"...ในวันนัดไต่สวนคำร้องขอให้เพิกถอนหมายจับของศาลฯ เมื่อวันที่ 9 พ.ย.2564 ที่ผ่านมา พนักงานไต่สวน ได้รับทราบจากผู้รับมอบฉันทะพนักงานอัยการว่า เหตุที่ยังฟ้องคดี นายพิกิฏ ไม่ได้ เนื่องจากอัยการสูงสุด ยังพิจารณาคำร้องขอความเป็นธรรมไม่แล้วเสร็จ เหตุผลดังกล่าว จึงยิ่งเป็นการย้อนแย้ง หรือไม่เป็นไปตามระเบียบสำนักงานอัยการสูงสุดว่าด้วยการดำเนินคดีอาญาของพนักงานอัยการ พ.ศ.2563 ข้อ 65 การสั่งคดีกรณีร้องขอความเป็นธรรม ระบุไว้ชัดเจนว่า กรณีที่มีคำสั่งฟ้องทุกข้อหา ให้ดำเนินการให้ได้ตัวผู้ต้องหามายื่นฟ้องต่อศาล และให้รีบทำบันทึกข้อความส่งคำร้องขอความป็นธรรม สำเนาความเห็นและคำสั่งพร้อมทั้งสำเนารายงานการสอบสวนสนออธิบดีอัยการเพื่อทราบเป็นอย่างมาก ..."
ประเด็นตรวจสอบข้อมูลเชิงลึก กรณี นายพิกิฏ ศรีชนะ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) ถูกคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ชี้มูลความผิดทางอาญาในคดีกล่าวหาทุจริตโครงการส่งเสริมการปลูกยางพารา ปี 2549 , 2550 และ 2551 เมื่อครั้งสมัยดำรงตำแหน่งเป็นรองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ยโสธร ก่อนที่จะถูกศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 3 ออกหมายจับในเวลาต่อมา หลังจากไม่เดินทางมารายงานตัวพนักงานอัยการตามนัดหมาย
แต่ในเวลาต่อมา นายพิกิฏ ศรีชนะ ได้ทำหนังสือขอมอบตัวและขอความเป็นธรรมให้เพิกถอนการออกหมายจับ โดยอ้างติดภารกิจงานจำนวนมาก ประกอบกับสถานการณ์การแพร่ระบาดเชื้อโควิดที่รุนแรง โดยเมื่อวันที่ 9 พ.ย. 2564 ที่ผ่านมา ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 3 ได้นัดคู่ความทั้งฝ่าย ป.ป.ช. ในฐานะผู้ร้อง และเลขานุการ รมว. รายนี้ ในฐานะผู้ถูกกล่าวหา มาไต่สวนคำร้องก่อนจะอนุมัติให้มีการเพิกถอนหมายจับดังกล่าวไปเมื่อเร็ว ๆ นี้
@พิกิฏ ศรีชนะ
- เลขานุการ รมว.ปริศนา! โดน ป.ป.ช.ชี้มูลความผิดคดีทุจริต - ศาลฯ สั่งเพิกถอนหมายจับ
- วีระ สมความคิด : เพราะเขาเป็นเลขานุการ รมว.วัฒนธรรม ใช่หรือไม่?
- เปิดตัว 'พิกิฏ' เลขาฯ รมว.วธ. โดน ป.ป.ช.ชี้มูลคดีปลูกยาง - เจ้าตัวยังไม่ให้สัมภาษณ์
- เผยมติ ป.ป.ช. เอกฉันท์ชี้มูล เลขาฯ รมว.วธ.คดีปลูกยาง- 'อิทธิพล คุณปลื้ม' เพิ่งทราบข่าว
ในตอนที่แล้ว สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ตรวจสอบข้อมูลไทม์ไลน์เกี่ยวกับการฟ้องส่งคดีนี้ พร้อมระเบียบปฏิบัติในการดำเนินการฟ้องร้องคดีอาญาของพนักงานอัยการ ซึ่งพบข้อสังเกตสำคัญมานำเสนอให้สาธารณชนได้รับทราบไปแล้ว ว่า
1. คดีนี้ อสส. ได้พิจารณารายงานการไต่สวนและความเห็นแล้ว มีคำสั่งให้ดำเนินคดีอาญาฟ้อง นายพิกิฏ ศรีชนะ และให้นำตัวมาส่งฟ้องตั้งแต่วันที่ 22 กรกฏาคม 2564 (ยึดข้อมูลจากหนังสือสำนักงานคดีปราบปรามการทุจริตภาค 3 ลงวันที่ 22 กรกฏาคม 2564 ที่แจ้ง ประธาน ป.ป.ช.) และจากนั้นยังไม่มีคำสั่งเปลี่ยนแปลงอะไรออกมา
2. ตามระเบียบสำนักงานอัยการสูงสุดว่าด้วยการดำเนินคดีอาญาของพนักงานอัยการ พ.ศ.2563 ข้อ 65 การสั่งคดีกรณีร้องขอความเป็นธรรม ระบุไว้ชัดเจนว่า "กรณีที่มีคำสั่งฟ้องทุกข้อหา ให้ดำเนินการให้ได้ตัวผู้ต้องหามายื่นฟ้องต่อศาล และให้รีบทำบันทึกข้อความส่งคำร้องขอความป็นธรรม สำเนาความเห็นและคำสั่งพร้อมทั้งสำเนารายงานการสอบสวนสนออธิบดีอัยการเพื่อทราบ"
3. คดีนี้ ศาลฯ มีการพิจารณาออกหมายจับ นายพิกิฏ ศรีชนะ ไปแล้ว
ดังนั้น สิ่งที่ควรเกิดขึ้นตามระเบียบสำนักงานอัยการสูงสุดว่าด้วยการดำเนินคดีอาญาของพนักงานอัยการ คือ เมื่อพนักงานอัยการ ได้รับการติดต่อประสานงานจาก ผู้ถูกกล่าวหา เพื่อขอเข้ามอบตัว ในวันที่ 17 กันยายน 2564
ในทางปฏิบัติตามระเบียบ เมื่อนายพิกิฏ มามอบตัวแล้ว พนักงานอัยการต้องรีบนำตัวนายพิกิฏไปส่งฟ้องศาลทันที ไม่สามารถอ้างเหตุเรื่องการร้องขอความเป็นธรรมมาชะลอหรือไม่นำตัว นายพิกิฏไปฟ้องต่อศาลได้
แต่ข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น ปัจจุบัน นายพิกิฏ ยังไม่ได้ถูกนำตัวส่งฟ้องคดีความทุจริตแต่อย่างใด
การขึ้นศาลฯ ในช่วงที่ผ่านเป็นเพียงแค่การนัดไต่สวนคำร้องเพื่อขอเพิกถอนหมายจับเท่านั้น และการร้องขอความเป็นธรรมที่ผ่านมา ฝ่ายอัยการก็ยังทำหน้าที่แจ้งประสานงานของผู้ถูกกล่าวหา กับ ป.ป.ช. ด้วย
อันนำมาซึ่งข้อกังขาถึงพฤติการณ์ของพนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีปราบปรามการทุจริต ภาค 3 ในการดำเนินการลักษณะดังกล่าว
ต่อไปนี้ เป็นหนังสือของสำนักงานคดีปราบปรามการทุจริตภาค 3 จำนวน 2 ฉบับ ที่ถูกระบุถึงและมีความสำคัญเกี่ยวกับเรื่องนี้โดยตรง คือ
หนึ่ง.
หนังสือสำนักงานคดีปราบปรามการทุจริตภาค 3 ฉบับลงวันที่ 22 กรกฎาคม 2564 ที่ทำถึง ประธาน ป.ป.ช. เพื่อขอให้ส่งตัว นายพิกิฏ ศรีชนะ ผู้ถูกกล่าวหาไปฟ้องคดี โดยระบุสาระสำคัญว่า อสส. ได้พิจารณารายงานการไต่สวนและความเห็นกรณีนี้แล้ว มีคำสั่งให้ดำเนินคดีอาญาฟ้อง นายพิกิฏ ศรีชนะ และให้ ป.ป.ช. ดำเนินการแจ้งให้ ผู้ถูกกล่าวหา ไปรายงานตัวต่อพนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีปราบปรามการทุจริต 1 ภาค 3 ในวันที่ 23 กรกฎาคม 2564 เวลา 09.30 น. เพื่อดำเนินการฟ้องคดี และจากนั้นยังไม่มีคำสั่งเปลี่ยนแปลงอะไรออกมา
ซึ่งตามระเบียบสำนักงานอัยการสูงสุดว่าด้วยการดำเนินคดีอาญาของพนักงานอัยการ พ.ศ.2563 ข้อ 65 การสั่งคดีกรณีร้องขอความเป็นธรรม ระบุไว้ชัดเจนว่า กรณีที่มีคำสั่งฟ้องทุกข้อหา ให้ดำเนินการให้ได้ตัวผู้ต้องหามายื่นฟ้องต่อศาล และให้รีบทำบันทึกข้อความส่งคำร้องขอความป็นธรรม สำเนาความเห็นและคำสั่งพร้อมทั้งสำเนารายงานการสอบสวนสนออธิบดีอัยการเพื่อทราบ (ดูหนังสือประกอบ)
สอง.
หนังสือสำนักงานคดีปราบปรามการทุจริตภาค 3 ฉบับลงวันที่ 23 กันยายน 2564 แจ้งถึง เลขาธิการ ป.ป.ช. เรื่อง นายพิกิฏ ศรีชนะ ร้องขอให้เพิกถอนหมายจับ
ระบุว่า คดีนี้ เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2564 และวันที่ 3 สิงหาคม 2564 นายพิกิฏ ศรีชนะ ผู้ถูกกล่าวหา ได้ยื่นหนังสือขอเลื่อนการรายงานตัวเพื่อฟ้องคดีต่อศาล โดยชี้แจงว่า ได้รับหนังสือให้ไปรายงานตัวในระยะเวลากระชั้นชิด และต้องปฏิบัติหน้าที่ราชการที่กรุงเทพมหานครเป็นหลัก อีกทั้งสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (covid-19) ที่กรุงเทพมหานคร มีความรุนแรงเป็นอย่างมาก ทำให้ไม่สามารถเดินทางออกจากกรุงเทพมหานครอันเป็นพื้นที่ควบคุมและเข้มงวดสูงสุดตามมาตรการของรัฐเพื่อมารายงานตัวได้ทันท่วงที
อีกทั้งผู้ถูกกล่าวหา ยังได้มีหนังสือร้องขอความเป็นธรรมไปยัง อสส. เพื่อพิจารณาทบทวนคำสั่งฟ้องคดี และพิจารณาสั่งเลื่อนการส่งฟ้องคดีออกไปก่อน และต่อมาเมื่อวันที่ 17 กันยายน 2564 ผู้ถูกกล่าวหา ได้ยื่นหนังสือขอมอบตัวและขอให้พิจารณาเพิกถอนหมายจับ โดยชี้แจงว่า จะมารายงานตัวต่อพนักงานอัยการเดือนละหนึ่งครั้ง จนกว่าจะได้รับทราบผลการพิจารณากรณีร้องขอความเป็นธรรมต่ออัยการสูงสุด
ขณะที่ ในหนังสือลงวันที่ 17 กันยายน 2564 มีการระบุว่า นายพิกิฏ ได้เข้ามอบตัวต่อพนักงานอัยการและร้องขอความเป็นธรรมต่อท่านอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีปราบปรามการทุจริต 1 ภาค 3 ด้วยตนเองด้วย (ดูหนังสือประกอบ)
@ หนังสือขอมอบตัวและขอให้พิจารณาเพิกถอนหมายจับของ นายพิกิฏ ศรีชนะ
ขณะที่ แหล่งข่าวอัยการที่เชี่ยวชาญการฟ้องคดีทุจริต ให้ความเห็นสำนักข่าวอิศรา เพิ่มเติมว่า เกี่ยวกับกรณีนี้ นอกจากประเด็นที่ตั้งข้อสังเกตไปแล้วว่า คดีนี้เป็นการสั่งฟ้องของ อสส. ซึ่งเป็นไปตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ซึ่งที่ผ่านมาเมื่อสั่งแล้วไม่เคยมีการกลับความเห็น และไม่มีระเบียบกฎหมายที่เปิดช่องให้ร้องขอความเป็นธรรม ต่างจากคดีอาญาทั่วไปซึ่งพนักงานอัยการเป็นผู้สั่งคดี ทำให้ผู้ต้องหาสามารถร้องขอความเป็นธรรมต่อ อสส. ได้ ดังนั้น การที่พนักงานอัยการสำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีปราบปรามการทุจริต ภาค 3 อ้างเหตุว่า ผู้ถูกล่าวหาได้ทำเรื่องร้องขอความเป็นธรรมกับ อสส. จึงชะลอไม่นำตัวนายพิกิฏ ส่งฟ้องศาล ทั้งที่มามอบตัว กับพนักงานอัยการ และยังไม่ยอมไปศาลฯ ตามที่ศาลเรียกในวันที่ยื่นคำร้องขอถอนหมายจับ จึงน่าสงสัยถึงพฤติการณ์ของพนักงานอัยการเป็นอย่างยิ่งแล้ว
จากข้อมูลเชิงลึกที่สำนักข่าวอิศรา ตรวจสอบพบในช่วงที่ผ่านมา ยังมีข้อสังเกตเพิ่มเติมอีกหลายประการ ได้แก่
1. หากปรากฏข้อมูลว่า นายพิกิฏ ได้เข้ามอบตัวต่อพนักงานอัยการและร้องขอความเป็นธรรมต่อท่านอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีปราบปรามการทุจริต 1 ภาค 3 ด้วยตนเอง ตามหนังสือลงวันที่ 17 กันยายน 2564 ก็ต้องไปดูว่า มีเอกสารหลักฐานการรับมอบตัว หรือเอกสารการปล่อยตัวชั่วคราวโดยมีหลักประกันหรือไม่
2. การรับมอบตัวโดยพนักงานอัยการ เป็นผลให้อายุความในคดีนี้ สะดุด หยุดลงหรือไม่
3. ที่สำคัญ คือ ทำไมพนักงานอัยการ ถึงไม่พิจารณานำตัว นายพิกิฏ ฟ้องคคีต่อศาลอาญาคดีทุจริตภาค 3 ทั้งที่ ทราบหรือควรทราบว่า นายพิกิฏ หนีหมายจับ และเป็นเหตุให้การกระทำความผิดกรรมแรก ผ่านพ้นวันสิ้นสุดอายุความไปแล้วเมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2564 หรือไม่
ขณะที่มีการยืนยันเพิ่มเติมว่า ในวันนัดไต่สวนคำร้องขอให้เพิกถอนหมายจับของศาลฯ เมื่อวันที่ 9 พ.ย.2564 ที่ผ่านมา พนักงานไต่สวน ได้รับทราบจากผู้รับมอบฉันทะพนักงานอัยการว่า เหตุที่ยังฟ้องคดี นายพิกิฏ ไม่ได้ เนื่องจากอัยการสูงสุด ยังพิจารณาคำร้องขอความเป็นธรรมไม่แล้วเสร็จ
เหตุผลดังกล่าว นับเป็นการย้อนแย้ง หรือไม่เป็นไปตามระเบียบสำนักงานอัยการสูงสุดว่าด้วยการดำเนินคดีอาญาของพนักงานอัยการ พ.ศ.2563 ข้อ 65 การสั่งคดีกรณีร้องขอความเป็นธรรม ระบุไว้ชัดเจนว่า กรณีที่มีคำสั่งฟ้องทุกข้อหา ให้ดำเนินการให้ได้ตัวผู้ต้องหามายื่นฟ้องต่อศาล และให้รีบทำบันทึกข้อความส่งคำร้องขอความป็นธรรม สำเนาความเห็นและคำสั่งพร้อมทั้งสำเนารายงานการสอบสวนสนออธิบดีอัยการเพื่อทราบเป็นอย่างมาก
ยิ่งชวนให้เรื่องนี้ เกิดข้อกังขาถึงพฤติการณ์ของพนักงานอัยการมากขึ้นไปอีก
นับเป็นเรื่องสำคัญที่ ผู้บริหารสำนักงานอัยการสูงสูง รวมไปถึง อสส. จะต้องรีบออกมาชี้แจงเพื่อทำความจริงเรื่องนี้ให้ปรากฏต่อสาธารณโดยเร็วที่สุด
อ่านข่าวในหมวดนี้ประกอบ
- เลขานุการ รมว.ปริศนา! โดน ป.ป.ช.ชี้มูลความผิดคดีทุจริต - ศาลฯ สั่งเพิกถอนหมายจับ
- วีระ สมความคิด : เพราะเขาเป็นเลขานุการ รมว.วัฒนธรรม ใช่หรือไม่?
- เปิดตัว 'พิกิฏ' เลขาฯ รมว.วธ. โดน ป.ป.ช.ชี้มูลคดีปลูกยาง - เจ้าตัวยังไม่ให้สัมภาษณ์
- เผยมติ ป.ป.ช. เอกฉันท์ชี้มูล เลขาฯ รมว.วธ.คดีปลูกยาง- 'อิทธิพล คุณปลื้ม' เพิ่งทราบข่าว
- เปิดไทม์ไลน์ คดี เลขาฯ รมว.วัฒนธรรม กังขาอัยการ! อ้างเหตุขอความเป็นธรรม อสส. ชะลอฟ้อง?
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage