กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์จัดประชุมแนะนำผู้ประกอบการโรงงานอุตสาหกรรม ทำ Bubble and Seal ร่วมกับการตรวจหาเชื้อด้วย Antigen Test Kit ชี้ช่วยกำจัดวงแพร่ระบาดได้เร็ว พร้อมเผยอัตราเจอผลบวกลวง 1.54% ผลลบลวง 11% จากกลุ่มตัวอย่าง 850 คน ย้ำสัมผัสเสี่ยงสูงตรวจหาเชื้ออีกใน 3-5 วันถัดไป
.....................................................
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 30 ก.ค.2564 สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ จัดการประชุมออนไลน์ผู้ประกอบการโรงงานอุตสาหกรรม เรื่อง การตรวจคัดกรองการติดเชื้อโควิดในโรงงานอุตสาหกรรมด้วยวิธี Antigen Test Kit โดย พญ.วรรณา หาญเชาว์วรกุล นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ ด้านเวชกรรมป้องกัน สาขาระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กล่าวว่า การควบคุมการระบาดภายในโรงงานอุตสาหกรรมจะต้องทำมาตรการที่เรียกว่า Bubble and Seal หรือ การควบคุมคนในโรงงานให้มีกิจกรรมปะปันกันเองและปะปนกับคนนอกโรงงานให้น้อยที่สุด ดังนั้นหากเกิดการติดเชื้อจะทำให้เชื้อกระจายน้อยลง และทำให้การควบคุมโรคง่ายและมีประสิทธิภาพ ที่สำคัญสถานประกอบการไม่จำเป็นปิด และทุกคนยังมีรายได้
ดังนั้นการเตรียมความพร้อม ก่อนลงมือทำ Bubble and Seal ควรทำดังนี้ 1.จัดเตรียมโรงพยาบาลสนามและพื้นที่พักคอยสำหรับผู้ติดเชื้อ 2. จัดเตรียมสถานที่พักผู้สัมผัสผู้ป่วยที่ยังตรวจไม่พบเชื้อหรือไม่มีอาการในโรงงานหรือชุมชน 3. จัดระบบเดินทางรับส่งคนงานจากที่พักถึงสถานประกอบการ 4. จัดเตรียมสิ่งอำนวยความสะดวกในการดำเนินชีวิตของคนงาน และ 5. จัดเตรียมความพร้อมด้านการตรวจ RT-PCR หรือ Antigen Test Kit
พญ.วรรณา กล่าวอีกว่า หลังจากเหตุการระบาดในสมุทรสาคร กระทรวงสาธารณสุขได้ถอดบทเรียน และได้ปรับแนวคิดให้ผู้ประกอบโรงงานอุตสาหกรรมได้ทำ Bubble กลุ่มคนงานตั้งแต่ก่อนจะมีเชื้อเข้าไป โดยให้แยกคนงานออกเป็นกลุ่มย่อยๆ แยกคนที่ต้องมีการติดต่อกันให้อยู่รวมกัน โดยห้ามติดต่อกันข้ามกลุ่ม ดังนั้นเมื่อเชื้อเข้าไป ประกอบกับการมีความพร้อมในการสุ่มตรวจ จะทำให้เราจำกัดวงได้ทันและเชื้อไม่มีการแพร่กระจายไปในวงกว้าง
หาก Bubble กลุ่มคนงานแล้วพบว่ามีผู้ติดเชื้อ ให้นำเข้าสู่ระบบการรักษาในทันที และให้นำผู้ตรวจไม่พบเชื้อ ที่จัดอยู่กลุ่มสัมผัสเสี่ยงเข้าแยกพักในโซนที่เราได้จัดสรรไว้ ทั้งนี้หากฉีดวัคซีนได้ ขอให้รีบฉีดทันที นอกจากนั้นหากเราทำ Bubble and Seal ผ่านไปแล้ว 2-3 สัปดาห์ หลังโรงงานพบการติดเชื้อ ให้ตรวจหาภูมิต้านทาน หรือ Antibody อีกครั้ง หากพบภูมิต้านทานเป็นบวก จะให้เขาทำงานต่อไปอีก 7 วัน หลังจากนั้นสามารถใช้ชีวิตได้ปกติ ส่วนภูมิคุ้มกันเป็นลบให้ฉีดวัคซีน หรือสุ่มตรวจ RT-PCR หรือ Antigen Test Kit อีกครั้ง เพื่อประเมินโอกาสแพร่เชื้อสู่ชุมชน
ทั้งนี้ผลสำรวจการใช้ Antigen Test Kit จากกลุ่มตัวอย่าง 850 คน พบผลบวก 650 คน เป็นผลบวกลวง 10 คน คิดเป็น 1.54% และพบผลลบ 200 คน เป็นลบลวง 22 คน คิดเป็น 11% ดังนั้นเมื่อเจอผลลบ ก่อนอื่นขอแนะนำว่าควรเช็คก่อนว่าเรามีความสัมผัสเสี่ยงกับผู้ติดเชื้อรายก่อนหน้ามากน้อยเพียงใด หากมากขอให้ตรวจยืนยันด้วยวิธีมาตรฐาน RT-PCR หรือตรวจซ้ำอีกครั้งใน 3-5 วันถัดไป
