‘อมรัตน์ ก้าวไกล’ ตั้งคำถาม ‘กองทัพ-ประยุทธ์’ กรณีจัดซื้อจัดจ้างโครงการสร้างอนุสาวรีย์-ซุ้มเฉลิมพระเกียรติ ในจ.ลพบุรี ควักภาพถ่ายดาวเทียมแฉ มีการเข้าไปก่อสร้างก่อนลงนามในสัญญา ยกเทียบเคสศาลยุติธรรม คนทำผิดถูกลงโทษ ด้าน ‘นายกฯ’ แจงปมเดียวกรณีสร้างแท่นฯชี้เอกชนยอมยกบริจาคให้ทั้งหมด แจ้ง สตง.แล้ว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันที่ 21 กรกฎาคม 2565 กรณีสภาผู้แทนราษฎร พิจารณาญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล รวม 11 คน ตามที่ ส.ส.ฝ่ายค้านเสนอ ภายใต้ยุทธการณ์ ‘เด็ดหัว สอยนั่งร้าน’ โดยจัดขึ้นระหว่างวันที่ 19-22 ก.ค.2565 ซึ่งวันนี้เป็นวันที่ 3 ของการอภิปราย
นางอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายไม่ไว้วางใจ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เกี่ยวกับการปล่อยปละละเลยให้เกิดการเครือข่ายทุจริตในกองทัพ มีจิตสำนึกเผด็จการ บ่อยทำลายระบอบประชาธิปไตย และสร้างความเสื่อมพระเกียรติต่อโครงการเทิดพระเกียรติว่า กองทัพบกดำเนินการใช้งบ 60 ล้านบาท เพื่อก่อสร้างเป็นแท่นพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และปรับปรุงภูมิทัศน์ภายในศูนย์การทหารปืนใหญ่ ค่ายภูมิพล จ.ลพบุรี ซึ่งเปลี่ยนชื่อมาจากค่ายพหลโยธิน เมื่อปี 2563
อย่างไรก็ตาม ต่อมามีการชี้แจงว่า การก่อสร้างไม่ได้มาจากงบประมาณ แต่มาจากการบริจาคของประชาชน เมื่อสืบค้นแล้วไม่พบว่ามีการสมทบทุนบริจาคให้กับโครงการนี้ และเมื่อไปค้นงบการเงินของกองทัพบกในปี 2564 พบงบบริจาคจำนวน 3 ล้านบาท เมื่อค้นไปอีกในปี 2563 มีเงินบริจาคเพียง 2.3 ล้านบาท รวมกันมีเพียง 5 ล้านบาท ห่างไกลจากยอดเงิน 60 ล้านบาท หมดเม็ดอะไรไว้ ทำไมไม่เอามาชี้แจงให้โปร่งใส หรือเอาไปซุกเอาไว้กับใคร
ทั้งนี้ ได้พบเอกสารจัดซื้อจัดจ้างวงเงิน 60 ล้านบาท บก.01 ระบุว่าได้มาจากเงินเพิ่มเติมระหว่างปีงบประมาณ 2564 ดังนั้นการชี้แจงว่า เป็นเงินบริจาคจึงเป็นเฟกนิวส์ซ้อนเฟกนิวส์ เพราะหากเป็นเงินบริจาคทั้งหมด เอาไปเก็บไว้ไหน และไม่เคยเห็นกองทัพประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรับทราบเลย และอย่าเพิ่งเข้าใจผิดว่าจับผิดกองทัพ แต่ที่ตรวจสอบเพราะโครงการของกองทัพยุคพล.อ.ประยุทธ์ มีกลิ่นไม่ดีตลอด ประชาชนตรวจสอบยาก เช่น โครงการอุทยานราชภักดิ์ ซึ่งการตรวจสอบเกิดไม่ได้ ปี 2558 ประชาชนจัดกิจกรรมนั่งรถไฟไปอุทยานราชภักดิ์ ถูกพล.อ.ประยุทธ์ สั่งการดักจับที่อ.บ้านโป่ง จ.ราชบุรี เป็นต้น
ตั้งคำถามก่อสร้างอนุสารีย์ ร.9
นางอมรัตน์ กล่าวต่อว่า สำหรับโครงการอัญเชิญพระบรมราชานุสาวรีย์รัชกาลที่ 9 ในจ.ลพบุรีแล้ว ยังมีเปลี่ยนชื่อค่ายทหารใน จ.ลพบุรีด้วย โดย ศูนย์การทหารปืนใหญ่ เดิมชื่อค่ายพหลโยธิน เปลี่ยนชื่อใหม่เป็น ค่ายภูมิพล และกองพลทหารปืนใหญ่ เดิมชื่อค่ายพิบูลสงคราม เปลี่ยนเป็นค่ายสิริกิติ์ อีกทั้งมีการรื้ออนุสาวรีย์ของพระยาพหลพลหยุหเสนา และอนุสาวรีย์จอมพล ป. พิบูลสงคราม ออกไปด้วย ทั้งๆที่ทั้งพระยาพหลฯ และจอมพล ป. ถือเป็นนายทหารที่มีบทบาทสำคัญในการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เป็นระบอบประชาธิปไตย
สำหรับการจัดซื้อจัดจ้างที่เกี่ยวกับการรื้อและสร้างอนุสาวรีย์ใน จ.ลพบุรี มี 2 โครงการ ได้แก่ โครงการรื้อถอนและติดตั้งซุ้มเทิดพระเกียรติ และโครงการสร้างแท่นประดิษฐานและปรับปรุงภูมิทัศน์ สำหรับโครงการแรก กองทัพบกจัดซื้อจัดจ้างมูลค่าโครงการเพียง 1.2 ล้านบาท ประกาศผู้ชนะเมื่อเดือน เม.ย. 2564 แต่จากรายงานข่าวในปี 2563 และเมื่อตรวจสอบจากภาพถ่ายดาวเทียม มีผู้รับเหมารื้อถอนอนุสาวรีย์แล้ว และมีการติดตั้งซุ้มเทิดพระเกียรติแล้ว เป็นการทำงานล่วงหน้าหรือไม่ เพราะเปิดประตูให้ผู้ชนะประมูลเข้ามาทำงานล่วงหน้าถึง 1 ปีกว่าหรือไม่
โครงการที่ 2 กรมยุทธโยธาทหารบก เป็นเจ้าของโครงการ วงเงิน 59.99 ล้านบาท มีบจ.ไอยเรศ เป็นผู้ชนะโครงการ ทำสัญญาในเดือน ส.ค. 2564 และเมื่อดูภาพถ่ายทางดาวเทียม ในเดือน ธ.ค. 2563 มีการปรับพื้นที่ก่อน และในเดือนเม.ย. 2564 มีการก่อสร้างแท่นอนุสาวรีย์แล้วเช่นกัน และในเวลาต่อมา กองทัพบกออกเอกสารข่าวยอมรับด้วยว่า ดำเนินการโครงการมาตั้งแต่ปี 2563 ทั้งๆที่ประกวดราคาในปี 2564
ทหารเรือโดนด้วย
นางอมรัตน์ อภิปรายต่อถึงกองทัพเรือว่า โครงการก่อสร้างบ้านพักรับรองของผู้บัญชาการทหารเรือและรื้อถอนบ้านหลังดังกล่าว วงเงิน 65 ล้านบาท ก็มีรูปแบบการดำเนินการคล้ายกับโครงการทั้ง 2 ของกองทัพบก ไทม์ไลน์ของโครงการ มี.ค. 2562 ประกาศราคากลาง พ.ค. 2562 ได้ผู้ชนะโครงการ และเริ่มก่อสร้างช่วงปลายเดือนเดียวกัน แต่ในช่วงก.พ. 2562 มีการรื้อถอน และในเดือนเม.ย. 2562 มีการปรับพื้นที่เรียบร้อย เท่ากับว่า กองทัพเรือปล่อยให้ผู้รับเหมาเข้าไปทำงานล่วงหน้าก่อนเซ็นสัญญา 3 เดือน แถมในเดือนก.ค. 2562 การก่อสร้างคืบหน้าไปมากจนใกล้เสร็จ
“การจัดซื้อจัดจ้างในกองทัพไม่เหมือนกับที่อื่น เป็นเพียงพิธีกรรม เมื่อมีการก่อสร้างในกองทัพ มีการล็อกผู้รับเหมาและแบ่งกันล่วงหน้าว่า งานนี้ของใคร งานนั้นของใคร และมีการจ่ายน้ำร้อนน้ำชาให้พวกนายพลจนไม่มีปัญหา ทำตัวอยู่เหมือนกฎหมายจนเคยชิน จะให้เรียกกองทัพหรือกองโจร” นางอมรัตน์กล่าว
ยกกรณีศาลยุติธรรมสั่งลงโทษ ‘สราวุธ เบญจกุล’
ทั้งนี้ นางอมรัตน์ได้ยกตัวอย่างกรณีคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม (ก.ต.)ลงมติว่า นายสราวุธ เบญจกุล อดีตเลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม ผิดวินัยร้ายแรง 12 ต่อ 3 กรณีถูกร้องเรียนในโครงการปรับปรุงอาคารศาลจังหวัดพระโขนง อาคารศาลมีนบุรี และศาลตลิ่งชัน ที่มีเอกชนเข้ามาดำเนินการปรับปรุงอาคารก่อนที่สำนักงานศาลยุติธรรมจะประกาศประกวดราคาและลงนามทำสัญญากับเอกชนอย่างเป็นทางการ ซึ่งมีรูปแบบดำเนินการคล้ายๆกับการดำเนินการของกองทัพ แต่คนทำผิดถูกลงโทษ
กังขา ไอยเรศ-เบ็ญจมาศ ผูกปิ่นโตกองทัพ
นอกจากนี้ ยังตั้งข้อสังเกตถึงเอกชนที่เข้ามารับงาน โดยยกตัวอย่าง บริษัท ไอยเรศ จำกัด ซึ่งมีที่อยู่และกรรมการเหมือนกับ บริษัท เบ็ญจมาศ จำกัด และมักจะรับเหมากับกองทัพแทบจะทั้งสิ้น โดยรับงานกองทัพไปแล้วรวมๆ 30,000 ล้านบาท เหมือนตั้งบริษัทเพื่อรับงานกองทัพโดยเฉพาะ โดยเมื่อยื่นซองประมูล การแข่งขันราคาจะใกล้เคียงกับราคากลางจนเหมือนล็อกสเปก อย่างโครงการสร้างแท่นพระบรมราชานุสาวรีย์ เสนอราคากลางต่ำกว่าเพียง 0.12%
และเมื่อสืบค้นถึงโครงการใหญ่ระดับร้อยล้านถึงพันล้านบาท ส่วนใหญ่ก็แข่งกันเป็นพิธี เหมือนไม่อยากได้งาน เช่น โครงการก่อสร้างหอประชุมกองทัพบก ที่บริษัท เบ็ญจมาศ จำกัดชนะประมูลในปี 2559 โดยเสนอราคาต่ำกว่าราคากลางเพียง 0.25% ราคากลาง 2,771 ล้านบาท เสนอ 2,766 ล้านบาท นอกจากนั้น นางอมรัตน์ยังพูดถึงโครงการก่อสร้างพิพิธภัณฑ์ไม้มีค่าและหอประชุมกองทัพบกด้วยว่า หลังจากอนุมัติโครงการในปี 2557 วงเงิน 2,455 ล้านบาท ปรากฎว่ามีการขยายวงเงินของโครงการ มีการขยายวงเงิน 4 ครั้ง จนวงเงินบานไปที่ 6,284 ล้านบาท และในช่วงที่มีการก่อสร้างในปี 2559 กลับมาการสั่งยุติการก่อสร้างในปี 2560 โดยอ้างว่าจะไปก่อสร้างพื้นที่วังทองหลางแทน
‘บิ๊กตู่’ ลุกแจงพรึบ
ทั้งนี้ พล.อ.ประยุทธ์ ชี้แจงถึงการก่อสร้างทั้ง 2 โครงการว่า การก่อสร้างแท่านพระบรมราชานุสาวรีย์ วงเงิน 59 ล้านบาท การประกวดราคามีผู้เข้ายื่นเสนอราคา 3 ราย และภายหลังการลงนามสัญญา คู่สัญญาประสงค์บริจาคสิ่งก่อสร้างเป็นไปตามวัตถุประสงค์ของกองทัพบก โดยไม่ขอรับเงินค่าจ้างที่ระบุในสัญญา และยินยอมยกเลิกสัญญาโดยไม่เรียกร้องค่าเสียหายใดๆ และหน่วยงานเจ้าของโครงการได้ส่งคืนงบประมาณดังกล่าวให้กองทัพบก ซึ่งยังไม่มีการเบิกจ่ายแต่อย่างใด และ สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ได้รับทราบแล้ว ขอชี้แจงในประเด็นนี้เพียงเท่านี้
นอกจากนี้ พล.อ.ประยุทธ์ ยังชี้แจงไปถึงประเด็นคลองด่าน GT200 และการขึ้นค่าไฟฟ้าด้วย โดยระบุว่า
คดีคลองด่าน ได้สั่งการให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยกรมควบคุมมลพิษ ต่อสู้คดีถึงที่สุด ซึ่งยื่นคำร้องไปแล้วกับคณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล เพื่อขอให้วินิจฉัยเกี่ยวกับคำพิพากษาศาลฎีกาและคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ขณะนี้มีความขัดแย้งกันกับคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด อยู่ในขั้นตอนพิจารณา ตนไม่อาจไปก้าวล่วง
ส่วนการอายัดทรัพย์สิน สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ได้อายัดทรัพย์สิน กิจการร่วมค้า เอ็นวีพีเอสเคจี (NVPSKG) ที่รับเงินตามคำพิพากษาไปแล้วเมื่อปี 2558 งวดที่ 1 ให้ตกเป็นของแผ่นดิน ซึ่งมีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้วบางคดี และต่อมา ปปง.ยื่นฟ้องต่อศาลแพ่งดำเนินการอายัดสิทธิเรียกร้องในหนี้ตามข้อตกลงที่กรมควบคุมมลพิษจ่ายให้กับกิจการร่วมค้า เอ็นวีพีเอสเคจี ใน งวดที่ 2-3 โดยศาลแพ่งมีคำสั่งอายัดแล้ว และอยู่ระหว่างรอคำสั่งศาลปกครองสูงสุด
GT200 กองทัพได้ค่าเสียหายแล้ว 17 ล.จาก 747 ล.
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวต่อว่า สำหรับคดีการจัดซื้อจัดจ้างเครื่องตรวจวัตถุระเบิดและสารเสพติด GT200 ประเด็นสำคัญที่กล่าวหาว่าเราไม่ได้ตรวจสอบติดตาม ซึ่งเราพูดกันมาหลายครั้ง หลายรัฐบาล ตั้งแต่ตนเป็นผู้บัญชาทหารบก (ผบ.ทบ.) แต่วันนี้เราทำอะไรไปแล้วบ้าง เรื่องการฟ้องร้องดำเนินคดี กระทรวงกลาโหมทำตามขั้นตอนกฎหมาย ดำเนินคดีเอกชน 13 คดี คดีถึงที่สุด 5 คดี อยู่ระหว่างการพิจารณา 6 คดี อยู่ในชั้นพิพากษาของอัยการ 2 คดี ฟ้องเรียกค่าเสียหายรวม 747 ล้านบาทเศษ ผู้ถูกฟ้องบางส่วนได้ชำระค่าเสียหายพร้อมดอกเบี้ย 17 ล้านบาท ฝ่ายกฎหมายของกองทัพกำลังติดตามอยู่
“เรื่อง GT200 เป็นปัญหาทั้งโลก มีการใช้ในสงครามอิรัก สงครามต่างๆมากมาย สนามบินก็ใช้ หลายประเทศก็ฟ้องเหมือนกันในห้วงเวลาดังกล่าว” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว
ขึ้นค่าไฟ กฟผ.แบกรับภาระ 1 แสนล้าน
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวด้วยว่า ส่วนการเพิ่มอัตราค่าไฟฟ้าในอนาคต มีเหตุผลความเป็นไปมาเนื่องจากทุกคนทราบดีอยู่แล้วว่า การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) แบกรับหนี้สินมาแล้วมากกว่า 1 แสนล้านบาท ทั้งนี้ระบบการผลิต จัดหา และจำหน่ายไฟฟ้าในประเทศมีความเชื่อมโยงถึงกัน มูลค่าไฟฟ้าในระบบทั้งหมด 8-9 แสนล้านบาท