล้ว! ‘ชลน่าน’ เสนอ ‘เศรษฐา’ ชื่อเดียวให้รัฐสภาลงคะแนน เปิดอภิปราย 5 ชม. ก่อนโหวตจริง 15.00 น. ด้านก้าวไกลโดย ‘ชัยธวัช’ ลุกขึ้นอภิปรายไม่โหวตให้
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า วันที่ 22 สิงหาคม 2566 เวลา 10.54 น. ที่ประชุมรัฐสภา นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา นำเข้าสู่การประชุม ในวาระสภาโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี การเสนอชื่อบุคคลสมควรแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี ในเสียง สส. 1 ใน 10 คือ ต้องมีผู้รับรองที่เป็น สส.จำนวน 50 คนขึ้นไป โดยใช้วิธีกดปุ่มแสดงตน ในการเสนอชื่อแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี
ต่อมาเวลา 10.58 น. นายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว สส.น่าน พรรคเพื่อไทย ในฐานะสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า ได้รับมอบหมาย 11 พรรคการเมือง ให้เสนอชื่อ นายเศรษฐา ทวีสิน แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคเพื่อไทย เป็นบุคคลมีคุณสมบัติไม่มีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนุญมาตรา 160 นายเศรษฐา เป็นบุคคลสมควรแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีในขณะนี้ โดยขอผู้รับรองเสนอชื่อ นายเศรษฐา ซึ่งก็ได้รับการรับรองที่ถูกต้อง ที่ 287 คน
จากนั้นเป็นการอภิปราย ถึงความเหมาะสม และคุณสมบัติของนายเศรษฐา โดยจะใช้เวลา ไม่เกิน 5 ชั่วโมงโดยแบ่งเป็น สว. 2 ชั่วโมงและส.ส. 3 ชั่วโมง ซึ่งจะมีการลงมติไม่เกินเวลา 15.00 น.คาดว่าในเวลา 17.30น.จะเสร็จสิ้นการลงมติ
ตอนหนึ่ง นายชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรคก้าวไกล ได้ลุกขึ้นอภิปรายว่า ในขณะที่หลายคนบอกว่าการจัดตั้งรัฐบาลแบบพิเศษในครั้งนี้ ‘เป็นความจำเป็นทางการเมืองที่หลีกเลี่ยงไม่ได้’ พรรคการเมืองและนักการเมืองจำเป็นต้องกลืนเลือด จำเป็นต้องยอมจ่ายต้นทุนทางการเมืองมหาศาล โดยมีวาระของประเทศและประชาชนเป็นตัวตั้ง แต่แล้วอะไรคือราคาหรือต้นทุน ที่ประชาชนและสังคมไทยต้องจ่าย ให้แก่การจัดตั้งรัฐบาลแบบพิเศษนี้บ้าง
@ก้าวไกล ไม่โหวต เพราะเป็นรัฐบาลที่ขัดเจตจำนงประชาชน
เลขาธิการพรรคก้าวไกลกล่าวว่า เหตุผลที่ผู้แทนราษฎรพรรคก้าวไกล ไม่สามารถโหวตเห็นชอบให้แก่ผู้ที่ถูกเสนอชื่อเป็นนายกฯ ในวันนี้ได้นั้น ไม่ใช่เรื่องที่เราไม่รู้จักหรือไม่มีข้อมูลตามที่สมาชิกบางคนได้อภิปรายและซักถาม พรรคเราเชื่อเป็นอย่างยิ่งว่าพี่น้องประชาชนได้รับทราบข้อมูลอย่างครบถ้วนแล้วตั้งแต่ก่อนวันเลือกตั้ง และก็หวังว่า สมาชิกรัฐสภาทุกคนควรจะให้ความสำคัญกับข่าวสารบ้านเมืองตั้งแต่ก่อนเลือกตั้ง และก็คิดว่าท่านน่าจะได้ใช้สิทธิ์และวิจารณญาณนั้นไปแล้วพร้อมกับประชาชนทุกคน
เหตุผลที่ผู้แทนราษฎรของพรรคก้าวไกลไม่สามารถเห็นชอบนายกฯ ในวันนี้จึงไม่ใช่เรื่องคุณสมบัติของผู้ถูกเสนอชื่ออย่างที่มีการกล่าวหากันผ่านสื่อมวลชนหรืออย่างที่มีผู้นำส่งเอกสารให้กับสมาชิกรัฐสภาทุกคนในวันนี้
เหตุที่ผู้แทนราษฎรพรรคก้าวไกล ไม่สามารถโหวตเห็นชอบให้ได้นั้น เป็นเพราะการจัดตั้งรัฐบาลที่กำลังเกิดขึ้นอยู่ขณะนี้ เป็นการจัดจั้งรัฐบาลที่ขัดต่อเจตจำนงของพี่น้องประชาชนที่ได้แสดงออกไปแล้วอย่างตรงไปตรงมา ผ่านการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม ว่าประชาชนส่วนใหญ่ต้องการยุติรัฐบาลที่สืบทอดอำนาจมาจากการรัฐประหารของ คสช.
“พวกเราพรรคก้าวไกลยังเห็นด้วยว่า การจัดตั้งรัฐบาลที่กำลังเกิดขึ้นอยู่นี้ ไม่ใช่การสลายขั้วเพื่อให้ประเทศไทยไปต่อ แต่มันคือการต่อลมหายใจ ให้แก่ระบบการเมืองที่ระบอบ คสช. วางไว้ต้องการดำเนินสืบไป” นายชัยธวัชระบุ
@รบ.ต้นทุนสูง ‘ทำลายความหวัง-ปชช.เป็นไม้ประดับ’
เลขาธิการพรรคก้าวไกลกล่าวต่อไปว่า แล้วอะไรคือราคาต้นทุนที่ประชาชนและสังคมไทยต้องจ่าย หลายคนบอกว่าการจัดตั้งรัฐบาลแบบพิเศษในครั้งนี้ ‘เป็นความจำเป็นทางการเมืองที่หลีกเลี่ยงไม่ได้’ พรรคการเมืองและนักการเมืองจำเป็นต้องกลืนเลือด จำเป็นต้องยอมจ่ายต้นทุนทางการเมืองมหาศาล โดยมีวาระของประเทศและประชาชนเป็นตัวตั้ง แต่ตนอยากชวนคิดใหม่ว่า แล้วอะไรคือราคาหรือต้นทุน ที่ประชาชนและสังคมไทยต้องจ่าย ให้แก่การจัดตั้งรัฐบาลแบบพิเศษนี้บ้าง
ประการแรก ราคาที่ประชาชนส่วนใหญ่ต้องจ่าย คือ ‘ความหวัง’ การเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 เคยเป็นวันแห่งความหวังของประชาชน พวกเขาหวังว่าเสียงของพวกเขาจะทำให้การเมืองไทยออกจากระบอบการเมืองที่เป็นมรดกของคณะรัฐประหารได้โดยสันติในที่สุด พวกเขาหวังว่าเสียงของพวกเขาจะทำให้การเมืองไทยเดินหน้าไปสู่อนาคต ไม่ใช่เดินวนกลับไปสู่อดีตอย่างที่เป็นอยู่ในขณะนี้
ประการที่สอง ราคาที่ประชาชนส่วนใหญ่ต้องจ่ายให้การจัดตั้งรัฐบาลแบบพิเศษนี้ คือ ‘อำนาจ’ พี่น้องประชาชนเคยเชื่อจริงๆ ว่าอำนาจสูงสุดในระบอบประชาธิปไตย คืออำนาจของประชาชน แต่เมื่อพวกเขาออกไปใช้อำนาจของตัวเองแล้วในการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 ปรากฏว่าการจัดตั้งรัฐบาลหลังเลือกตั้งกลับกลายเป็นการจัดตั้งรัฐบาลแบบพิเศษ ที่อนุญาตให้ประชาชนออกมาใช้สิทธิเลือกตั้งได้พอเป็นพิธี แต่จะไม่มีวันยอมให้อำนาจเป็นของประชาชนจริงๆ กลายเป็นระบอบประชาธิปไตย ‘อันมีประชาชนเป็นไม้ประดับ’ ไม่ใช่เจ้าของอำนาจอธิปไตยอย่างแท้จริง
ประการที่สาม ราคาที่ประชาชนส่วนใหญ่ต้องจ่าย คือ ‘ความศรัทธา’ การจัดตั้งรัฐบาลแบบพิเศษนี้ กำลังทำให้เราสูญเสียต้นทุนทางสังคมที่สำคัญ นั่นคือความศรัทธาของประชาชนในระบบรัฐสภา ความเชื่อมั่นศรัทธาของประชาชนเป็นพื้นฐานสำคัญในระบอบประชาธิปไตย แล้วเมื่อไรที่ประชาชนหมดศรัทธาต่อระบบการเมืองหรือสถาบันการเมืองใดๆ แล้ว นั่นจะเป็นสัญญาณอันตรายต่อการเมืองของเราในอนาคต
นายชัยธวัช ทิ้งท้ายว่า จึงอยากฝากความหวังดีผ่านไปยังท่านสมาชิกรัฐสภาทุกท่าน ว่าหัวใจสำคัญของปัญหาการเมืองไทยในช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมา คือการปะทะขัดแย้งระหว่างอำนาจของประชาชนที่แสดงออกผ่านการเลือกตั้ง กับอำนาจที่ไม่ได้มาจากประชาชน
“จนถึงวันนี้เรายังหาทางออกจากการเมืองแบบนี้ไม่ได้ และเราเห็นว่าทางออกจากความขัดแย้งทางการเมืองที่ยืดเยื้อนี้ ไม่ใช่การสลายขั้วความขัดแย้งอย่างผิวเผินด้วยการจัดตั้งรัฐบาลแบบผสมพันธุ์ข้ามขั้ว แต่ทางออกที่พวกเราต้องช่วยกันแสวงหาคือ ระบบการเมืองที่จะกลายเป็นฉันทามติใหม่ โดยวางอยู่บนหลักการพื้นฐานที่ว่า ‘อำนาจสูงสุดของประเทศนี้เป็นของประชาชน’” ชัยธวัชกล่าว
ดังนั้น ถ้าเรายังสยบยอมหรือต่อหายใจให้กับระบบการเมืองที่ตอบไม่ได้ว่าอำนาจของประชาชนอยู่ตรงไหน ถ้าเรายังสยบยอมหรือสืบทอดระบอบที่เรียกว่าประชาธิปไตยแต่ไม่ยอมเคารพอำนาจของประชาชนต่อไป ประชาชนจะสูญสิ้นศรัทธาและหันหลังให้กับระบบการเมืองของเรา และสุ่มเสี่ยงที่จะเกิดความรุนแรงทางการเมืองครั้งใหญ่ได้ในอนาคต
นายชัยธวัชกล่าวอีกตอนว่า ขอสื่อสารผ่านไปยังประชาชนนอกสภาฯ แห่งนี้ ตนทราบดีว่าพี่น้องประชาชนจำนวนนับล้านกำลังผิดหวัง กำลังโกรธ หรือกำลังคับข้องใจกับสถานการณ์การเมืองที่เกิดขึ้น แต่ตนอยากบอกพี่น้องประชาชนว่าการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมาได้แสดงให้เห็นแล้วว่าสังคมไทยได้เปลี่ยนแปลงไปแล้ว เพียงแต่ว่ามันยังเปลี่ยนไม่มากพอ
ดังนั้น แม้ท่านจะไม่พอใจ ผิดหวัง คับข้องใจ แต่ขอให้ประชาชนอย่าเพิ่งหันหลังให้การเมือง แต่เราต้องช่วยกันสร้างความเปลี่ยนแปลงคนละไม้คนละมือ ทำให้ระบอบประชาธิปไตยเป็นประชาธิปไตยจริงๆ ทำให้อำนาจสูงสุดของประเทศนี้เป็นของประชาชนจริงๆ