"ถ้าในภาพรวมของโรงงานมีผู้ฉีดวัคซีน มีผู้มีภูมิต้านทานเป็นบวก และมีผู้ตรวจพบเชื้อได้ถึง 85% ถือว่ากองฟางนี้เป็นกองฟางที่เปียกมาก ถ้ามีสะเก็ดไฟเข้ามา ไฟคงไม่อาจโหมกระพือได้ อย่างไรก็ตาม Bubble and Seal เป็นเรื่องยาก แต่ไม่ได้เป็นเรื่องที่ทำไม่ได้ จะสำเร็จได้ต้องได้รับความร่วมมือจากผู้ประกอบการและคนงาน จึงอยากขอให้ทุกคนร่วมมือกันอย่างเคร่งครัด" พญ.วรรณา กล่าว
ขณะที่ ดร.นพ.อาชวินทร์ โรจนวิวัฒน์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวถึงการใช้ Antigen Test Kit ว่า การตรวจหาเชื้อด้วยวิธีนี้สามารถทำได้ง่าย ใช้หลักการมองด้วยตาเปล่าเหมือนกับการตรวจการตั้งครรภ์ กล่าวคือให้เราแยงไม้ Swab ไปที่โพรงจมูกตามที่ตัวผลิตภัณฑ์ได้กำกับไว้ หลังจากนั้นให้นำมาใส่ในสารละลายที่มีคุณสมบัติที่จะเอาตัวเชื้อหรือโปรตีนของเชื้อออกมาอยู่ในหลอดนั้น หลังจากนั้นให้เราหยดไปตามจำนวนที่อุปกรณ์เขาบอก และให้รอดูว่า ถ้าขึ้น 2 ชีดชัดๆที่ตาเรามองเห็น แสดงว่าเราพบชิ้นส่วนของเชื้อไวรัส อย่างไรก็ตามหากผลตรวจในเส้น C ไม่ปรากฏจะถือว่าผลตรวจนั้นใช้งานไม่ได้
สำหรับการเลือชุดตรวจ Antigen Test Kit ขอให้ผู้ประกอบการเลือกชุดตรวจให้คนงานที่ผ่านการลงทะเบียนกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.)โดยอาจค้นหาข้อมูลจากเว็บไซต์ อย. หรือ กองควบคุมเครื่องมือแพทย์ ทั้งนี้ขอให้ดูให้ดีๆว่า เป็น Home Use สำหรับประชาชน หรือ Professional Use สำหรับบุคลากรการแพทย์ ย้ำว่าไม่แนะนำให้ซื้อตามช่องทางออนไลน์ เนื่องจากเราไม่สามารถตรวจสอบได้ว่าปลอดภัย และถือว่าผิดกฎหมาย ทั้งนี้ผลตรวจหาเชื้อด้วยชุดตรวจ Antigen Test Kit อาจออกมาเป็นผลลวงได้ ดังที่ พญ.วรรณา ได้กล่าวข้างต้น เนื่องจากชุดตรวจนี้จะใช้ได้ผลดีในกลุ่มของคนที่มีอาการ หรือในช่วงแรกของการติดเชื้อ จึงเน้นย้ำให้ใช้ชุดตรวจอีกครั้งในวันที่ 3-5 วัน
ดร.นพ.อาชวินทร์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจัยที่อาจทำให้เกิดผลลวง แบ่งออกเป็น 2 ส่วน ได้แก่ ผลบวกปลอม คือ ไม่ได้ติดเชื้อ แต่พบผลเป็นบวก อาจเกิดได้จาก การปนเปื้อนจากพื้นที่ที่ทำการทดสอบ การติดเชื้อไวรัสอื่นๆ การทำตามขั้นตอนการทดสอบที่ไม่ถูกต้อง หรือสภาพสิ่งส่งตรวจไม่เหมาะสม และผลลบปลอม คือ ติดเชื้อ แต่พบผลเป็นลบ อาจเกิดได้จากเพิ่งติดเชื้อในระยะแรกมีปริมาณไวรัสต่ำ การเก็บสิ่งตรวจไม่ถูกต้อง หรือการดำเนินตามขั้นตอนการทดสอบไม่ถูกต้อง เช่น ไม่อ่านผลในช่วงเวลาที่กำหนด หรือการหยดไม่เป็นไปตามที่กำหนด
ส่วนข้อควรระวังในการใช้ชุดตรวจ ดร.นพ.อาชวินทร์ กล่าวว่า ควรเก็บชุดตรวจในอุณหภูมิที่เหมาะสมตามที่เขากำหนด ตรวจสอบวันหมดอายุให้แน่ชัด เตรียมพื้นที่สำหรับการตรวจทดสอบให้สะอาด อย่าเปิดหรือฉีกซองตลับทดสอบ จนกว่าจะเริ่มทำการทดสอบ ให้อ่านผลตรงตามเวลาที่ชุดตรวจกำหนด การอ่านผลเร็วหรือช้าเกินไป อาจเกิดความผิดพลาดได้ และไม่ควรนำอุปกรณ์มาใช้ซ้ำ นอกจากนั้นหลังการใช้ชุดตรวจควรนำชุดตรวจที่ใช้แล้วแช่น้ำยาฆ่าเชื้อและแยกใส่ถุงทิ้งอย่างมิดชิดและเหมาะสม
อย่างไรก็ตามเมื่อประชาชนตรวจด้วยชุดตรวจ Antigen Test Kit แล้วพบผลเป็นบวก ขอให้โทรประสาน 1330 หลังจากนั้นเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลจะสอบถามประวัติและคัดกรองระดับอาการของผู้ป่วย หากเป็นผู้ป่วยสีเขียว ผู้ป่วยสามารถเข้าสู่ระบบ Home Isolation โดยไม่ต้องตรวจ RT-PCR หรือหากเลือกเข้า Community Isolation จะต้องมีการตรวจ RT-PCR อีกครั้ง หากผลเป็นลบจะให้แยกกักตัว หากเป็นผู้ป่วยสีแดงและเหลือง จะถูกประสานเข้าโรงพยาบาลเพื่อรับการรักษา แต่อาจต้องตรวจ RT-PCR อีกครั้ง หากมีผลเป็นลบ จะอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ว่าจะทำอย่างไรต่อไป
ส่วนผระชาชนที่พบผลตรวจหาเชื้อจาก Antigen Test Kit เป็นลบ กรณีมีประวัติสัมผัสไม่ชัดเจน ให้สังเกตอาการและทำมาตรการ DMHT คือ เว้นระยะห่าง หมั่นล้างมือ ตรวจวัดอุณหภูมิ และสวมใส่หน้ากากอนามัย แต่กรณีมีประวัติสัมผัสใกล้ชิด ให้ตรวจซ้ำอีกครั้งใน 3-5 วันถัดไป หรือเมื่อมีอาการไข้ ไอ มีเสมหะ และจมูกไม่ได้กลิ่น ทั้งนี้หากมีอาการหอบเหนื่อยร่วมด้วย ขอให้รีบประสานเพื่อเข้าสู่ระบบการรักษา
"การกำจัดขยะติดเชื้อ หากสถานประกอบใดมีระบบกำจัดขยะติดเชื้ออยู่แล้ว ขอให้ใส่ถุงแดงแล้วกำจัดตามระบบ แต่หากไม่มี ขอให้ใส่ถุงสีแดงหรือถุงใส แล้วแช่ในน้ำยาฆ่าเชื้อก่อน ผูกให้ดี สามารถทิ้งเป็นขยะทั่วไปได้" ดร.นพ.อาชวินทร์ กล่าว
ด้าน นพ.ภัทรพล จึงสมเจตไพศาล กลุ่มที่ปรึกษาระดับกระทรวง รักษาในตำแหน่งนายแพทย์ทรงคุณวุฒิ ด้านสาธารณสุข สำนักวิชาการสาธารณสุข สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ได้กล่าวถึงโครงการขับเคลื่อนสุขภาวะคนทำงานในสถานประกอบการ หรือ Healthy Living ด้วยว่า หากผู้ประกอบการยังมีความสงสัย หรืออยากสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับมาตรการควบคุมโรคต่างๆ ในสถานประกอบการ สามารถมาเข้าร่วมโครงการ Healthy Living ของกระทรวงสาธารณสุขได้
โครงการนี้เราจะบูรณาการโดยใช้เครื่องมือ 4 ชุด ได้แก่ Wellness Center ของกรมควบคุมโรค, 10 แพ็คเกจของกรมอนามัย, การตรวจสุขภาพ 14 รายการของสำนักงานประกันสังคม และ Health Literacy การสนับสนุนการบริสุขภาพ และวัคซีนใจ กรมสุขภาพจิต หากผู้ประกอบการสนใจสมัคร โดยเราจะรับเพียงจำนวนจำกัด 300 สถานประกอบการเท่านั้น หลังจากนั้นเราจะมีบริการอบรมให้ความรู้ตัวแทนที่สถานประกอบส่งเข้ามา 2 คน เพื่อให้สถานประกอบการสามารถสร้างสุขภาวะในองค์กรได้อย่างมีประสิทธิภาพ
"ปัจจุบันเราพบวัยทำงานประมาณ 320,000 คนต่อปีเสียชีวิตด้วยโรคต่างๆ ซึ่งปัจจุบันยังมีโควิดเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย หากยังไม่มีการสร้างสุขภาวะที่เหมาะสม เราอาจต้องสูญเสียคนทำงานที่มีผลต่อการสร้างผลผลิตและความก้าวหน้าขององค์กรได้ จึงอยากเชิญชวนให้สถานประกอบเห็นความสำคัญและเข้าร่วมสมัครโครงการ Healthy Living" นพ.ภัทรพล กล่าว
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage