ไปต่อไม่ไหว สภาล่มจนได้ หลังค้างพิจารณากฎหมายเลือกตั้ง ส.ส. มาตรา 6/3 'ชวน' เผยสมาชิกไม่มาแสดงตัว 100 กว่าคน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันที่ 5 กรกฎาคม 2565 ที่ประชุมร่วมรัฐสภาครั้งที่ 7 สมัยสามัญประจำปีครั้งที่ 1 เพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....ในวาระที่ 2 โดยจะพิจารณาเริ่มตั้งแต่ชื่อร่าง คำปรารภ และพิจารณาเรียงลำดับตามมาตรา
เมื่อเวลาประมาณ 18.00 น. ที่ประชุมร่วมรัฐสภา ได้พิจารณามาตรา 6/3 เกี่ยวบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ คนละเบอร์ โดยสมาชิกที่สงวนคำแปรญัติได้ขึ้นอภิปรายเห็นว่า บัตรเลือกตั้ง ส.ส.เขต และบัตรเลือกตั้งส.ส.บัญชีรายชื่อ มีความเห็นว่า ควรจะใช้เบอร์เดียวกันทั้งประเทศ เพื่อสะดวกต่อการจดจำของประชาชน และเป็นประโยชน์ต่อการหาเสียงและนำเสนอนโยบายของพรรคการเมืองต่างๆ รวมทั้งง่ายต่อการจัดการเลือกตั้งของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)
ขณะที่ กมธ. ยืนยันว่า การใช้บัตรสองใบคนละเบอร์ เพราะหากใช้บัตรใบเดียวกันจะเกิดการซื้อเสียงได้ง่ายขึ้น ทำให้ส.ส.เขต สัมผัสและอยู่กับประชาชนมากขึ้น และทำให้เกิดการพัฒนาทางการเมืองมากขึ้น การเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. และผู้สมัคร ส.ก. ประชาชนก็กาถูก สุดท้าย อย่าคิดว่าบัตรเหมือนกันมีแต่ด้านบวก แต่มีด้านลบด้วย เพราะครั้งต่อไปอาจจะมีบัตรเลือกตั้งลงแข่งขันกว่า 50 พรรค แต่ไม่ใช่ว่าทุกพรรคจะสามารถส่งลงแข่งขันส.ส.เขตทั้งหมดได้ ทำให้ในบางเขตจะมีบัตรเลือกตั้งยาวและจะมีช่องโหว และยืนยันว่าจะต้องทำตามรัฐธรรมนูญ
หลังจากอภิปรายเสร็จสิ้น นายชวนได้กดออดเรียกสมาชิกให้มาลงมติ ซึ่งกินเวลาร่วม 10 นาที แต่สมาชิกในห้องประชุมยังบางตา จนกระทั่งนายอรรถกร ศิริลัทธยากร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ได้เสนอว่า ขณะนี้เวลาล่วงเลยมานานแล้ว ขอให้ปิดการประชุม และพิจารณาต่อในวันที่ 6 กรกฎาคม ด้านนายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ ส.ส.เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย ขณะนี้เป็นเวลาลงมติ ฝ่ายค้านมีความพร้อมในการทำงาน และประธานขอให้แสดงตนมานานแล้ว ขอให้แสดงผลเลย ถ้าไม่ครบก็ปิดการประชุมและกลับบ้าน ไม่มีอะไร พวกตนจะรอดูผลการแสดงตนของสมาชิก นายชวนจึงแจ้งว่า ยังขาดอีก 100 กว่าคนเท่านั้นเอง และเมื่อสมาชิกปรารถนาให้ปิดประชุม ก็ปิดประชุม โดยปิดประชุมในเวลา 19.22 น.
