ครม.เห็นชอบมาตรการเยียวยาธุรกิจก่อสร้าง-ร้านอาหาร-สถานบันเทิง ธุรกิจกลางคืนที่ได้รับผลกระทบในพื้นที่ กทม.และปริมณฑล รวม 6 จังหวัด จากคำสั่งปิด 1 เดือน รวมกว่า 8,500 ล้านบาท
..............................
ผู้สื่อข่าวรายงานวันที่ 29 มิ.ย.2564 นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบในหลักการมาตรการบรรเทาผลกระทบต่อกลุ่มแรงงานและผู้ประกอบการ ที่ได้รับผลกระทบจากข้อกำหนดควบคุมไวรัสโควิด ฉบับที่ 25 ทั้งแรงงานและผู้ประกอบการที่อยู่ในระบบประกันสังคม และนอกระบบ ในกิจการก่อสร้าง กิจการที่พักแรมและบริการด้านอาหาร กิจกรรมสาขาศิลปะ ความบันเทิงและนันทนาการ และกิจกรรมบริการด้านอื่น ๆ ในระยะเวลา 1 เดือน
สำหรับรูปแบบการช่วยเหลือ กลุ่มแรก คือ แรงงานที่เป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 สัญชาติไทย ซึ่งเป็นเงินช่วยเหลือเพิ่มเติม ในอัตรา 2,000 บาทต่อคน ซึ่งเป็นการให้ความช่วยเหลือเพิ่มเติมจากการให้ความช่วยเหลือผ่านระบบประกันสังคมที่ได้มีการให้ความช่วยเหลือแก่ลูกจ้างและนายจ้างตามกฎกระทรวงการได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณี ว่างงานเนื่องจากมีเหตุสุดวิสัยอันเกิดจากการระบาดของโรคติดต่ออันตรายตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อ พ.ศ. 2563 ในอัตรา 50% ของค่าจ้างรายวัน สูงสุดไม่เกิน 7,500 บาท ตลอดระยะเวลาที่มีคำสั่งปิดสถานที่ แต่ไม่เกิน 90 วัน
กลุ่มที่ 2 ผู้ประกอบการหรือนายจ้าง จะได้รับความช่วยเหลือตามจำนวนลูกจ้างสูงสุดไม่เกิน 200 คน ในอัตรา 3,000 บาทต่อคน และกลุ่มที่ 3 ผู้ประกอบการหรือนายจ้างที่ไม่ได้อยู่ในระบบประกันสังคม แยกเป็น 3 กรณี คือ กรณีที่เป็นผู้ประกอบการที่มีลูกจ้าง ให้ลงทะเบียนกับสำนักงานประกันสังคมภายในเดือนก.ค.64 จะได้รับเงินช่วยเหลือตามจำนวนลูกจ้างสูงสุด ไม่เกิน 200 คน ในอัตรา 3,000 บาทต่อคน และลูกจ้างที่เป็นสัญชาติไทยจะได้รับความช่วยเหลือในอัตรา 2,000 บาทต่อคน
กรณีที่เป็นผู้ประกอบการที่ไม่มีลูกจ้างให้ลงทะเบียน ผ่านแอปพลิเคชันถุงเงิน ผ่านโครงการคนละครึ่ง ภายในเดือนก.ค.เช่นกัน โดยผู้ประกอบการ จะได้รับความช่วยเหลือในอัตรา 3,000 บาท และกรณีที่เป็นผู้ประกอบการร้านอาหาร เครื่องดื่ม ของโครงการคนละครึ่งที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนกับสำนักงานประกันสังคม เนื่องจากไม่มีลูกจ้าง จะได้รับการช่วยเหลือในอัตรา 3,000 บาท สำหรับผู้ประกอบการที่อยู่ในโครงการคนละครึ่งและมีลูกจ้างแต่ยังไม่อยู่ในระบบประกันสังคมให้ลงทะเบียนกับสำนักงานประกันสังคมภายในเดือนก.ค.นี้
ส่วนมาตรการอื่น ๆ ได้ขอให้กระทรวงการคลังทำโครงการต่างๆ ทั้ง โครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ระยะที่ 3 โครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 3 และ โครงการยิ่งใช้ยิ่งได้ ขณะที่มาตรการให้ความช่วยเหลือในระยะต่อไป ได้ขอเร่งให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการ โดยเฉพาะผู้ประกอบการเอสเอ็มอีทั่วประเทศ โดยให้กระทรวงแรงงาน เร่งประชาสัมพันธ์ให้ผู้ประกอบการที่มีลูกจ้างมาลงทะเบียนในระบบประกันสังคม และให้สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ประสานกับกระทรวงแรงงาน และกระทรวงการคลัง เพื่อออกแนวทางการช่วยเหลือต่อไป
นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการ สศช. กล่าวว่า วงเงินที่ใช้ในการเยียวยาครั้งนี้ ปรับเพิ่มขึ้นจากเดิมตามมติในที่ประชุมร่วมกับนายรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 28 มิ.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งกำหนดวงเงินไว้ 4,000 ล้านบาท ปรับเพิ่มเป็น 5,000 ล้านบาท จาก พ.ร.ก.กู้เงินฯ 1 ล้านล้านบาท เพราะต้องเตรียมความพร้อมไว้รองรับกรณีที่อาจมีผู้เข้ามาในระบบมากขึ้น ทั้งระบบประกันสังคม และลงทะเบียนผ่านแอปพลิเคชันถุงเงิน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าการช่วยเหลือเยียวยาส่วนนี้ ยังไม่รวมวงเงินช่วยเหลือผ่านกองทุนประกันสังคมที่ชดเชยจากมีเหตุสุดวิสัย ในอัตรา 50% ของค่าจ้างรายวัน ซึ่งจะใช้เงินจากกองทุนประกันสังคม 3,500 ล้านบาท
อ่านประกอบ:
เตรียม 7.5 พันล้าน เยียวยาพิเศษผู้ประกอบการ-ลูกจ้าง 6 จว.ย้ำไม่เลื่อน'คนละครึ่ง'
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage