“…ชุดตรวจที่นำมาใช้ในผู้ที่ต้องการตรวจหาเชื้อโควิด จะเป็นการตรวจแบบ Rapid Antigen Test โดยจะเก็บตัวอย่างทางจมูกลึกถึงคอ หรือเก็บจากลำคอเพื่อตรวจหาเชื้อไวรัส ก่อนเข้ากระบวนการตรวจชนิดยืนยันผลจากห้องปฏิบัติการ โดยมีข้อดีคือ ใช้งานง่าย สามารถทราบผลตรวจหาเชื้อได้ภายใน 10-30 นาที และเหมาะสำหรับการประเมินความชุกและการติดเชื้อ ซึ่งจะช่วยลดความแออัดในโรงพยาบาลได้…”
……………………………………………
ด้วยสถานการณ์การระบาดที่รุนแรงมากขึ้น ทำให้มีประชาชนต้องการตรวจหาเชื้อโควิดเชิงรุกเป็นจำนวนมาก จนต้องเข้าแถวเพื่อรอคิวตั้งแต่ช่วงดึกก่อนวันตรวจ และนอนหลับพักผ่อนกันข้างถนน ส่งผลให้หลายหน่วยงานออกมาเรียกร้องให้ภาครัฐออกมาแก้ไขปัญหา เรียกร้องให้สนับสนุนประชาชนเข้าถึงการใช้ชุดตรวจโควิดเบื้องต้นได้
โดย กองควบคุมเครื่องมือแพทย์ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) มีมติเห็นชอบให้ประชาชนสามารถเข้าถึงชุดตรวจโควิดแบบเร็วประเภท Rapid Test แบบตรวจหา Antigen เพื่อตรวจหาเชื้อโควิดได้โดยเร็ว ถือเป็นสัญญาณที่ดีที่จะนำไปสู่การปลดล็อกให้ Rapid Antigen Test เป็นอุปกรณ์ตรวจหาเชื้อโควิดได้เองที่บ้าน
ดังนั้นก่อนที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) จะเตรียมประกาศใช้ชุดตรวจ Rapid Antigen Test นั้น สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ได้รวบรวมแนวทางการใช้งาน ข้อแนะนำ และการเข้าสู่ระบบการรักษาหลังตรวจด้วยชุดตรวจไว มีข้อมูลที่น่าสนใจดังนี้
นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ อธิบายว่า ชุดตรวจโควิดแบบเร็ว (Rapid Test) คือชุดทดสอบอย่างง่าย และรวดเร็ว เป็นการตรวจคัดกรองเบื้องต้น เพื่อตรวจหาเชื้อไวรัส และภูมิคุ้มกัน ก่อนเข้ากระบวนการตรวจชนิดยืนยันผลจากห้องปฏิบัติการ โดยมีข้อดีคือ ใช้งานง่าย สามารถทราบผลตรวจหาเชื้อได้ภายใน 10-30 นาที และเหมาะสำหรับการประเมินความชุกและการติดเชื้อ
ชุดตรวจโควิดแบบเร็ว (Rapid Test) มี 2 ประเภท ประกอบด้วย 1. แบบตรวจหาเชื้อไวรัส (Antigen) เป็นการตรวจองค์ประกอบไวรัส โดยจะเก็บตัวอย่างทางจมูกลึกถึงคอ หรือเก็บจากลำคอ และ 2. ตรวจหาภูมิคุ้มกัน (Antibody) เป็นการตรวจภูมิคุ้มกัน จะใช้การเจาะเลือดตรวจ ซึ่งประเภทที่ 2 นี้ เราจะไม่นิยมใช้ เพราะในปัจจุบันมีการฉีดวัคซีนจำนวนมาก ภูมิคุ้มกันอาจเกิดขึ้นจากการติดเชื้อ หรือจากวัคซีนได้ ซึ่งไม่สามารถแยกได้
“ดังนั้นชุดตรวจที่นำมาใช้ในผู้ที่ต้องการตรวจหาเชื้อโควิด จะเป็นการตรวจแบบ Rapid Antigen Test ซึ่งจะต้องผ่านการรับรองและขึ้นทะเบียนกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ด้วย ปัจจุบันมี 24 ยี่ห้อที่ได้รับอนุญาตให้ผลิตหรือนำเข้า” นพ.ศุภกิจ กล่าว
สำหรับแนวทางการใช้ชุดตรวจ Rapid Antigen Test ในปัจจุบันกระทรวงสาธารณสุขอนุมัติให้โรงพยาบาลทุกแห่งทั้งรัฐและเอกชน ตรวจโควิดด้วยอุปกรณ์ชนิดนี้ เพื่อช่วยลดปัญหาคอขวดที่ประชาชนจำนวนมากรอรับบริการตรวจ RT-PCR และกำลังจะมีการปลดล็อกให้ประชาชนซื้อไปใช้ตรวจได้เองที่บ้าน โดยข้อมูลล่าสุด ณ วันที่ 6 ก.ค.2564 มีบริษัทที่ได้รับการอนุญาตให้ผลิตหรือนำเข้าจาก อย. รวม 24 บริษัท
ส่วนกรณีที่มีความกังวลว่าจะสามารถเบิกงบประมาณการตรวจได้หรือไม่ นพ.ศุภกิจ กล่าวว่า เดิมทีถ้าเข้าเกณฑ์สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ให้เบิกไม่เกิน 450 บาทต่อราย ถ้าตรวจในหน่วยบริการจะเพิ่มค่าบริหารจัดการรวมแล้วไม่เกิน 600 บาทต่อราย อย่างไรก็ตามขณะนี้สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กำลังพิจารณากำหนดเกณฑ์ในการเบิกจ่าย
(นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์)
@ ควรตรวจ 2 ครั้งเว้นห่าง 5-7 วัน
นพ.ศุภกิจ กล่าวอีกว่า การตรวจด้วยหาเชื้อ โดยปกติเมื่อรับเชื้อโควิดเข้าไปในร่างกาย จะต้องใช้เวลาหนึ่งจึงจะสามารถตรวจพบ ไม่ว่าจะเป็นตัวไวรัส องค์ประกอบไวรัส หรือการตรวจหาเชื้อด้วยวิธีการตรวจแบบไหนก็ตาม ซึ่งแต่ละวิธีจะมีความช้า ความเร็วในการตรวจพบเจอแตกต่างกันไป และไม่นานจะมีภูมิคุ้มกันที่ร่างกายสร้างขึ้นมา ซึ่งจะใช้เวลานานกว่าที่จะตรวจพบเจอ
ดังนั้นในกรณีที่ตรวจหาเชื้อด้วย ‘Rapid Antigen Test’ สามารถแบ่งวิธีใช้ออกได้ เป็น 2 กลุ่ม ประกอบด้วย กลุ่มผู้สงสัยที่ไม่มีอาการใด สามารถตรวจ Rapid Antigen Test ได้ โดยเมื่อตรวจแล้วได้ผลเป็นลบ ไม่ได้แปลว่าไม่ติดเชื้อ แต่อาจจะติดน้อยและตรวจไม่เจอ ดังนั้นขอให้หลังตรวจเสร็จหาเชื้อเสร็จแล้ว กักตัวที่บ้านก่อน และมาตรวจใหม่อีกครั้งในอีก 5-7 วัน ถ้าได้ผลเป็นบวก (ติดเชื้อ) จะต้องตรวจยืนยันด้วยการตรวจ RT-PCR ถ้าผลตรวจออกมาเป็นลบจะต้องกลับไปกักตัวเช่นเดียวกัน เพราะถือว่ามีความเสี่ยง แต่ถ้าผลเป็นบวกหรือติดเชื้อ จะนำเข้าระบบในการที่ดูแลผู้ป่วยโควิดต่อไป ซึ่งหากมีอาการไม่มากก็ใช้การแยกกักตัวที่บ้าน (Home Isolation) ต่อไป
กลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงและมีอาการ มีประวัติใกล้ชิดผู้ป่วยยืนยัยนรายก่อนนี้ ปกติแนะนำให้ตรวจ RT-PCR เป็นหลัก เพราะเป็นวิธีมาตรฐานที่ตรวจเจอเชื้อเร็วที่สุด แต่ในกรณีที่สถานบริการรองรับไม่ไหว มีคนตรวจจำนวนมาก อาจใช้ Rapid Antigen Test ก่อนได้ ถ้าใครพบผลบวกตรวจหรือติดเชื้อ ให้ตรวจยืนยันอีกครั้งด้วยวิธี RT-PCR แต่ถ้าผลออกมาเป็นลบและตรวจด้วย RT-PCR แล้วมีผลออกมาเป็นลบด้วยด้วย ให้กลับไปดูแลตัวเองตามระบบให้ตรวจซ้ำอีกครั้งใน 5-7 วัน หรือเมื่อมีอาการทางเดินหายใจ
“ระบบบริการเพื่อตรวจหาเชื้อโควิดนี้ เป็นระบบบริการที่ช่วยตรวจคัดกรองเบื้องต้น เพราะจะได้ลดการไปรอคิว เพื่อให้ผลตรวจช่วยคัดกรองเบื้องต้น เพราะจำนวนหนึ่งไม่ใช่คนที่ติดเชื้อแต่อย่างใด วิธีนี้จะช่วยลดปริมาณการตรวจ RT-PCR ลง ทำให้ประชาชนเข้าถึงบริการมากขึ้น” นพ.ศุภกิจ กล่าว
(คนซ้าย: นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ
คนขวา: นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ )
@ แนวทางการเข้าสู่ระบบรักษา เมื่อผลตรวจโควิดเป็นบวก
หลังจากตรวจหาเชื้อด้วย ‘Rapid Antigen Test’ และ RT-PCR ได้ผลตรวจเป็นบวก หรือพบว่าติดเชื้อทั้งคู่นั้น นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขได้มอบ 2 แนวทางให้โรงพยาบาลพิจารณา คือ 1.ถ้ามีเตียงและผู้ป่วยเข้าหลักเกณฑ์ให้โรงพยาบาลทั้งภาครัฐและเอกชนจัดหาเตียงให้ 2.ถ้าไม่สามารถหาเตียงได้ให้ทำมาตรการแยกกักตัวที่บ้าน (Home Isolation) หรือชุมชน (Community) เพื่อให้ประชาชนเข้ารับการดูแลรักษาต่อในระบบ
ทั้งนี้หากผู้ป่วยแข็งแรงดี มีข้อจำกัดที่เหมาะสม สามารถจัดให้ทำมาตรการแยกกักตัวที่บ้านหรือชุมชนได้เลย เพื่อช่วยลดภาระทางการแพทย์และลดความตื่นตระหนกของประชาชน สำหรับเกณฑ์ในการพิจารณาผู้ป่วยที่สามารถแยกกักตัวที่บ้านได้ มีดังนี้
1. ไม่เป็นผู้ติดเชื้อที่มีอาการ
2. มีอายุไม่เกิน 60 ปี
3. มีสุขภาพแข็งแรง
4. อยู่คนเดียว หรือมีผู้อยู่ร่วมที่พักไม่เกิน 1 คน
5. ไม่มีภาวะอ้วน
6. ไม่มีโรคร่วม เช่น โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง, โรคไตเรื้อรัง, โรคหัวใจและหลอดเลือด, โรคหลอดเลือดสมอง และเบาหวานที่คุมไม่ได้ เป็นต้น
7. ยินยอมแยกตัวในที่พักของตน
โดยสถานพยาบาลจะประเมินผู้ติดเชื้อตามดุลยพินิจของแพทย์ ลงทะเบียน แนะนำการปฏิบัติตัว ติดตามประเมินอาการ และรับส่งผู้ป่วยมารักษาในสถานพยาบาลหากมีอาการรุนแรงขึ้น
ด้าน นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวด้วยว่า สำหรับการแยกกักตัวที่บ้านและชุมชน เราจะมีช่องทางสื่อสารผ่านเทเลคอนเฟอเรนซ์ วิดีโอคอล เพื่อติดตามอาการทุกวัน โดยแพทย์ และพยาบาล วันละ 2 ครั้ง และจะมีช่องทางติดต่อกรณีฉุกเฉินให้ด้วย พร้อมกับจะแจกเครื่องวัดไข้ เครื่องวัดออกซิเจนในเลือด และให้แนะนำวิธีทดสอบง่าย ๆ กรณีสงสัยว่าปอดมีปัญหาหรือไม่ โดยให้วัดออกซิเจนในเลือดก่อนออกกำลังกายลุกนั่ง 1 นาที และวัดซ้ำหลังทำ หากปริมาณออกซิเจนลดลงมากกว่า 3 % จะรับมารักษาที่โรงพยาบาล และมีระบบรีเฟอร์ผู้ป่วยในกรณีฉุกเฉิน
“การแยกกักตัวที่บ้านคือการแอดมิทผู้ป่วยรายใหม่ไว้ดูแลที่บ้านก่อน หากอาการแย่ลงจะรับมาดูแลรักษาที่โรงพยาบาล และเป็นการบริหารจัดการเตียงให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด จากที่ผู้ป่วยต้องอยู่โรงพยาบาล 14 วัน จะนำผู้ป่วยที่รักษา 7 – 10 วันแล้วอาการดีขึ้น ออกไปแยกกักตัวที่บ้าน จะช่วยให้มีเตียงเพิ่มอีกประมาณ 40 – 50% เพื่อรับผู้ป่วยใหม่ สำหรับการแยกกักตัวในชุมชน กรมการแพทย์ กทม. โรงเรียนแพทย์ ได้เตรียมสถานที่แล้ว ส่วนใหญ่ใช้สถานที่โล่งๆ เช่น ศาลาวัด หรือหอประชุมโรงเรียน นอกจากนี้ยังสามารถใช้แคมป์คนงานหรือหมู่บ้านที่มีที่แยกตัวให้กับผู้ติดเชื้อได้ แต่ไม่ควรเกิน 200 คน เพื่อลดความแออัด” นพ.สมศักดิ์ กล่าว
ทั้งหมดนี้เป็นข้อมูลเกี่ยวกับชุดตรวจโควิด Rapid Antigen Test ซึ่งเป็นตัวช่วยคัดกรองหาเชื้อโควิดเบื้องต้น เพื่อลดความแออัดในโรงพยาบาล ในปัจจุบันเปิดให้เข้ารับการตรวจในโรงพยาบาลทั้งรัฐและเอกชนได้แล้ว แต่จะเปิดให้ประชาชนสามารถซื้อใช้เองที่บ้านได้เมื่อไรนั้น จะต้องรอผลการประชุมจากคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติต่อไป
ภาพจาก: Hfocus
อ่านข่าวประกอบ:
ลดปัญหาแออัด! เคาะ Rapid Antigen Test เป็นชุดตรวจโควิดที่บ้าน รอ สธ.อนุมัติ 12 ก.ค.
สธ.เผยครองเตียงทะลุ 3 หมื่น - เปิดให้ผู้ป่วยสีเขียวรักษาตัวเองที่บ้าน-ชุมชนได้
ชมรมเภสัชชนบทร้อง 3 หน่วยงานรัฐ หนุนใช้ชุดตรวจโควิดเบื้องต้นสำหรับประชาชน
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/