เผยความคืบหน้าปมสรรพากรเปลี่ยนแอร์ 200 ล. ล่าสุดเพจหมาเฝ้าบ้าน โพสต์ 'แอร์สรรพากร 200 ล. ได้รับการแก้ไขแล้ว Work From Home' ด้าน 'วินิจ' รองอธิบดีฯ แจงการดำเนินการแซ่มแซมตามสัญญายังดำเนินการอยู่ ทำงานที่บ้านบรรเทาความเดือดร้อนเพียงชั่วคราวเท่านั้น
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานความคืบหน้ากรณี เพจปฏิบัติการหมาเฝ้าบ้าน โพสต์สรรพากรทำโครงการเปลี่ยนแอร์สำนักงานใหญ่ งบเกือบ 200 ล้าน แต่เปิดพัดลมทั้งสำนักงาน แจ้งแก้ไข 2 ปียังเหมือนเดิม มีเพียงแอร์ชั้นผู้บริหาร กองบริหารการคลัง-รายได้ ที่ยังเย็นอยู่ในบางจุด โดยผู้ที่ได้งานเปลี่ยนแอร์ดังกล่าว เป็นบริษัท ซัยโจ เด็นกิ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ส่วนทางสรรพากรชี้แจงว่า ยังอยู่ในสัญญารับประกัน จะเร่งเข้ามาซ่อมแซ่มไม่เกินต้นเดือนเมษายนนี้
ล่าสุด เมื่อวันที่ 5 เม.ย. 2566 ทางเพจปฏิบัติการหมาเฝ้าบ้าน โพสต์ข้อความกรณีดังกล่าว ระบุว่า 'แอร์สรรพากร 200 ล้าน ได้รับการแก้ไขแล้ว... Work From Home'
จากกรณีดังกล่าว สำนักข่าวอิศราได้ติดต่อไปยัง นายวินิจ วิเศษสุวรรณภูมิ รองอธิบดีกรมสรรพากร ในฐานะโฆษกกรมสรรพากร เพื่อสอบถามข้อเท็จจริงเรื่องนี้
นายวินิจ ชี้แจงว่า แบ่งออกเป็น 2 ส่วน โดยส่วนในเรื่องของการดำเนินการซ่อมแซ่มตามสัญญาก็ยังดำเนินการอยู่ ทางผู้เกี่ยวข้องจะดำเนินการตามเงื่อนไขของสัญญาและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
ส่วนเรื่องของมาตรการ Work From Home ก็เป็นไปตามระเบียบ ซึ่งตอนนี้มีระบบ Work Everywhere โดยทาง กพ. กำหนดไว้ ในระหว่างที่กำลังดำเนินการตามเงื่อนไขของสัญญาต้องยอมรับว่า กระบวนการซ่อมแซ่มไม่ได้เสร็จทันทีทันใด ถ้ากองไหนคิดว่าไม่ได้กระทบงาน และเป็นไปตามระเบียบก็สามารถบรรเทาความเดือดร้อนชั่วคราวด้วยระบบ Work From Home ได้
นายวินิจ กล่าวอีกว่า เรื่อง Work From Home เป็นหนึ่งในหลาย ๆ เรื่องจะบรรเทาความเดือดร้อนเท่านั้น เพียงชั่วคราว ระหว่างที่ดำเนินการซ่อมแซ่มตามระเบียบ ไม่ใช่หยุดดำเนินการ
นายวินิจ ยังระบุด้วยว่า นอกจาก Work From Home แล้วยังมีมาตรการอื่น ๆ คือ การสลับห้องทำงานไปทำงานในห้องที่แอร์ไม่เสีย ยกตัวอย่าง แอร์ห้องประชุมไม่เสีย เราก็จะเดินสายไฟ-สายเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตให้ไปนั่งทำงานห้องประชุมชั่วคราว และพื้นที่ไหนที่เฉลี่ยพื้นที่กันได้ระหว่างที่รอซ่อมแซ่ม ก็จะมีการเฉลี่ยพื้นที่ เช่น ชั้นไหนที่แอร์ไม่ได้ชำรุดก็มาทำงานชั้นนั้น เป็นการสลับมุมตรงไหนที่ยังรอรอดำเนินการอยู่ก็จะมีการสลับ
"ต้องเรียนว่าแอร์ไม่ได้เสียทุกชั้น ทุกมุม และชั้นผู้บริหารบางมุมก็มีความชำรุดอยู่บ้าง" นายวินิจ ย้ำ
นายวินิจ วิเศษสุวรรณภูมิ รองอธิบดีกรมสรรพากร
อย่างไรก็ดี ก่อนหน้านี้ ทางกรมสรรพากรได้ออกแถลงชี้แจงดังกล่าว ระบุว่า ตามที่ได้มีข่าวเผยแพร่ในสื่อสังคมออนไลน์ และสื่อมวลชนถึงความชำรุดบกพร่องระบบปรับอากาศของอาคารกรมสรรพากร จนทำให้เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานในอาคารได้รับความเดือดร้อน โดยระบุว่าโครงการจัดซื้อจัดจ้างระบบปรับอากาศ 200 ล้านบาทใช้แค่ 2 สัปดาห์พังแล้ว จนต้องเปิดพัดลมรอบสำนักงาน พร้อมสั่งผู้ชนะประมูลแก้ไขตามสัญญาที่ยังอยู่ในระยะประกัน และทำให้มีคำถามถึงความโปร่งใสของที่มาของโครงการและกระบวนการจัดจ้างปรับปรุงระบบปรับอากาศ นั้น
