"...ผลลบปลอม ที่เกิดขึ้น ผู้ตรวจหาเชื้อจะคิดว่าตนเองไม่มีเชื้อ ก็จะขาดความระมัดระวังในการแพร่เชื้อสู่บุคคลอื่น ขณะเดียวกันการเกิด ผลบวกปลอม อาจทำให้ผู้ไม่มีเชื้อ เข้าสู่ระบบการรักษาร่วมกับผู้ป่วยโควิด ส่งผลให้เขาเสี่ยงต่อการติดเชื้อ แต่จะเกิดเพียง 1 ใน 100 คนเท่านั้น..."
…….……………………………………………
'ชุดตรวจหาแอนติเจนด้วยตนเอง' หรือ ‘Antigen Test Kit’ กลายมาเป็นอีกหนึ่งเครื่องมือสำคัญในการตรวจหาเชื้อในช่วงวิกฤตโควิด หลังจากถูกปลดล็อกเมื่อวันที่ 12 ก.ค.2564 เพื่อลดปัญหาคอขวดที่ประชาชนจำนวนมาก ต่างรอตรวจหาเชื้อด้วยวิธี RT-PCR
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าเครื่องมือนี้จะมีข้อจำกัดในเรื่องการเกิด ‘ผลลบปลอม’ และ ‘ผลบวกปลอม’ โดย นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ เคยแถลงข่าวในประเด็นการใช้ Antigen Test Kit ณ วันที่ 27 ก.ค.2564 ไว้ตอนหนึ่งว่า ผลบวกปลอมอาจเกิดขึ้นได้ 3-5% นั่นหมายความว่าใน 100 คน อาจเจอผู้ไม่ได้ติดเชื้อ หรือมีผลบวกปลอมได้ 3-5 คน
แต่ในปัจจุบันสถานการณ์การระบาดรุนแรงขึ้น ‘Antigen Test Kit’ ซึ่งสามารถตรวจได้ไว รู้ผลได้ภายใน 15-30 นาที จึงกลายเป็นทางเลือกที่ดีที่สุด เพื่อเร่งคลี่คลายสถานการณ์การระบาด
สำหรับการเกิดผลลบปลอม และผลบวกปลอมนั้น มีข้อควรระวังใดที่ควรทราบ และจะมีวิธีรับมืออย่างไร ให้ผลตรวจออกมาอย่างแม่นยำ สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ได้รวบรวมข้อมูลจากนักวิชาการ และสัมภาษณ์ผู้เชี่ยวชาญด้านการใช้ ‘Antigen Test Kit’ มีข้อมูลที่น่าสนใจดังนี้
นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้แถลงข่าวในประเด็นการตรวจหาเชื้อโควิดด้วยชุด Antigen Test Kit ณ วันที่ 2 ส.ค.2564 ว่า สำหรับการติดเชื้อโควิด โดยธรรมชาติไวรัสจะค่อยๆ เพิ่มขึ้นในร่างกาย และจะทำร้ายต่ออวัยวะเรามากน้อยแล้วแต่บุคคล ซึ่งสิ่งที่ร่างกายของเราแสดงออกมาให้รู้ว่าติดเชื้อนั้น ไม่ใช่เชื้อไวรัสโดยตรง แต่เป็นองค์ประกอบของไวรัส ที่เรียกว่า ‘แอนติเจน’ หรือ ‘Antigen’