สภาหวิดล่ม 'ชวน' นับองค์ประชุมครบ 366 เสียง เฉียดฉิว
เมื่อเวลาประมาณ 16.30 น. นายเสรี สุวรรณภานนท์ สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) และนายสมชัย ศรีสุทธิยากร กรรมาธิการฯ ร่วมสงวนความเห็นและแปรญัตติในมาตรา 6/3 โดยเห็นพ้องกันในการแก้ไข มาตรา 46 แห่งพ.ร.ป. ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 2561 ประเด็น พรรคการเมืองเมื่อได้รับหมายเลขผู้สมัคร ให้ใช้หมายเลขนั้นเป็นหมายเลขของผู้สมัครแบบแบ่งเขตเลือกตั้งของพรรคการเมืองนั้นในทุกเขตที่มีการส่งผู้สมัคร หรือการให้บัตรเลือกตั้งทั้งแบบแบ่งเขตและบัญชีรายชื่อใช้หมายเลขผู้สมัคร หมายเลขเดียว (บัตร 2 ใบ เบอร์เดียว)
อย่างไรก็ตาม พบว่า เอกสารที่คณะกรรมาธิการฯ ทำมากรณีบัตร 2 ใบเบอร์เดียว มีสมาชิกหลายคนไม่ได้รับเอกสารที่ระบุถึงรายละเอียดดังกล่าว นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน ส.ว. ในฐานะประธานรัฐสภาจึงพักการประชุม 15 นาที เพื่อจัดทำรายงานฉบับใหม่
หลังจากนั้น เวลาประมาณ 17.45 น. นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ได้กลับมาดำเนินการประชุมอีกครั้งหนึ่ง โดยได้เริ่มต้นประชุมในมาตรา 6/2 และ 6/3 ใหม่ โดยนายชวนได้วินิจฉัยและให้โหวตมาตรา 6/2 ที่มีเนื้อหาตามร่างระบุว่า ให้ยกเลิกความในมาตรา 36 แห่งพ.ร.ป. ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 2561 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
‘มาตรา 36 เมื่อมีการประกาศกำหนดวันเลือกตั้งครั้งใดแล้ว ให้คณะกรรมการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้งหรือผู้ซึ่งคณะกรรมการมอบหมาย จัดทำบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งของแต่ละหน่วยเลือกตั้ง และปิดประกาศไว้ ณ ที่เลือกตั้ง หรือบริเวณใกล้เคียงกับที่เลือกตั้ง หรือสถานที่ที่ประชาชน สะดวกในการตรวจสอบก่อนวันเลือกตั้งไม่น้อยกว่า 25 วัน
ให้แจ้งรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งในทะเบียนบ้านไปยังเจ้าบ้านให้ทราบก่อนวันเลือกตั้งไม่น้อยกว่า 20 วัน และจะจัดให้มีการตรวจสอบรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ด้วยก็ได้
บัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งตามวรรคหนึ่ง มิให้ระบุเลขประจำตัวประชาชนของผู้มีสิทธิ
เลือกตั้ง
บัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่จัดทำขึ้นเพื่อประโยชน์ของเจ้าหน้าที่ในการตรวจสอบผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้ง ณ ที่เลือกตั้ง ให้ระบุเลขประจำตัวประชาชนของผู้มีสิทธิเลือกตั้งด้วย
การจัดทำบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้ง การปิดประกาศ การแจ้งรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้ง และการจัดให้มีการตรวจสอบรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการกำหนด’
ฝ่ายค้านติงรัฐบาลเล่นเกมไม่แสดงตน
