มติรัฐสภา 354 ต่อ 162 งดออกเสียง 37 เสียง ใช้สูตรหาร 500 คำนวณ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ ด้าน ‘หมอระวี’ เชื่อทำเท่าเทียมทุกพรรค ส่วนสกัดแลนด์สไลด์-พรรคเล็กไม่สูญพันธุ์เป็นแค่ผลพลอยได้ ขณะที่ ‘หมอชลน่าน’ ซัดสภาวิบัติ แทรกซ้อนหลักการทุกมาตรา แซะถ้าเอาหาร 500 ระวังถูกมองเป็นสภาเผด็จการถูกครอบงำโดยเผด็จการ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 6 ก.ค.2565 วันที่สองของการประชุมรัฐสภา เพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ฉบับที่...) พ.ศ.... (พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.) วาระสอง โดยเริ่มพิจารณาตั้งแต่มาตรา 6/3 กระทั่งเวลา 17.50 น.เข้าสู่การพิจารณาในมาตรา 23 ที่มีสาระสำคัญเกี่ยวกับสูตรคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ที่มีข้อถกเถียงกันถึงการใช้สูตรหาร 100 และสูตรหาร 500 ซึ่งมีกรรมาธิการขอสงวนความเห็น และมีผู้แปรญัตติขอสงวนคำแปรญัติ
เมื่อเวลา 22.12 น. ที่ประชุมรัฐสภามี่มติ 354 ต่อ 162 เสียง งดออกเสียง 37 เสียง ไม่ลงคะแนน 4 เสียง เห็นด้วยกับญัตติของ นพ.ระวี มาศฉมาดล ผู้ขอสงวนคำแปรญัตติ ส่งผลให้การคำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อใช้สูตรหาร 500
สภาถกสูตรปาร์ตี้ลิสต์'หมอระวี'ชี้หาร 500 ทำเท่าเทียมทุกพรรค สกัดแลนด์สไลด์แค่ผลพลอยได้
ก่อนหน้านี้ ฝ่ายค้านได้ขอหารือประธานรัฐสภา เพื่อขอให้ปิดการประชุม และกลับมาพิจารณาใหม่ในนัดถัดไปคือวันที่ 26-27 ก.ค. โดย นายครูมานิตย์ สังข์พุ่ม ส.ส.สุรินทร์ พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า มาตรา 23 ค่อนข้างจะมีความสำคัญ เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์กันโดยทั่วไป แม้แต่ในสภาผู้แทนราษฎรแห่งนี้ก็มีการพูดกันว่า จะเกิดวิบัติ มีการพลิก ทั้งที่เป็นกฎหมายที่ส่งมาจากรัฐบาล และ กมธ. ก็ลงมติเป็นเอกฉันท์ แต่จะมีการเปลี่ยนแปลงกันอะไรทำนองนี้ ตนคิดว่าน่าจะให้เวลาและให้โอกาสทุกฝ่ายไปตั้งสติแล้วคิดกันใหม่ เพื่อที่จะได้เป็นไปตามบรรยากาศของกฎหมายตามเจตนารมณ์ของรัฐบาลที่สั่งมาเป็นเบื้องต้นเป็นอันดับแรก และวันนี้คิดว่าน่าจะเพียงพอ
เช่นเดียวกับนาย นายจุลพันธุ์ อมรวิวัฒน์ ส.ส.เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ก่อนหน้านี้เรามีข้อตกลงร่วมกัน 3 ฝ่ายว่าจะเดินหน้ากฎหมายทั้ง 2 ฉบับให้เสร็จภายในวันนี้ แต่เรายอมรับความจริงว่า ช่วงที่ผ่านมามีทั้งถูกดึง ทั้งชะลอ กระบวนการไม่สามารถเสร็จสิ้นภายในวันนี้ และขอบพระคุณประธานรัฐสภาที่นัดประชุมอีกครั้งในวันที่ 26-27 ก.ค.เพื่อให้รัฐสภาพิจารณากฎหมายนี้ให้จบ อย่างไรก็ตาม ขณะนี้มีความไม่ปกติเกิดขึ้นกับร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. มีคำสั่งจากฝ่ายบริหารให้เปลี่ยนแปลงมติจากสิ่งที่ กมธ.ได้พิจารณามา เราพูดกันตรง ๆ ใคร ๆ ก็รู้ ตอนนี้ต้องให้เวลาสังคมได้พิจารณาและคิดถึงสิ่งที่เกิดขึ้น จึงขอให้ปิดการประชุม เพื่อให้ทุกฝ่ายกลับไปนั่งคิดนอนคิด 2 สัปดาห์ค่อยกลับมาใหม่ ซึ่งเวลานั้นฝ่ายค้านอาจจะเห็นด้วยก็ได้
ด้านฝ่ายรัฐบาล อาทิ นายสายัณห์ ยุติธรรม ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคพลังประชารัฐ กล่าวว่า เรื่องนี้เป็นกฎหมายที่ประชาชนรอคอย ขอเสนอให้พิจารณาต่อไปให้เสร็จ เช่นเดียวกับ นายสมชาย แสวงการ สมาชิกวุฒิสภา กล่าวในนามวิปวุฒิสภาว่า เราได้ตรวจสอบองค์ประชุมแล้ว เราพร้อมอภิปราย ขอให้ประธานรัฐสภาเดินหน้าการพิจารณาต่อ ซึ่ง นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ก็ได้บอกให้มีการภิปรายต่อเช่นกัน
นพ.ระวี มาดฉมาดล ส.ส.บัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคกพลังธรรมใหม่ ผู้สงวนคำแปรญัตติ อภิปรายว่า เป้าหมายการอภิปรายครั้งนี้ไม่ใช่เพื่อให้พรรคเล็ก 50 กว่าพรรคการเมืองทั้งในและนอกสภาสูญพันธุ์ หรือสกัดการแลนด์สไลด์ของบางพรรคการเมือง แต่สิ่งเหล่านั้นเป็นเพียงผลพลอยได้ โดยเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญ (รธน.) ปี 60 เขียนไว้ที่ส่วนที่ 2 ว่าด้วยสภาผู้แทนราษฎร หน้า 135 ระบุว่า รธน.60 มีความมุ่งหมายเพื่อแก้ไขสภาพปัญหาการเมืองในระยะที่ผ่านมา ที่ ส.ส.มิได้ปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้แทนของประชาชนอย่างแท้จริง หากแต่เป็นตัวแทนพรรคการเมืองหรือเจ้าของพรรคการเมือง ดังนั้น รธน.ปี 60 จึงออกแบบเพื่อแก้ไขปัญหาที่กล่าวมา และมีเจตนารมณ์สำคัญ 4 ข้อ คือ 1.ระบบ ส.ส.พึงมี 2.ระบบจัดสรรปันส่วนผสม 3.รธน.ฉบับปราบโกง 4.ทุกคะแนนเสียงต้องไม่ตกน้ำ
นพ.ระวี กล่าวว่า ระบบ ส.ส.พึงมีคือการคิดสัดส่วน ส.ส.ที่ยุติธรรมที่สุด เพราะมีหมายความว่าประชาชนจะยินยอมให้คุณมี ส.ส.เท่าไร ส่วนระบบจัดสรรปันส่วนผสม คือการป้องกันการผูกขาดทางการเมืองเผด็จการรัฐสภา ผลพลอยได้คือ พรรคเล็กไม่สูญพันธ์ และจัดสรร ส.ส.ให้กระจายแก่พรรคเล็กที่มีความพร้อม
“บางญัตติที่รัฐบาลสั่งมา เช่น ไม่เอาร่าง พ.ร.บ.สุราก้าวหน้า หรือไม่เอาร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียมตามที่พรรคก้าวไกลเสนอเข้ามา แต่เพราะมีพรรคเล็กใช่หรือไม่ ที่เราไม่ฟัง เราถือผลประโยชน์ของประชาชน จึงโหวตให้กับพรรคก้าวไกล ทั้งที่มติวิปรัฐบาลบอกว่าอย่าโหวตอย่างนั้น นี่คือความสวยงามในระบอบประชาธิปไตยในสภา แต่ถ้าพรรคใหญ่ไม่โหวตตามมติพรรค ส.ส.จะถูกตักเตือน บางพรรคก็ถูกกล่าวหาเป็นงูเห่า แสดงให้เห็นว่าระบบจัดสรรปันส่วนผสม ทำให้มีการกระจายตัวแทนประชาชนกลุ่มต่างๆ มีสิทธิ์นั่งอยู่ในสภา ” นพ.ระวี กล่าว
นพ.ระวี กล่าวอีกว่า สูตรหาร 500 จะสร้างความเท่าเทียมให้กับทุกพรรค เราจะเริ่มด้วยการหาคะแนนเฉลี่ยต่อ ส.ส.พึงมี 1 คน โดยเอาคะแนนพรรคทั่วประเทศ 400 เขตมาบวกกันแล้วหารด้วย 500 ซึ่งคือจำนวน ส.ส.ทั้งสภา หากคาดการณ์ว่าการเลือกตั้งปี 2566 จะมีบัตรดีประมาณ 37 ล้านเสียง คำนวณแบบนี้จะทำให้มีตัวเลข ส.ส.พึงมีอยู่ที่ 74,000 เสียง จากนั้นให้คำนวณหา ส.ส.พึงมีของพรรค ก. โดยใช้ผลรวมคะแนนของพรรคจากทุกเขตมารวมกันและหารด้วย ส.ส.พึงมี เช่น คะแนนทุกเขตได้ 1 ล้านเสียง หารด้วย 74,000 เสียง จะเท่ากับว่า พรรค ก.มี ส.ส.พึงมีที่ 13.5 คน จากนั้น ให้นำ ส.ส.พึงมี (13.5) ลบด้วย ส.ส.เขต (ยกตัวอย่าง 7) จะทำให้พรรค ก.มี ส.ส.บัญชีรายชื่ออีก 6.5 คน
ด้าน นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ ส.ส.เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย ในฐานะวิปฝ่ายค้าน สอบถาม กมธ.เสียงข้างมากที่ปล่อยให้มีผู้เสนอคำแปรญัตติที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 1) พ.ศ.2564 มาตรา 91 ได้อย่างไร รวมถึงเนื้อหาร่างพ.ร.ป.ที่รัฐสภารับหลักการทั้ง 4 ฉบับ กำหนดให้ใช้จำนวน 100 คนหาค่าเฉลี่ยตรงกัน ดังนั้นการรับคำแปรญัตติดังกล่าวอาจขัดกับข้อบังคับได้
ขณะที่ นายนิกร จำนง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคชาติไทยพัฒนา ในฐานะเลขานุการกมธ.ชี้แจงว่า ในการพิจารณาของกมธ. ยอมรับว่าการรับคำแปรญัตติวิธีคำนวณด้วยจำนวน 500 คนนั้น เป็นเรื่องที่เสียไม่ได้ อย่างไรก็ดีเห็นว่าเมื่อ กมธ.เสียงข้างมากลงมติชี้ขาดด้วยคะแนนเป็นสองเท่าให้ใช้จำนวน 100 คนหาค่าเฉลี่ยแล้ว จึงให้ใช้คำสงวนของเสียงข้างน้อยมาอภิปรายในที่ประชุม
อย่างไรก็ดีในการพิจารณาของ กมธ.เห็นว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญ และไม่สามารถรับมาพิจารณาได้ เพราะจะทำให้ ส.ส.เกินกว่าจำนวนที่รัฐธรรมนูญกำหนด 100 คน ไปเป็น 125 คน ทั้งนี้เคยมีกาารลองคำนวณใน กมธ. แล้วพบว่าทำไม่ได้
ผู้สื่อข่าวรายงานเมื่อนายนิกร ชี้แจงต่อประเด็นโอเวอร์แฮง ทำให้ถูกประท้วงโดยสมาชิกรัฐสภา ที่ทำหน้าที่เป็น กมธ. พร้อมระบุว่าเป็นการชี้แจงดังกล่าวปนกับการแสดงความเห็นส่วนตัว กังวลว่าจะทำให้เกิดความสับสนและขอให้นายนิกร ยุติการชี้แจงในนาม กมธ. ซึ่ง นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน และหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ในฐานะผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร อภิปรายว่า รายงานของ กมธ.มีความผิดปกติ เพราะมาตรานี้ไม่มีความเห็นของ กมธ.เสียงข้างมาก ทั้งที่ในชั้นการพิจารณามีความเห็นและมองว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญ ดังนั้น กมธ.เสียงข้างมากจึงไม่มีความเห็นต่างเพื่อให้สภาตัดสิน ถือว่าขัดกับหลักการของการตรากฎหมาย และอาจจะไม่ชอบด้วยการตรากฎหมาย ดังนั้นขอให้นำ กลับไปพิจารณารายงานของ กมธ. แม้ไม่มีความเห็น รู้อยู่แก่ใจว่าไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ แต่ให้สิทธิเสนอเพื่อให้สภาวินิจฉัย
“ตอนนี้สภาวิบัติแล้ว ไม่มีหลักการใหม่ แทรกซ้อนทุกมาตรา ในประวัติศาสตร์ชาติไทยไม่เคยมี กมธ. รู้แก่ใจว่าไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ สมัยก่อนกล่าวหาว่าเป็นเผด็จการรัฐสภา ระวังเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นที่ว่ามีการสั่งเอาหาร 500 ถ้าเกิดจริงไม่ใช่เผด็จการรัฐสภา แต่จะเป็นสภาเผด็จการ ที่ถูกครอบงำและสั่งการโดยเผด็จการ” นพ.ชลน่าน กล่าว
ทั้งนี้ นายสาธิต ปิตุเตชะ รมช.สาธารณสุข ในฐานะประธานกมธ. ชี้แจงว่า ประเด็นที่เห็นว่าคำแปรญัตติหรือคำสงวนคำแปรญัตติไม่ชอบสามารถใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญได้ ทั้งนี้ในชั้น กมธ.ไม่สามารถวินิจฉัยได้ในประเด็นความชอบหรือไม่ชอบดังกล่าวได้