"...เมื่อวันที่ 18 ก.ค.2565 ที่ผ่านมา กองทัพบกได้มีการประกาศยกเลิกให้ บริษัท ไอยเรศ จำกัด เป็นผู้ชนะงานโครงการฯ นี้ ไปแล้ว แต่ไม่ได้ระบุเหตุผลเรื่องการประสงค์บริจาคสิ่งก่อสร้างเป็นไปตามวัตถุประสงค์ของกองทัพบก ตามที่นายกฯ ชี้แจงไว้แต่อย่างใด ทั้งที่เป็นข้อมูลสำคัญ ขณะที่การประกาศยกเลิกดังกล่าว เกิดขึ้นก่อนหน้าการอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งนี้ เพียงแค่ 1 วันเท่านั้น? ..."
โครงการจ้างก่อสร้างงานก่อสร้างแท่นประดิษฐานและปรับปรุงภูมิทัศน์ พระบรมราชานุสาวรีย์ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ของ ศูนย์การทหารปืนใหญ่ จังหวัดลพบุรี วงเงิน 59 ล้านบาท
เป็นอีกหนึ่งโครงการจัดซื้อจัดจ้างของกองทัพ ที่พรรคฝ่ายค้านหยิบยกขึ้นมาอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล เมื่อวันที่ 21 ก.ค.65 ที่ผ่านมา
นางอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายว่า โครงการฯ นี้ กรมยุทธโยธาทหารบก เป็นเจ้าของโครงการ วงเงิน 59.99 ล้านบาท มีบจ.ไอยเรศ เป็นผู้ชนะโครงการ ทำสัญญาในเดือน ส.ค. 2564 และเมื่อดูภาพถ่ายทางดาวเทียม ในเดือน ธ.ค. 2563 มีการปรับพื้นที่ก่อน และในเดือนเม.ย. 2564 มีการก่อสร้างแท่นอนุสาวรีย์แล้วเช่นกัน และในเวลาต่อมา กองทัพบกออกเอกสารข่าวยอมรับด้วยว่า ดำเนินการโครงการมาตั้งแต่ปี 2563 ทั้ง ๆ ที่ประกวดราคาในปี 2564
ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ลุกขึ้นชี้แจงประเด็นนี้ว่า การก่อสร้างแท่านพระบรมราชานุสาวรีย์ วงเงิน 59 ล้านบาท การประกวดราคามีผู้เข้ายื่นเสนอราคา 3 ราย และภายหลังการลงนามสัญญา คู่สัญญาประสงค์บริจาคสิ่งก่อสร้างเป็นไปตามวัตถุประสงค์ของกองทัพบก โดยไม่ขอรับเงินค่าจ้างที่ระบุในสัญญา และยินยอมยกเลิกสัญญาโดยไม่เรียกร้องค่าเสียหายใดๆ และหน่วยงานเจ้าของโครงการได้ส่งคืนงบประมาณดังกล่าวให้กองทัพบก ซึ่งยังไม่มีการเบิกจ่ายแต่อย่างใด และ สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ได้รับทราบแล้ว
- อภิปรายไม่ไว้วางใจ :‘ก้าวไกล’ กังขาจัดซื้อจัดจ้าง ‘กองทัพ’ ‘ประยุทธ์’ ไขปมงานแท่นอนุสาวรีย์ฯ 59 ล้าน
น่าสนใจว่า แท้จริงแล้วข้อเท็จจริงเรื่องนี้เป็นอย่างไร?
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) สืบค้นฐานข้อมูลจัดซื้อจัดจ้างเว็บไซต์ 'ACTAI' พบว่า กองทัพบก ออกประกาศโครงการฯ นี้ เมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2564 วิธีการจัดหาใช้วิธีคัดเลือก ตั้งงบประมาณ 59,993,500 บาท กำหนดราคากลาง 59,993,500 บาท ระบุวันลงนามในสัญญาวันเดียวกันคือ 27 สิงหาคม 2564 (ดูเอกสารประกอบ)
รายละเอียดการจัดซื้อจัดจ้าง มีเอกชนเข้ารับ/ซื้อซอง 3 ราย คือ บริษัท ไอยเรศ จำกัด, บริษัท ไทยมารูกิ จำกัด, บริษัท อาศาเฟอร์นิเจอร์ จำกัด
ในฐานข้อมูลระบุว่า ทั้ง 3 บริษัท ยื่นเอกสารวันเดียว คือ 29 มิ.ย.2564 (ดูเอกสารประกอบ)
ส่วนข้อมูลการเสนอราคา นั้น บริษัท ไอยเรศ จำกัด เสนอราคาต่ำสุด 59,923,500 บาท ขณะที่บริษัท อาศาเฟอร์นิเจอร์ จำกัด เสนอราคาอยู่ที่ 59,964,000 บาท บริษัท ไทยมารูกิ จำกัด เสนอราคา 59,960,000 บาท ตามลำดับ
ทำสัญญาใบสั่งซื้อวันที่ 27 สิงหาคม 2564 เลขที่สัญญา ยย.ส.127/64 วงเงินว่าจ้างตามสัญญา 59,873,500 บาท
ระบุ เหตุผลที่คัดเลือกเพราะเป็นผู้มีคุณสมบัติและข้อเสนอทางเทคนิคถูกต้องครบถ้วนและเป็นผู้เสนอราคา ต่ำสุด (ดูเอกสารประกอบ)
ในฐานข้อมูล ACTIA ยังระบุด้วยว่า กองทัพบกโดย กรมยุทธโยธาทหารบก ได้ออกประกาศให้ บริษัท ไอยเรศ จำกัด เป็นผู้ชนะงานโครงการฯ นี้ เมื่อวันที่ 14 ก.ค.2564 (ดูเอกสารประกอบ)
น่าสังเกตว่า วันเวลาที่ กองทัพบก ออกประกาศให้ บริษัท ไอยเรศ จำกัด เป็นผู้ชนะงานโครงการฯ นี้ เมื่อวันที่ 14 ก.ค.2564 เกิดขึ้นก่อนวันที่กองทัพบก ออกประกาศโครงการฯ นี้ เมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2564 ระยะเวลาประมาณเดือนเศษ
เมื่อสำนักข่าวอิศรา ตามไปสืบค้นในฐานจัดซื้อจัดจ้างของกรมบัญชีกลาง พบข้อมูลเพิ่มเติมว่า เมื่อวันที่ 18 ก.ค.2565 ที่ผ่านมา กองทัพบกได้มีการประกาศยกเลิกให้ บริษัท ไอยเรศ จำกัด เป็นผู้ชนะงานโครงการฯ นี้ ไปแล้ว
แต่ไม่ได้ระบุเหตุผลเรื่องการประสงค์บริจาคสิ่งก่อสร้างเป็นไปตามวัตถุประสงค์ของกองทัพบก ตามที่นายกฯ ชี้แจงไว้แต่อย่างใด ทั้งที่เป็นข้อมูลสำคัญ
ขณะที่การประกาศยกเลิกดังกล่าว เกิดขึ้นก่อนหน้าการอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งนี้
เพียงแค่ 1 วันเท่านั้น?