ทั้งนี้ ในระหว่างที่มีการเรียกแสดงตัวสมาชิก เพื่อโหวตในมาตรา 6/2 นายรังสิมันต์ โรม ส.ส.พรรคก้าวไกล กล่าวระหว่างที่มีการรอเรียกแสดงตนว่า อยากให้ประธานรัฐสภาเน้นย้ำว่า สมาชิกรัฐสภาทุกคน ไม่ว่าจะมาจากรูปแบบใดก็ตาม ทุกคนมีความจำเป็นต้องผลักดันกฎหมายนี้ออกมาให้ได้ แม่เมื่อสักครู่จะมีการพักการประชุมไป จึงต้องการฝากไปถึงสมาชิกรัฐสภาผ่านประธานรัฐสภาว่า ควรมีระเบียบวินัยในการมาใช้สิทธิ์และลงคะแนน ไม่อย่างนั้นจะทำให้กฎหมายฉบับนี้ล่าช้าออกไป
นายชวนจึงกล่าวเสริมว่า เป็นหน้าที่สมาชิกทุกคน ไม่เฉพาะกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ในทุกๆวันของการประชุมมีความสำคัญทั้งหมด ไม่ใช่เฉพาะการลงคะแนนในครั้งนี้
ขณะที่นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน ์ ส.ส.พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า จากการหารือเมื่อ 2-3 สัปดาห์ก่อน ได้ข้อสรุปว่า จะเร่งรัดการดำเนินการในการประชุมร่วมรัฐสภาทั้ง ร่าง พ.ร.บ. ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. … และกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ 2 ฉบับคือ ร่าง พ.ร.ป.เลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... และร่าง พ.ร.ป. พรรคการเมือง (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ซึ่งกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญเดิมตั้งใจจะโหวตให้ผ่านภายในวันพรุ่งนี้ (6 ก.ค. 65)
อย่างไรก็ตาม จากสิ่งที่เกิดขึ้นพบว่า การพิจารณายังล่าช้า โดยร่าง พ.ร.ป.เลือกตั้ง ส.ส. พิจารณาไปได้เพียง 6 มาตรา ซึ่งเกิดจากข้อผิดพลาดในเรื่องของเอกสารประกอบ ประเด็นนี้เข้าใจได้ แต่เท่าที่เห็น พรรคร่วมฝ่ายค้านร่วมเป็นองค์ประชุม แต่มีบางฝ่ายที่ไม่ร่วมแสดงตัวในที่ประชุม ถือเป็นความผิดเพี้ยนของระบอบประชาธิปไตยที่ไม่เคยเห็น เพราะฝ่ายเสียงข้างมากกำลังพยายามชะลอการบังคับใช้กฎหมายฉบับนี้ จึงไม่เข้าใจว่า ทำไมจึงมีความพยายามในการไม่ให้กฎหมายฉบับนี้สำเร็จได้ จึงขอประธานรัฐสภาอดทนรอคอยสมาชิกแสดงตัวให้พร้อม
ทำให้นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา กล่าวในที่ประชุมอีกครั้งว่า ทั้งหมดนี้คืองานของสมาชิกรัฐสภาทุกคน สมัยประชุมนี้เป็นสมัยประชุมสุดท้ายแล้ว ก็ต้องขอความร่วมมือทุกท่านว่า ภาระต่างๆจะค่อนข้างหนัก หากทุกท่านร่วมมือกัน ปัญหาต่างๆก็จะผ่านกันไปได้ โดยกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญทั้ง 2 ฉบับนี้ ตามแผนเดิมคาดว่า จะโหวตกันให้จบในสัปดาห์นี้ แล้วไปสู่ช่วงอภิปรายไม่ไว้วางใจ หลังจากนั้นจะเข้าสู่การแก้ไขกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ 7 ฉบับ ดังนั้น หลังจากพิจารณามาตรา 6/2-6/3 แล้ว ขอให้การพิจารณาในมาตราต่างๆ ควรจะเร็วขึ้นมาบ้าง
ด้านนายจิรายุ ห่วงมรัพย์ ส.ส.พรรคเพื่อไทย ได้ลุกขึ้นขอหารือ โดยต้องการจะอภิปรายปัญหาประชาชนในระหว่างรอสมาชิกบางส่วนกำลังเดินทางมาจากอาคารฝั่งวุฒิสภา ซึ่งนายชวนอนุญาตให้พูด แต่กำชับอย่าออกนอกเรื่องไปไกล ทำให้นายจิรายุ กล่าวว่า หากเป็นเช่นนั้น ขอให้ปิดการประชุมไปก่อน เพราะมีธุระงานศพของประชาชนต้องไป นายชวนจึงอนุญาตให้ไปงานศพ
ต่อมา นายเสรี สุวรรณภานนท์ สมาชิก ส.ว. ขอหารือว่า ในเอกสารที่ขอหารือในมาตรา 6/3 ไม่ปรากฎรายชื่อของผู้สงวนความเห็นหลายกลุ่ม เช่น นายสมชัย ศรีสุทธิยากร, นายสามารถ แก้วมีชัย เป็นต้น จึงขอเอกสารในการแปรญัตติมาตรา 6/3 ด้วย ด้านนายชวน ตอบว่า มีอยู่ในเอกสารแล้ว และได้ตรวจสอบร่วมกับนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน ส.ว. แล้ว
จากนั้น นายจุลพันธ์ ได้ลุกขึ้นอีกครั้ง ขอให้พิจารณาปิดการประชุม หลังรอการแสดงตนของสมาชิกรัฐสภานานกว่า 20 นาที ส่วนการประชุมในวันพรุ่งนี้ (6 ก.ค. 65) ที่จะมีการเจรจาเรื่องเวลาในการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ไม่ต้องเชิญฝ่ายค้าน จะอภิปรายตามที่กำหนดและไม่ต้องหารืออะไรอีก เพราะหากไม่ยึดมั่นในข้อตกลงก็ไม่รู้จะประชุมไปทำไม
ด้านนายวีระกร คำประกอบ ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ ชี้แจงว่า การพักการประชุมในรอบที่แล้วที่ขอเวลา 15 นาที แต่เวลาจริงๆล่วงเลยกว่า 1 ชม. ทำให้สมาชิกบางรายคิดว่า เลิกประชุมแล้ว จึงขอเสนอให้ปิดการประชุมในวันนี้ไปก่อน แต่นายชวน กล่าวว่า ขอให้รอกันก่อน หากองค์ประชุมไม่ครบจะปิดการประชุมในวันนี้ ปัญหามีไว้ให้แก้ อย่ากังวล ซึ่งในท้ายที่สุดหลังรอคอยกันมากว่า 30 นาที ก็มีสมาชิกมาครบองค์ประชุม 366 คนพอดี ทำให้การประชุมยังดำเนินต่อไป
ปัดตก ทำประชามติพร้อมวันเลือกตั้ง ส.ส.
เมื่อเวลา 13.40 น. นายสาธิต ปิตุเตชะ ส.ส.ระยอง พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ฉบับที่ ...) พ.ศ. … แถลงต่อที่ประชุมว่า คณะกรรมาธิการพิจารณาตามหลักการของการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ดำเนินการแล้วเสร็จไปก่อนหน้านี้ โดยหลักการกลับไปใช้บัตร 2 ใบ แบ่งเป็น ส.ส.เขต 400 คน และส.ส.บัญชีรายชื่อ 100 คน รวมแล้วที่ 500 คน
ในการพิจารณา มีการเสนอร่างแก้ไขหลายฉบับรวม 4 ฉบับ ได้แก่ ฉบับของคณะรัฐมนตรี (ครม.) , ฉบับพรรคเพื่อไทย นำเสนอโดยนายชลน่าน ศรีแก้ว ผู้นำฝ่ายค้านและหัวหน้าพรรค, ฉบับพรรคร่วมรัฐบาลนำเสนอโดยนายวิเชียร ชวลิต ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐกับคณะ และฉบับของพรรคก้าวไกลนำเสนอโดยนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกลกับคณะ โดยกรรมาธิการใช้ฉบับของ ครม. เป็นฉบับหลักในการพิจารณา เพื่อให้สอดคล้องกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญก่อนหน้านี้
ผลการพิจารณา มีดังนี้
1. มีสมาชิกเสนอคำแปรญัตติ 11 คน เป็น ส.ส. 10 คน และ ส.ว. 1 คน
2. ร่างของ ครม.มีจำนวน 31 มาตรา โดยกรรมาธิการมีการเพิ่มเติม 5 มาตรา และคงมาตราเดิม 22 มาตรา
และ 3. ที่ประชุมนำร่างของพรรคเพื่อไทย, พรรคพลังประชารัฐ และพรรคก้าวไกล มาพิจารณาประกอบด้วย ทำให้มีความเปลี่ยนแปลงไปจากเนื้อหาร่างของ ครม. ที่มีการลงมติรับหลักการวาระที่ 1 เช่น วิธีการคำนวณ ส.ส. ในแต่ละจังหวัดพึงมีใน และการแบ่งเขตเลือกตั้งในการแก้ไขมาตรา 6 แก้ไขมาตรา 26 กรณีจังหวัดใดได้รับการเลือกตั้งเกิน 1 คน ให้แบ่งเขตจังหวัดออกเป็นเขตเลือกตั้งเท่ากับจำนวน ส.ส. พึงมี โดยต้องแบ่งพื้นที่แต่ละเขตให้ติดต่อกัน และจัดให้มีราษฎรในแต่ละเขตเลือกตั้งให้ใกล้เคียงกัน ทั้งนี้ ผลต่างจำนวนราษฎรในแต่ละเขตเลือกตั้งจะเกินร้อยละ 10 ของจำนวนเฉลี่ยส.ส. 1 คน ในจังหวัดมิได้ เว้นแต่กรณีมีความจำเป็นเพื่อให้ราษฎรในชุมชนเดียวกันหรือใกล้เคียงกันสามารถเดินทางได้สะดวก ซึ่งการพิจารณา มีการสงวนความเห็นนี้ไว้ เป็นต้น
จากนั้น ได้มีการรายงานผลการพิจารณา จนมาถึงมาตรา 3 ที่แก้ไขว่า ให้ยกเลิกความในมาตรา 11 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 2561 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
มาตรา 11 เมื่อมีพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้งทั่วไปขึ้นใช้บังคับ ให้คณะกรรมการ
ดำเนินการจัดให้มีการเลือกตั้ง ดังต่อไปนี้
(1) การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้งจำนวน 400 คน ซึ่งเป็นการออกเสียงลงคะแนนเลือกตั้งผู้สมัครเป็นรายบุคคลตามการแบ่งเขตเลือกตั้งที่กำหนดเขตเลือกตั้งละ 1 คน
(2) การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อจำนวน 100 คน ซึ่งเป็นการออกเสียงลงคะแนนเลือกตั้งบัญชีรายชื่อผู้สมัครที่พรรคการเมืองจัดทำขึ้น โดยเลือกเพียงพรรคการเมืองเดียวทั้งประเทศ
ในมาตรานี้ นายธีรัจชัย พันธุมาศ ส.ส. พรรคก้าวไกล, นายปดิพัทธ์ สันติภาดา ส.ส.พรรคก้าวไกล, นายสมชัย ศรีสุทธิยากร และนายณัฐวุฒิ บัวประทุม ส.สงพรรคก้าวไกล ในฐานะกรรมาธิการเสียงข้างน้อย เห็นว่า ควรเพิ่มการจัดให้มีการออกเสียงประชามติตามที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) ขอให้ดำเนินการพร้อมกับการเลือกตั้ง ส.ส. หลังจากเมื่อปี 2564 ที่ประชุมสภาได้โหวตผ่านร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ 2564
ด้านนายนิกร จำนง ส.ส.พรรคชาติไทยพัฒนา ในฐานะกรรมาธิการเสียงข้างมาก ชี้แจงว่า กฎหมายประชามติกับกฎหมายเลือกตั้งมีเป้าหมายไม่เหมือนกัน กฎหมายประชามติเป็นการทำเพื่อสอบถามนโยบายของคณะรัฐมนตรี (ครม.) และสามารถกระทำได้เฉพาะที่เฉพาะจังหวัด อีกครั้งการลงคะแนนก็ไม่เหมือนกัน โดยการทำประชามติมีความคล่องตัวกว่า สามารถดำเนินการผ่านช่องทางออนไลน์ได้ ส่วนการทำประชามติสามารถทำไปพร้อมกับการเลือกตั้ง ส.ส. ได้หรือไม่นั้น สามารถทำได้แต่อาจจะขลุกขลักบ้าง
อย่างไรก็ตาม ในท้ายที่สุด ที่ประชุมร่วมก็โหวตผ่านมาตรา 3 ไปด้วยคะแนน 446 ต่อ 23 เสียง งดออกเสียง 3 และไม่ลงคะแนน 3 จากจำนวนผู้ลงมติ 475 คน