กรมสรรพากร ขอชี้แจงว่า กรมสรรพากรได้รับอนุมัติงบประมาณเป็นเงินฝากค่าใช้จ่าย ในการจัดเก็บภาษี จำนวนเงิน 321,374,755.00 บาท ในการจ้างปรับปรุงระบบปรับอากาศทดแทนเครื่องปรับอากาศรุ่นเดิม ที่ใช้มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2540 ซึ่งมีความชำรุดเสียหาย และเพื่อลดค่าใช้จ่ายในการซ่อมแซมบำรุงรักษาทรัพย์สินของทางราชการ กรมสรรพากรจึงดำเนินการจัดจ้างปรับปรุงระบบปรับอากาศตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม โดยดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างตามประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง แนวทางปฏิบัติในการจัดหาพัสดุด้วยวิธีตลาดอิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Market : e-market) และด้วยวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Bidding : e-Bidding) ลงวันที่ 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558 โดยมีขั้นตอนดังนี้
1. ขอความอนุเคราะห์จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรีในการออกแบบระบบปรับอากาศ
2. จัดทำร่างคุณสมบัติ (Terms of Reference : TOR) โดยแต่งตั้งคณะกรรมการ ประกอบด้วย ผู้แทนจากกรมสรรพากร ร่วมกับผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
3. แต่งตั้งคณะกรรมการกำหนดราคากลาง
4. คณะกรรมการกำหนดราคากลาง ได้กำหนดและปรับปรุงราคากลางระบบปรับอากาศ ตามกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง เป็นราคา 303,442,280.48 บาท
5. การดำเนินการจัดจ้าง ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2535 ประกอบประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง แนวทางปฏิบัติในการจัดหาพัสดุด้วยวิธีตลาดอิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Market : e-market) และด้วยวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Bidding : e-Bidding) ลงวันที่ 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558 รวม 2 ครั้ง ดังนี้
5.1 ครั้งที่ 1 ยกเลิก เนื่องจากมีผู้เสนอราคาเพียงรายเดียว (คือ บริษัท ซัยโจเด็นกิ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด) จึงยกเลิกการประกวดราคาและดำเนินการใหม่ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการพัสดุด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2549 ข้อ 9 (4)
5.2 ครั้งที่ 2 กรมสรรพากรจัดจ้างปรับปรุงระบบปรับอากาศ โดยวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding) ราคากลาง 303,442,280.48 บาท โดยใช้หลักเกณฑ์การประเมินค่าประสิทธิภาพต่อราคา (Price Performance) มีผู้สนใจเข้ามาดูรายละเอียด จำนวน 25 ราย แต่มีผู้ดาวน์โหลดเอกสาร จำนวน 24 ราย มีผู้มีคุณสมบัติเข้ายื่นเสนอราคา จำนวน 2 ราย คือ
(1) บริษัท ซัยโจเด็นกิ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด เสนอราคา 191,844,975.85 บาท
(2) บริษัท นีโอ เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ เซอร์วิส จำกัด เสนอราคา 238,991,154.24 บาท
ผู้ชนะการประมูล คือ บริษัท ซัยโจเด็นกิ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ในราคา 191,844,975.85 บาท
5.3 การดำเนินการปรับปรุงระบบปรับอากาศ ตามสัญญาจ้างเลขที่ 57/2561 ลงวันที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561 มีระยะเวลาการทำงาน 480 วัน นับถัดจากวันที่ลงนามในสัญญา (เริ่มทำงานวันที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561) กำหนดส่งมอบงาน 4 งวดงาน กำหนดงานแล้วเสร็จภายใน วันที่ 21 มิถุนายน พ.