“การตรวจหาเชื้อโควิดไม่ว่าจะเป็นวิธีแบบมาตรฐาน RT-PCR หรือ Antigen Test Kit หากแอนติเจนในร่างกายมีน้อย จะไม่สามารถตรวจพบได้ ยกตัวอย่างเช่น หากเราได้รับเชื้อมาเมื่อวาน แล้วรีบตรวจหาเชื้อ โอกาสที่เจอเชื้อจะมีน้อยมาก ซึ่งจากกราฟด้านล่างจะเห็นว่า เชื้อไวรัสจะกระจายตัวได้ดีในช่วง 1 สัปดาห์แรก ดังนั้นถ้าให้แนะนำการตรวจหาเชื้อด้วย Antigen Test Kit ควรจะตรวจในช่วงประมาณวันที่ 5 หลังจากสัมผัสผู้ติดเชื้อโควิด” นพ.ศุภกิจ กล่าว
การตรวจหาเชื้อเร็วเกินไป เป็นข้อจำกัดหนึ่งที่อาจทำให้เกิด ‘ผลลบปลอม’ หรือ ‘False Negative’ นอกจากนี้ยังเกิดได้จากการเก็บสิ่งตรวจไม่ถูกต้อง หรือการดำเนินการตามขั้นตอนวิธีทดสอบไม่ถูกต้อง เช่น ไม่อ่านผลในช่วงเวลาที่ชุดทดสอบกำหนด หรือปริมาณตัวอย่างที่หยดในตลับทดสอบ ไม่เป็นไปตามที่กำหนด
ขณะเดียวกันอาจเกิด ‘ผลบวกปลอม’ หรือ ‘False Positive’ ได้เช่นเดียวกัน คือ ไม่ได้ติดเชื้อ แต่ผลการทดสอบออกมาเป็นบวก ซึ่งอาจเกิดได้จากการปนเปื้อนจากพื้นที่ที่ทำการทดสอบอุปกรณ์ที่ใช้ ไม่สะอาดหรือมีสิ่งเจือปน การติดเชื้อไวรัสหรือจุลชีพอื่น การดำเนินการตามขั้นตอนวิธีทดสอบไม่ถูกต้อง เช่น อ่านผลเกินเวลาที่กำหนด หรือสภาพสิ่งส่งตรวจไม่เหมาะสม เช่น กล่องบรรจุภัณฑ์ฉีกขาดระหว่างขนส่ง หรือเปิดบรรจุภัณฑ์ก่อนใช้งานล่วงหน้าเป็นระยะเวลานาน
นพ.ศุภกิจ จึงแนะนำว่า กรณีที่ตรวจหาเชื้อแล้วไม่พบ ขอให้ประเมินตนเองว่ามีความเสี่ยงสูงหรือไม่ หากมีความเสี่ยงสูง ขอเคร่งครัดแยกกักตัวและให้ตรวจหาเชื้อโควิดด้วย Antigen Test Kit ซ้ำอีกครั้งใน 2-3 วัน ส่วนผู้ที่เจอผลบวก ขอให้แจ้งสายด่วนสำนักงานหลักประกันสุขภาพ (สปสช.) 1330, โรงพยาบาล หรือคลินิกอบอุ่นก่อน เพื่อเข้าสู่ระบบการรักษา เจ้าหน้าที่จะประเมินอาการ หรืออาจต้องตรวจ RT-PCR ซ้ำอีกครั้ง ก่อนนำท่านไปอยู่ปะปนกับบุคคลอื่น
@ ชุดทดสอบแอนติเจน ขึ้น 2 ขีด แสดงว่าติดเชื้อ
สำหรับการเลือกซื้อชุดตรวจอย่างง่าย นพ.ศุภกิจ กล่าวแนะนำว่า ขอให้สังเกตให้ดี เนื่องจากชุดตรวจอย่างง่ายมีอยู่ด้วยกัน 2 ประเภท คือ 1. แบบตรวจหาเชื้อไวรัส หรือแอนติเจน (Antigen) และ 2.แบบตรวจหาภูมิคุ้มกัน หรือแอนติบอดี (Antibody) โดยตลับทดสอบแบบแอนติเจนที่เราจะต้องใช้ ต้องเป็นตลับทดสอบที่ปรากฏสัญลักษณ์ C และ T เท่านั้น หากเจอตลับทดสอบที่ปรากฏสัญลักษณ์ C G M นั่นคือตลับทดสอบตรวจหาภูมิคุ้มกัน ซึ่งไม่สามารถใช้ตรวจหาเชื้อโควิดได้
