‘สุพัฒนพงษ์’ ชี้คณะทำงานสแกนข้อเสนอ ‘ไฮสปีด 3 สนามบิน’ ยังไม่นัดประชุมเพื่อพิจารณา 4 ข้อเสนอผ่าทางตันปัญญาต่างๆ ชี้ประเด็นละเอียดอ่อนต้องรอบคอบ คาด พ.ย. 65นี้ น่าจะเริ่มประชุม
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า วันที่ 4 พฤศจิกายน 2565 ตามที่สำนักข่าวอิศรารายงานว่า นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พลังงานเป็นประธาน ได้สั่งตั้งคณะทำงานขึ้นมา 1 ชุด โดยมีนายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ปลัดกระทรวงการคลัง เป็นประธาน เพื่อตรวจสอบและพิจารณาความเหมาะสมของทางแก้ปัญหา 4 ข้อตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอ
ข้อเสนอทั้ง 4 ข้อ ประกอบด้วย 1.การให้สิทธิเอกชนคู่สัญญาแบ่งชำระค่าใช้สิทธิ์รถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิ้งค์ วงเงิน 10,671 ล้านบาท 2.การแก้ไขปัญหาโครงสร้างโครงการทับซ้อนกับโครงการรถไฟความเร็วสูงไทยจีน ช่วงบางซื่อ - ดอนเมือง 3.ปรับแก้หลักการแก้ปัญหาเหตุการณ์ที่ส่งผลกระทบรุนแรงต่อสถานะทางการเงินของโครงการ และ 4. รายงานการส่งมอบพื้นที่โครงการ ตามที่เคยแบ่งไว้ 3 ส่วนคือ ช่วงสุวรรณภูมิ - อู่ตะเภา, ช่วงพญาไท - บางซื่อ และรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิ้งค์พญาไท - สุวรรณภูมินั้น
- เปิดพื้นที่ ‘ลำรางมักกะสัน’ ชนวนยื้อส่งมอบ ‘ไฮสปีด 3 สนามบิน’ รบ.บิ๊กตู่ วาดไว้สะดุด
- สแกนความคืบหน้า'ไฮสปีด 3 สนามบิน'สางปัญหาล่าช้า ขีดเส้น ต.ค.65 เริ่มก่อสร้าง
ล่าสุด นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พลังงาน ให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวว่า คณะทำงานชุดดังกล่าวยังไม่ได้เริ่มประชุมกันในเดือน ต.ค.ที่ผ่านมา เพราะมีประเด็นที่ละเอียดอ่อนในข้อเสนอดังกล่าว ซึ่งจะต้องพิจารณาด้วยความรอบคอบ เมื่อถามว่า จะเริ่มประชุมได้เมื่อไหร่ นายสุพัฒนพงษ์ตอบว่า คณะทำงานมีกำหนดเวลาของเขา คงรอหาวันเวลาที่ว่างตรงกันอยู่
ทั้งนี้ แหล่งข่าวจาก สกพอ. ระบุกับสำนักข่าวอิศราว่า จากการตั้งคณะทำงานดังกล่าว มีผลให้กำหนดการก่อสร้างโครงการจากเดิมที่วางไว้ในเดือน ต.ค. 2565 เลื่อนไปเป็นต้นปี 2566 แทน โดยคาดว่าการนัดหารือรอบแรกของคณะทำงานชุดดังกล่าวจะเริ่มขึ้นภายในเดือน พ.ย. 2565 นี้
สำหรับโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ช่วงดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา ระยะทาง 220 กม. วงเงิน 224,544 ล้านบาท มีการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) และสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) เป็นหน่วยงานเจ้าของโครงการ มีบจ.เอเชีย เอราวัณ (ซีพี) เป็นคู่สัญญา เริ่มลงนามในสัญญาร่วมทุนเมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2562
แนวเส้นทางโครงการผ่านพื้นที่ 5 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพฯ สมุทรปราการ ชลบุรี ระยอง และฉะเชิงเทรา มีจำนวนสถานีให้บริการทั้งหมด 9 สถานี ได้แก่ สถานีดอนเมือง สถานีบางซื่อ สถานีมักกะสัน สถานีสุวรรณภูมิ สถานีฉะเชิงเทรา สถานีชลบุรี สถานีศรีราชา สถานีพัทยา และสถานีอู่ตะเภา