"...ดังนั้น การที่พนักงานอัยการสำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีปราบปรามการทุจริต ภาค 3 อ้างเหตุว่า ผู้ถูกล่าวหาได้ทำเรื่องร้องขอความเป็นธรรมกับอัยการสูงสุด จึงชะลอไม่นำตัวนายพิกิฏ ส่งฟ้องศาลทั้งที่มามอบตัว กับพนักงานอัยการ และยังไม่ยอมไปศาลฯ ตามที่ศาลเรียกในวันที่ยื่นคำร้องขอถอนหมายจับ จึงน่าสงสัยถึงพฤติการณ์ของพนักงานอัยการเป็นอย่างยิ่ง..."
ประเด็นตรวจสอบข้อมูลเชิงลึก กรณี นายพิกิฏ ศรีชนะ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม ถูกคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ชี้มูลความผิดทางอาญาในคดีกล่าวหาทุจริตโครงการส่งเสริมการปลูกยางพารา ปี 2549 , 2550 และ 2551 เมื่อครั้งสมัยดำรงตำแหน่งเป็นรองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ยโสธร ก่อนที่จะถูกศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 3 ออกหมายจับในเวลาต่อมา หลังจากไม่เดินทางมารายงานตัวพนักงานอัยการตามนัดหมาย
แต่ในเวลาต่อมา นายพิกิฏ ศรีชนะ ได้ทำหนังสือขอมอบตัวและขอความเป็นธรรมให้เพิกถอนการออกหมายจับ โดยอ้างติดภารกิจงานจำนวนมาก ประกอบกับสถานการณ์การแพร่ระบาดเชื้อโควิดที่รุนแรง โดยเมื่อวันที่ 9 พ.ย. 2564 ที่ผ่านมา ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 3 ได้นัดคู่ความทั้งฝ่าย ป.ป.ช. ในฐานะผู้ร้อง และเลขานุการ รมว. รายนี้ ในฐานะผู้ถูกกล่าวหา มาไต่สวนคำร้องก่อนจะอนุมัติให้มีการเพิกถอนหมายจับดังกล่าวไปเมื่อเร็ว ๆ นี้
@พิกิฏ ศรีชนะ
- เลขานุการ รมว.ปริศนา! โดน ป.ป.ช.ชี้มูลความผิดคดีทุจริต - ศาลฯ สั่งเพิกถอนหมายจับ
- วีระ สมความคิด : เพราะเขาเป็นเลขานุการ รมว.วัฒนธรรม ใช่หรือไม่?
- เปิดตัว 'พิกิฏ' เลขาฯ รมว.วธ. โดน ป.ป.ช.ชี้มูลคดีปลูกยาง - เจ้าตัวยังไม่ให้สัมภาษณ์
- เผยมติ ป.ป.ช. เอกฉันท์ชี้มูล เลขาฯ รมว.วธ.คดีปลูกยาง- 'อิทธิพล คุณปลื้ม' เพิ่งทราบข่าว
ล่าสุด สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ตรวจสอบข้อมูลไทม์ไลน์เกี่ยวกับข้อมูลการฟ้องส่งคดีนี้ พร้อมระเบียบปฏิบัติในการดำเนินการฟ้องร้องคดีอาญาของพนักงานอัยการ
พบข้อสังเกตสำคัญเพิ่มเติมดังต่อไปนี้
หนึ่ง.
กล่าวคือ คดีนี้ภายหลังจากที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติชี้มูลความผิดทางอาญา นายพิกิฏ ศรีชนะ ในช่วงเดือนพฤษภาคม 2564 สำนักงาน ป.ป.ช. ได้ส่งรายงานการไต่สวนข้อเท็จจริงพร้อมเอกสารประกอบเรื่องกล่าวหา เพื่อขอให้อัยการสูงสุด (อสส.) พิจารณาดำเนินการฟ้องร้องคดีตามขึ้นตอนทางกฎหมายเป็นทางการไปแล้ว
เมื่อวันที่ 22 กรกฏาคม 2564 สำนักงานคดีปราบปรามการทุจริตภาค 3 ได้ทำหนังสือถึง ประธาน ป.ป.ช. เพื่อขอให้ส่งตัว นายพิกิฏ ศรีชนะ ผู้ถูกกล่าวหาไปฟ้องคดี
โดยระบุว่า อสส. ได้พิจารณารายงานการไต่สวนและความเห็นกรณีนี้แล้ว มีคำสั่งให้ดำเนินคดีอาญาฟ้อง นายพิกิฏ ศรีชนะ ในฐานความผิดเป็นเจ้าพนักงาน มีหน้าที่ซื้อ ทำ จัดการหรือรักษาทรัพย์ใด ๆ ใช้อำนาจในตำแหน่งโดยทุจริต อันเป็นการเสียหายแก่รัฐ เทศบาล สุขาภิบาลหรือเจ้าของทรัพย์นั้น เป็นเจ้าพนักงาน ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 151,152 และ 157 พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา พ.ศ.2502 มาตรา 7 , 8 , 13 และเนื่องจากคดีนี้เหตุเกิดที่ตำบลในเมือง อำเภอเมืองจังหวัดยโสธร และตำบลกุดชุม อำเภอกุดชุม จังหวัดยโสธร ซึ่งต้องฟ้องผู้ถูกกล่าวหาต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 3 และอสส. ได้มอบหมายให้พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีปราบปรามการทุจริต 1 ภาค 3 เป็นผู้ดำเนินคดี จึงขอให้ ป.ป.ช. ดำเนินการแจ้งให้ ผู้ถูกกล่าวหา ไปรายงานตัวต่อพนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีปราบปรามการทุจริต 1 ภาค 3 ในวันที่ 23 กรกฎาคม 2564 เวลา 09.30 น. เพื่อดำเนินการฟ้องคดี และขอให้ดำเนินการจัดการให้ได้ตัวผู้ถูกกล่าวหามาฟ้องคดีภายในอายุความตามกฎหมายต่อไปด้วย
จากนั้น ปรากฏข้อมูลว่า เมื่อวันที่ 25 กรกฏาคม 2564 คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้ยื่นคำร้องขอออกหมายจับ นายพิกิฏ ศรีชนะ กรณีมีหลักฐานตามสมควรเชื่อว่า จะหลบหนี แจ้งต่อผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ให้ดำเนินการจับกุมตัวไปส่งที่พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีปราบปรามการทุจริต 1 ภาค 3 ภายในอายุความ 20 ปี นับตั้งแต่วันที่ 21 กันยายน 2549 ไม่เกิน วันที่ 21 กันยายน 2569
ส่วนเหตุที่ คณะกรรมการ ป.ป.ช. ต้องขอออกหมายจับ 25 กรกฏาคม 2564 เนื่องจากวันที่ 26 กรกฏาคม 2564 เป็นวันหยุดชดเชยวันอาสาฬหบูชาและศาลปิดทำการ หากรอวันที่ 27 กรกฏาคม 2564 เปิดทำการ ถ้า นายพิกิฏ ศรีชนะ ผิดนัดจะขอศาลออกหมายจับไม่ทัน คดีอาจขาดอายุความ (นับจากช่วงเวลาเกิดเหตุโครงการฯ ปี 2549 , 2550 , 2551)
หลังจากนั้นวันที่ 23 กันยายน 2564 สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีปราบปรามการทุจริต 1 ภาค 3 ได้ทำหนังสือแจ้งถึง เลขาธิการ ป.ป.ช. เรื่อง นายพิกิฏ ศรีชนะ ร้องขอให้เพิกถอนหมายจับ
ระบุว่า คดีนี้ เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2564 และวันที่ 3 สิงหาคม 2564 นายพิกิฏ ศรีชนะ ผู้ถูกกล่าวหา ได้ยื่นหนังสือขอเลื่อนการรายงานตัวเพื่อฟ้องคดีต่อศาล โดยชี้แจงว่า ได้รับหนังสือให้ไปรายงานตัวในระยะเวลากระชั้นชิด และต้องปฏิบัติหน้าที่ราชการที่กรุงเทพมหานครเป็นหลัก อีกทั้งสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (covid-19) ที่กรุงเทพมหานคร มีความรุนแรงเป็นอย่างมาก ทำให้ไม่สามารถเดินทางออกจากกรุงเทพมหานครอันเป็นพื้นที่ควบคุมและเข้มงวดสูงสุดตามมาตรการของรัฐเพื่อมารายงานตัวได้ทันท่วงที อีกทั้งผู้ถูกกล่าวหา ยังได้มีหนังสือร้องขอความเป็นธรรมไปยัง อสส. เพื่อพิจารณาทบทวนคำสั่งฟ้องคดี และพิจารณาสั่งเลื่อนการส่งฟ้องคดีออกไปก่อน และต่อมาเมื่อวันที่ 17 กันยายน 2564 ผู้ถูกกล่าวหา ได้ยื่นหนังสือขอมอบตัวและขอให้พิจารณาเพิกถอนหมายจับ โดยชี้แจงว่า จะมารายงานตัวต่อพนักงานอัยการเดือนละหนึ่งครั้ง จนกว่าจะได้รับทราบผลการพิจารณากรณีร้องขอความเป็นธรรมต่ออัยการสูงสุด
ทั้งนี้ ในหนังสือลงวันที่ 17 กันยายน 2564 มีการระบุว่า นายพิกิฏ ได้เข้ามอบตัวต่อพนักงานอัยการและร้องขอความเป็นธรรมต่อท่านอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีปราบปรามการทุจริต 1 ภาค 3 ด้วยตนเองด้วย
จากนั้น เมื่อวันที่ 9 พ.ย. 2564 ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 3 จะได้นัดคู่ความทั้งฝ่าย ป.ป.ช. ในฐานะผู้ร้อง และเลขานุการ รมว. รายนี้ ในฐานะผู้ถูกกล่าวหา มาไต่สวนคำร้องก่อนจะอนุมัติให้มีการเพิกถอนหมายจับดังกล่าวไป
สอง.