ส่วนวิธีการใช้ชุดทดสอบแบบแอนติเจน ให้เก็บตัวอย่างตามที่ระบุ โดยอาจเก็บผ่านทางโพรงจมูก ช่องปากและลำคอ หรือน้ำลาย อย่างไรก็ตามสำหรับวิธีการตรวจหาเชื้อผ่านโพรงจมูก ขอให้ประชาชนใช้ไม้ Swab แหย่เข้าไปในจมูกด้วยความแรงระดับหนึ่ง เพื่อให้สารคัดหลั่งติดออกมาให้มากเท่าที่จะเป็นไปได้ หลังจากนั้นให้นำมาจุ่มกับหลอดน้ำยาแล้วหมุนวน เพื่อให้สารคัดหลั่งผสมกันได้ดี จากนั้นปิดจุก แล้วนำมาหยอดบนตลับตามที่ชุดทดสอบกำหนด ทั้งนี้ห้ามลืมว่าต้องวางตลับทดสอบบนพื้นที่สะอาดด้วย โดยสามารถอ่านผลทดสอบได้ดังนี้
- หากขีดขึ้นที่ตัว C และ T แสดงว่า พบเชื้อ
- หากขึ้นขีดที่ตัว C ขีดเดียว แสดงว่า ไม่พบเชื้อ
- แต่หากซึ้นที่ตัว T ขีดเดียว หรือไม่ปรากฏขีดใดๆ แสดงว่า อ่านผลไม่ได้
ทั้งนี้ นพ.ศุภกิจ กล่าวอีกว่า ประสิทธิภาพของชุดทดสอบแบบแอนติเจนแต่ละรูปแบบใกล้เคียงกัน แต่เทคโนโลยีเก็บตัวอย่างจากน้ำลาย เพิ่งได้รับการพัฒนาใหม่ ทำให้มีความสะดวกยิ่งขึ้น แต่ถ้าเทียบกันจริงๆ การเก็บตัวอย่างผ่านโพรงจมูกจะดีกว่าเล็กน้อย
@ ย้ำชุดตรวจแอนติเจน ไม่มีขายในออนไลน์-ตลาดนัด-ร้านสะดวกซื้อ
นอกจากนั้น นพ.ศุภกิจ กล่าวย้ำอีกว่า ชุดตรวจแอนติเจนนี้ เป็นเครื่องมือทางการแพทย์ ขณะนี้ยังไม่อนุญาตให้ขายผ่านช่องทางออนไลน์ ตลาดนัด หรือร้านสะดวกซื้อ ดังนั้นขอให้ประชาชนซื้อที่ร้านขายยาที่มีเภสัชกรประจำ เนื่องจากต้องมีการตรวจสอบคุณภาพ ตรวจสอบที่มา และต้องมีคำอธิบายการใช้งานเพื่อให้ประชาชนเข้าใจ
อย่างไรก็ตาม พบว่ามีการลักลอบขายออนไลน์จำนวนหนึ่งในราคาที่สูง ขอให้ประชาชนอย่าเพิ่งซื้อ ปัจจุบันมีชุดตรวจอย่างง่ายที่ได้รับการขึ้นทะเบียนให้ใช้เองภายในบ้าน (Self-Test Kits หรือ Home Use) จากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) 19 ยี่ห้อแล้ว และจะมีเพิ่มเข้ามาอีก ซึ่งสามารถเข้าไปเช็ครายชื่อได้ที่เว็บไซต์ อย. ขณะเดียวกันองค์การเภสัชกรรม (อภ.) ได้แทรกแซงขายชุดตรวจอย่างง่ายในราคาไม่เกิน 200 บาทต่อชุด เป็นอีกช่องทางหนึ่งให้กับประชาชนได้ซื้อคนละไม่เกิน 3 ชุด ในร้านขายยาขององค์การเภสัชกรรม
@ เผย 3 ช่องทางส่งต่อผู้ตรวจหาเชื้อ ATK ผลบวก เข้าสู่ระบบการรักษา
ด้าน นพ.ณัฐพงศ์ วงศ์วิวัฒน์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวผ่านการแถลงข่าวในประเด็นการตรวจหาเชื้อโควิดด้วยชุด Antigen Test Kit ณ วันที่ 2 ส.ค.2564 ถึงช่องทางการนำผู้มีผลบวกเข้าสู่ระบบรักษาด้วยว่า ตอนนี้มีอยู่ด้วยกัน 3 ช่องทาง ดังนี้
1.ตรวจหาเชื้อในโรงพยาบาล กรณีนี้เจ้าหน้าที่จะส่งต่อผู้ป่วยเข้าสู่ระบบการรักษาตามระดับอาการที่ประเมินได้โดยตรง
2. ตรวจหาเชื้อด้วยทีมหน่วยเคลื่อนที่เร็ว หรือ CCRT กรณีนี้เจ้าหน้าที่จะทำการประเมินและส่งต่อผู้ป่วยเข้าสู่ระบบการรักษาตามระดับอาการที่ประเมินได้โดยตรง
3. ตรวจหาเชื้อด้วยตนเอง กรณีนี้ประชาชนจะต้องประสานด้วยตนเอง ผ่านสายด่วน สปสช. 1330 หรือ สำนักงานเขตทั้ง 50 เขตได้ ทั้งนี้หากไม่มีผู้รับสาย สามารถลงทะเบียนผ่าน แอปพลิเคชันไลน์ สปสช. หรือเว็บไซต์ https://crmsup.nhso.go.th เจ้าหน้าที่จะติดต่อกลับภายในวันเดียวกันนั้น เพื่อโทรไปสอบถามอาการ และส่งต่อเข้าสู่ระบบรักษาต่อไป ทั้งนี้หากเกิดอาการหนักรุนแรงก่อน ขอให้โทรประสานสายด่วน 1669 เพื่อให้เจ้าหน้าที่ส่งเข้าโรงพยาบาลหลักโดยด่วน
สำหรับการส่งต่อผู้ป่วย หากเป็น ผู้ป่วยสีเขียว เจ้าหน้าที่จะส่งเข้าระบบ Home Isolation และจะมีทีมแพทย์ พยาบาลติดตามอาหารผ่านระบบทางไกล 2 ครั้งต่อวัน และ สปสช.จะส่งกล่องอุปกรณ์ อาทิ เครื่องวัดออกซิเจน ยาที่จำเป็น และเครื่องวัดอุณหภูมิส่งไปให้ถึงที่บ้าน พร้อมอาหาร 3 มื้อ แต่หากผู้ป่วยไม่มีพื้นที่แยกกักตัว จะถูกส่งเข้าสู่ระบบ Community Isolation ซึ่งจะมีเจ้าหน้าที่ภายในศูนย์พักคอยการส่งตัวดูแลตามขั้นตอนต่อไป
และในกรณีเป็น ผู้ป่วยสีเหลืองและแดง ระหว่างรอเตียงจะมีแพทย์และพยาบาลติดตามอาการผ่านระบบทางไกลด้วย และ สปสช.จะส่งกล่องอุปกรณ์ พร้อมอาหาร 3 มื้อให้เช่นเดียวกัน จนกว่าจะได้เข้าสู่ระบบการรักษาภายในโรงพยาบาลสนาม หรือโรงพยาบาลหลัก
@ ผู้ตรวจหาเชื้อด้วย ATK ผลบวก เข้าสู่ระบบการรักษาโดยไม่ต้องรอผลแล็บ
ล่าสุด กรณีผู้ตรวจหาเชื้อด้วยชุดตรวจแอนติเจนพบผลบวก ตอนนี้สามารถเข้าสู่ระบบการรักษาโดยไม่รอผลตรวจจากแล็บแล้ว เนื่องจากเมื่อวานนี้ กรมการแพทย์ได้ออกประกาศอย่างเป็นทางการถึง 2 แนวทางในการดูแล ‘ผู้ติดเชื้อเข้าข่าย’ โดยให้แพทย์ประเมินอาการ คือ หากเป็นผู้ป่วยสีเขียวและสามารถกักตัวเองที่บ้านได้ (Home Isolation) แพทย์สามารถจ่ายยาได้เลย โดยไม่ต้องตรวจด้วย RT-PCR ซ้ำอีกครั้ง แต่ในกรณีที่ต้องเข้าสู่ระบบการกักตัวแบบชุมชน หรือสถานพยาบาล ซึ่งต้องอยู่ร่วมกับผู้อื่น ควรให้ตรวจด้วย RT-PCR อีกครั้ง (อ่านข่าวประกอบ: 'กรมการแพทย์' ประกาศ 2 แนวทางดูแลผู้ตรวจหาเชื้อ ATK ผลบวก)
@ ใช้ชุดตรวจ ATK ‘ผลลบปลอม’ มีโอกาสเกิดมากกว่า ‘ผลบวกปลอม’
เราทราบแล้วว่า ผลบวกปลอมมีโอกาสเกิดขึ้น 3-5% ส่วนโอกาสเกิดผลลบปลอมนั้น จะมีอัตราการเกิดขึ้นเท่าใด สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ได้รวบรวมข้อมูลมาจากการประชุมออนไลน์ของสถานบันวิทยาศาสตร์สาธารณสุข กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ร่วมกับผู้ประกอบการโรงงานอุตสาหกรรมที่ผ่านมา ได้มีการนำเสนอผลสำรวจการใช้ชุดตรวจแอนติเจนจากกลุ่มตัวอย่าง 850 คน พบว่า จากการใช้ชุดทดสอบแอนติเจนของกลุ่มตัวอย่าง พบผลบวก 650 คน เป็นผลบวกปลอม 10 คน คิดเป็น 1.54% และพบผลลบ 200 คน เป็นลบปลอม 22 คน คิดเป็น 11% ในจำนวนลบปลอมนั้น เป็นครอบครัวเดียวกันถึง 63.6% ติดจากเพื่อนร่วมงาน 22.8% และไม่ทราบว่าติดจากไหน 13.6% แสดงให้เห็นว่า โอกาสเกิด ‘ผลลบปลอม’ มีโอกาสเกิดขึ้นมากกว่า ‘ผลบวกปลอม’
นัยสำคัญของการเกิดผลลบปลอมนั้น พญ.วรรณนา หาญเชาว์วรกุล นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ ด้านเวชกรรมป้องกัน สาขาระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค เปิดเผยสำนักข่าวอิศรา ว่า จากผลสำรวจการตรวจหาเชื้อด้วยชุดตรวจแอนติเจน 850 คน ข้างต้น แสดงให้เห็นผลตรงตัวอยู่แล้วว่าการเกิดผลลบปลอมมีโอกาสเกิดขึ้นมากกว่า
“เราบอกได้เพียงว่าด้วย Antigen Test Kit ที่เราใช้ตอนนี้ ด้วยความชุกของโรคเท่านี้ ผลลบปลอมจะเยอะกว่าผลบวกปลอม ซึ่งจะขึ้นอยู่กับความชุกของโรค ไม่ได้ขึ้นกับประสิทธิภาพ” พญ.วรรณนา กล่าว
พญ.วรรณนา กล่าวอีกว่า การเกิดผลปลอม ต่างทำให้เกิดความกังวลใจ โดย ‘ผลลบปลอม’ ที่เกิดขึ้น ผู้ตรวจหาเชื้อจะคิดว่าตนเองไม่มีเชื้อ ก็จะขาดความระมัดระวังในการแพร่เชื้อสู่บุคคลอื่น ขณะเดียวกันการเกิด ‘ผลบวกปลอม’ อาจทำให้ผู้ไม่มีเชื้อ เข้าสู่ระบบการรักษาร่วมกับผู้ป่วยโควิด ส่งผลให้เขาเสี่ยงต่อการติดเชื้อ แต่จะเกิดเพียง 1 ใน 100 คนเท่านั้น
“คนเจอผลตรวจ Antigen Test Kit เป็นบวก เขาต้องกักตัว เขาสู่ระบบการรักษา Home Isolation อยู่แล้ว ถ้าเกิดอาการไม่มาก อาจไม่ต้องกินยา ก็อยู่คนเดียวในบ้าน ซึ่งไม่ได้รับเชื้อจากใครอยู่แล้ว เพียงแต่หากมีอาการมากขึ้น ต้องเข้าสถานพยาบาล โรงพยาบาลอาจให้ตรวจ RT-PCR ก่อน เนื่องจากอาการที่เพิ่มขึ้น อาจเกิดได้จากเชื้ออื่นเช่นเดียวกัน” พญ.วรรณนา กล่าว
(พญ.วรรณนา หาญเชาว์วรกุล นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ
ด้านเวชกรรมป้องกัน สาขาระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค)
@ ความคลาดเคลื่อน ATK ไม่เท่ากับศูนย์ แต่ตรวจซ้ำช่วยลดข้อผิดพลาด
เมื่อถามว่าการตรวจซ้ำอีกครั้งในช่วงเวลา 3-5 วัน ผลที่ออกมามีโอกาสคาดเคลื่อนอีกหรือไม่ พญ.วรรณา กล่าวอีกว่า ผลมีโอกาสผิดพลาดอยู่แล้ว เพียงแต่ที่เราแนะนำว่าให้ตรวจในช่วง 3-5 วัน เนื่องจากหากเราเป็นผู้สัมผัสเสี่ยงสูง เช่น เราเป็นผู้สูงอายุ และเราอยู่ร่วมกับลูก กินข้าวร่วมกัน นอนด้วยกัน แบบนี้ถือว่ามีความเสี่ยง หากวันหนึ่งลูกติดเชื้อ เราก็กลัวติดเชื้อ ไปเอาชุดตรวจแอนติเจนมาตรวจ วันแรกอาจตรวจไม่เจอ แต่การตรวจซ้ำอีกครั้งจะลดข้อผิดพลาดของผลตรวจลง แต่ก็ไม่เท่ากับศูนย์
“ดังนั้นเมื่อเจอผลลบก่อนอื่นขอแนะนำว่าควรเช็คก่อนว่าเรามีความสัมผัสเสี่ยงกับผู้ติดเชื้อรายก่อนหน้ามากน้อยเพียงใด หากมากขอให้ตรวจยืนยันด้วยวิธีมาตรฐาน RT-PCR หรือตรวจซ้ำอีกครั้งใน 3-5 วันถัดไป” พญ.วรรณา กล่าว
ทั้งหมดนี้เป็นข้อมูลการใช้ชุดตรวจแอนติเจน หรือ Antigen Test Kit ที่มีโอกาสเกิดผลลบปลอมได้มากกว่าผลบวกปลอม ดังนั้นการแยกกักตัวและรอตรวจหาเชื้อซ้ำอีกครั้งใน 3-5 วัน เป็นสิ่งสำคัญ ขณะเดียวกันกรมการแพทย์ได้ออกประกาศอย่างเป็นทางการให้ผู้ตรวจหาเชื้อที่พบผลบวก เข้าสู่ระบบการรักษาได้ โดยไม่ต้องรอผลตรวจแล็บ ถือว่าเป็นสัญญาณที่ดีที่ไทยจะสามารถควบคุมการระบาดได้ในเร็ววัน
อ่านข่าวประกอบ:
กรมวิทย์ฯเผยผลสุ่มตรวจ ATK เจอผลลบปลอม 11% ย้ำสัมผัสเสี่ยงสูงตรวจหาเชื้ออีกใน 3-5 วัน
ตาย 178! ป่วยโควิด 17,970 ศบค.ยืนยันสหรัฐฯบริจาคไฟเซอร์ 1,503,450 โดส
รู้จัก Rapid Antigen Test ชุดคัดกรองโควิดเบื้องต้น ตัวช่วยลดความแออัดในโรงพยาบาล
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่https://www.facebook.com/isranewsfanpage