'พิธา' ไปไม่ถึงเก้าอี้นายกฯ วุฒิสภางดออกเสียงเพียบ 159 เสียง พบ 2 สภาโหวตให้เพียง 324 เสียง ไม่ถึงครึ่งหนึ่ง 376 เสียงตามบทเฉพาะกาลรัฐธรรมนูญ รอลุ้นโหวตอีกรอบ 19 ก.ค.นี้
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า วันที่ 13 กรกฎาคม 2566 ในการประชุมร่วมกันของรัฐสภาครั้งที่ 1 (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่หนึ่ง) ซึ่งมีนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา เป็นประธานการประชุม หลังจากที่ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน และหัวหน้าพรรคเพื่อไทยเสนอนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อและหัวหน้าพรรคก้าวไกลเป็นนายกรัฐมนตรี และเปิดให้มีการอภิปรายนั้น
เมื่อเวลา 15.52 น. นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา ได้เปิดให้สมาชิกรัฐสภา ลุกขึ้นขานชื่อลงมติแบบเปิดเผยเป็นรายบุคคล 750 คน โดยมีองค์ประชุมรวม สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) เข้าร่วมเป็นองค์ประชุม 216 คน ซึ่งใช้เวลาขานชื่อประมาณ 2 ชม. โดยผลออกมาเห็นชอบ 324 เสียง ไม่เห็นชอบ 182 เสียง และงดออกเสียง 199 เสียง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2560 กำหนดบทเฉพาะกาล มาตรา 272 ให้ระหว่าง 5 ปีแรกของรัฐสภาชุดแรกตามรัฐธรรมนูญ การโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี จะต้องทำใน “ที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา” ซึ่งหมายความว่า ส.ว. ทั้ง 250 คนจะมีอำนาจในการร่วมโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีด้วย
ทำให้ผู้ที่ได้รับเสนอชื่อให้เป็นนายกรัฐมนตรี จะต้องได้รับคะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา จึงจะได้รับเลือกเป็นนายกรัฐมนตรี กล่าวคือ หากมี ส.ส. ครบเต็มสภา 500 คน และ ส.ว. 250 คน รวม 750 คน ก็จะต้องได้รับเสียงเห็นด้วย 376 เสียงขึ้นไป จึงจะได้รับเลือกเป็นนายกรัฐมนตรี