ศ.2562 บริษัทผู้รับจ้างต้องดำเนินการติดตั้งแอร์พร้อมอุปกรณ์ ประกอบด้วย คอลย์เย็น จำนวน 1,047 ตัว และคอลย์ร้อน จำนวน 243 ตัว ตั้งแต่ชั้นที่ 1-27 รวมถึงชั้นดาดฟ้า ณ อาคารกรมสรรพากร ในการนี้บริษัทผู้รับจ้าง ดำเนินการเสร็จสิ้นและส่งงานพร้อมกัน 4 งวดงาน ในวันที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ.2562 และได้แต่งตั้งคณะกรรมการตรวจการจ้าง ซึ่งมีผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมเครื่องกลร่วมเป็นกรรมการ อีกทั้ง มีการแต่งตั้งผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมเครื่องกลจากสถาบันที่ออกแบบระบบปรับอากาศ อีกท่านหนึ่งเป็นผู้ควบคุมงาน คณะกรรมการตรวจการจ้าง ผู้ควบคุมงาน และบริษัทผู้รับจ้าง ได้ตรวจสอบการทำงาน ของระบบปรับอากาศร่วมกัน พบว่าระบบทำงานได้เป็นปกติสามารถเทียบเคียงได้ตามข้อกำหนดทางเทคนิค โดยให้บริษัทผู้รับจ้างทำรายงานเรื่องของวัตต์ไฟฟ้า อัตราการไหลเวียนของอากาศ ก่อน – หลัง การใช้งาน เพื่อจะได้นำมาเปรียบเทียบในภายหลังได้ คณะกรรมการตรวจการจ้างนำผลและเอกสารการดำเนินการของผู้เชี่ยวชาญมาใช้ในการพิจารณาตรวจการจ้าง ประกอบกับบริษัทผู้รับจ้างได้ทำการชี้แจงรายละเอียดการติดตั้งพร้อมการเดินตรวจสอบทางกายภาพของคณะกรรมการ
เมื่อได้ทำการทดสอบระบบปรับอากาศทั้งหมดตามกรอบระยะเวลา ทดสอบระบบการควบคุมด้วยระบบออนไลน์ เดินสำรวจอุปกรณ์ที่ทำการติดตั้ง และรับฟังคำชี้แจงจากผู้เชี่ยวชาญด้านเทคนิคทางวิศวกรรมเครื่องกลรวมถึง ตรวจเอกสารหลักฐานทั้งมวลว่าเป็นไปตามหลักวิศกรรมหลักการทางโยธา กฎหมาย ที่เกี่ยวข้อง TOR และสัญญาจ้าง รวมถึงเอกสารอื่นๆ ที่ถือเป็นสัญญาจ้าง ครบถ้วนโดยความละเอียดรอบครอบแล้วและเห็นว่าถูกต้องเป็นไปตามระเบียบ กฎหมาย และแนวทางการตรวจรับพัสดุ จึงได้แจ้งผลการตรวจรับ ไปยังกรมสรรพากร ดังนั้น ตามที่กล่าวมา กรมสรรพากรขอยืนยันว่า ที่มาของโครงการเป็นไปด้วยความจำเป็นของทางราชการที่ต้องจัดหาเครื่องปรับอากาศทดแทนเครื่องปรับอากาศเดิม ที่มีอายุการใช้งานมากกว่า 20 ปี นับแต่เปิดอาคารกรมสรรพากรในปี พ.ศ. 2540 ซึ่งในการออกแบบ การกำหนดราคากลาง และกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างเป็นไปด้วยความโปร่งใส เป็นไปตามระเบียบและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง พร้อมรับการตรวจสอบ จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
ในส่วนปัญหาความชำรุดของระบบปรับอากาศที่เกิดขึ้นนั้น ตามสัญญาได้ระบุความรับผิดชอบในความชำรุดบกพร่องของงานจ้าง ไม่น้อยกว่า 5 ปี นับถัดจากวันที่ได้รับมอบงาน และบริษัทผู้รับจ้างได้มีการออกหนังสือรับรองการรับประกันสินค้ารับประกันพัสดุและอุปกรณ์ ตามไว้ในระยะเวลา 5 ปี นับถัดจากวันที่กรมสรรพากรได้รับมอบงาน ซึ่งในขณะนี้อยู่ในระยะเวลาประกัน ที่ผ่านมาเมื่อมีความชำรุดบกพร่องเกิดขึ้น ก็จะมีการแจ้งให้บริษัทผู้รับจ้างเข้ามาซ่อมแซมอย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุดบริษัทผู้รับจ้างได้เข้ามาดำเนินการซ่อมแซมและเสร็จสิ้นไปเมื่อเดือนสิงหาคม 2565 สำหรับปัญหาความชำรุดที่เกิดอยู่ในขณะนี้ กรมสรรพากร ได้แจ้งให้บริษัทผู้รับจ้างเข้ามาเร่งบำรุงซ่อมแซมระบบปรับอากาศตามสัญญารับประกัน เพื่อให้เป็นไปตามกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องแล้ว
ที่ผ่านมาคณะผู้บริหารกรมสรรพากร ตระหนักถึงปัญหาเรื่องระบบปรับอากาศที่เกิดขึ้น ได้พยายามดำเนินการแก้ไขปรับปรุงมาอย่างต่อเนื่อง โดยคำนึงถึงสุขภาพกายและใจของเจ้าหน้าที่ของกรมสรรพากรเป็นสำคัญ
ขณะที่ ทางบริษัท ซัยโจเด็นกิ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ได้นัดแถลงข่าวชี้แจงข้อเท็จจริงกรณีดังกล่าว ในวันที่ 7 เม.ย. 2566
ขอเท็จจริงจะเป็นเช่นไร สำนักข่าวอิศรา จะนำมารายงานความคืบหน้าต่อไป