หากพิจารณาตามข้อมูลที่ปรากฏจากไทม์ไลน์ทั้งหมด จะพบข้อสังเกตสำคัญดังนี้
1. คดีนี้ อสส. ได้พิจารณารายงานการไต่สวนและความเห็นแล้ว มีคำสั่งให้ดำเนินคดีอาญาฟ้อง นายพิกิฏ ศรีชนะ และให้นำตัวมาส่งฟ้องตั้งแต่วันที่ 22 กรกฏาคม 2564 (ยึดข้อมูลจากหนังสือวันที่ 22 กรกฏาคม 2564 ที่แจ้ง ป.ป.ช.) และจากนั้นยังไม่มีคำสั่งเปลี่ยนแปลงอะไรออกมา
2. ตามระเบียบสำนักงานอัยการสูงสุดว่าด้วยการดำเนินคดีอาญาของพนักงานอัยการ พ.ศ.2563 ข้อ 65 การสั่งคดีกรณีร้องขอความเป็นธรรม ระบุไว้ชัดเจนว่า กรณีที่มีคำสั่งฟ้องทุกข้อหา ให้ดำเนินการให้ได้ตัวผู้ต้องหามายื่นฟ้องต่อศาล และให้รีบทำบันทึกข้อความส่งคำร้องขอความป็นธรรม สำเนาความเห็นและคำสั่งพร้อมทั้งสำเนารายงานการสอบสวนสนออธิบดีอัยการเพื่อทราบ
3. คดีนี้ ศาลฯ มีการพิจารณาออกหมายจับ นายพิกิฏ ศรีชนะ ไปแล้ว
ดังนั้น สิ่งที่ควรเกิดขึ้นตามระเบียบสำนักงานอัยการสูงสุดว่าด้วยการดำเนินคดีอาญาของพนักงานอัยการ เมื่อพนักงานอัยการ ได้รับการติดต่อประสานงานจาก ผู้ถูกกล่าวหา เพื่อขอเข้ามอบตัว ในวันที่ 17 กันยายน 2564
ในทางปฏิบัติตามระเบียบ เมื่อนายพิกิฏ มามอบตัว พนักงานอัยการต้องรีบนำตัวนายพิกิฏไปส่งฟ้องศาลทันที ไม่สามารถอ้างเหตุเรื่องการร้องขอความเป็นธรรมมาชะลอหรือไม่นำตัว นายพิกิฏไปฟ้องต่อศาลได้
แต่ข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น ปัจจุบัน นายพิกิฏ ยังไม่ได้ถูกนำตัวส่งฟ้องคดีความทุจริตแต่อย่างใด
การขึ้นศาลฯ ในช่วงที่ผ่านเป็นเพียงแค่การนัดไต่สวนคำร้องเพื่อขอเพิกถอนหมายจับเท่านั้น และการร้องขอความเป็นธรรมที่ผ่านมา ฝ่ายอัยการก็ยังทำหน้าที่แจ้งประสานงานของผู้ถูกกล่าวหา กับ ป.ป.ช. ด้วย
แหล่งข่าวจากอัยการที่เชี่ยวชาญการฟ้องคดีทุจริต ให้ความเห็นสำนักข่าวอิศราว่า คดีนี้เป็นการสั่งฟ้องของ อสส. ซึ่งเป็นไปตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ซึ่งที่ผ่านมาเมื่อสั่งแล้วไม่เคยมีการกลับความเห็น และไม่มีระเบียบกฎหมายที่เปิดช่องให้ร้องขอความเป็นธรรม ต่างจากคดีอาญาทั่วไปซึ่งพนักงานอัยการเป็นผู้สั่งคดี ทำให้ผู้ต้องหาสามารถร้องขอความเป็นธรรมต่อ อสส. ได้
"ดังนั้น การที่พนักงานอัยการสำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีปราบปรามการทุจริต ภาค 3 อ้างเหตุว่า ผู้ถูกล่าวหาได้ทำเรื่องร้องขอความเป็นธรรมกับ อสส. จึงชะลอไม่นำตัวนายพิกิฏ ส่งฟ้องศาล ทั้งที่มามอบตัว กับพนักงานอัยการ และยังไม่ยอมไปศาลฯ ตามที่ศาลเรียกในวันที่ยื่นคำร้องขอถอนหมายจับ จึงน่าสงสัยถึงพฤติการณ์ของพนักงานอัยการเป็นอย่างยิ่ง" อัยการที่เชียวชาญการฟ้องคดีทุจริต ระบุ
อนึ่ง เกี่ยวกับคดีนี้ สำนักข่าวอิศรา รายงานไปแล้วว่า การชี้มูลความผิดคดีกล่าวหาทุจริตของ นายพิกิฏ ศรีชนะ ของ ป.ป.ช. ยังต้องมีการต่อสู้คดีเพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์ในชั้นศาลอีก
ปัจจุบัน นายพิกิฏ ศรีชนะ จึงยังถือว่าเป็นผู้บริสุทธิ์อยู่
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage