พิษโควิด ทำ'กลุ่มผลิตงานในบ้าน' ขาดรายได้ ไร้รัฐเยียวยา 4 วิทยากรแนะรัฐ จัดหาวัคซีน ขยายพื้นที่ตรวจคัดกรองเชิงรุก เปิดให้ค้าขายสินค้าชุมชนในพื้นที่แซนด์บ็อกซ์
................................................
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 2 มิ.ย.2564 สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้จัดงานเสวนาสาธารณะเรื่องผลกระทบ การรับมือ และการฟื้นฟูชีวิตความเป็นอยู่และงานของแรงงานนอกระบบ ของกลุ่มผู้รับงานหรือทำการผลิตที่บ้าน ผ่านเฟซบุ๊ก สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดย ดร.มยุรี เสือคำราม กล่าวถึงงานวิจัย ร่วมกับ นางบุญสม น้ำสมบูรณ์ เลขาธิการมูลนิธิเพื่อการพัฒนาแรงงานและอาชีพ ที่ศึกษากลุ่มอาชีพผู้ผลิตที่บ้าน 2 กลุ่ม ประกอบด้วย ผู้รับงานมาทำที่บ้าน (Homeworkers) ได้แก่ เย็บผ้า และผลิตภัณฑ์จากผ้า และผู้ผลิตเพื่อขาย (Self-employed) ได้แก่ แกะสลัก
จากการสำรวจกลุ่มคนเย็บผ้า พบว่าเป็นเพศหญิงถึง 90% ส่วนใหญ่แต่งงาน และมีอายุ 35-50 ปี มักจบการศึกษาอยู่ในระดับประถมศึกษา ประกอบอาชีพในลักษณะงานโหลและงานประณีต ที่สามารถยืดหยุ่นและเลือกเวลาทำงานได้ มีค่าตอบแทนเฉลี่ย 8 ชั่วโมงต่อวันอยู่ที่ 377 - 405 บาท ซึ่งคนเย็บผ้าครึ่งหนึ่งระบุว่ารายได้ไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพ
นอกจากนี้ยังพบว่า ในการจ้างงานและสัญญาจ้างโดยปกติ ในช่วงก่อนการแพร่ระบาดของโควิด มักอาศัยความไว้เนื้อเชื่อใจ ไม่มีสัญญาเป็นลายลักษณ์อักษร สามารถเลิกจ้าง เพิ่มหรือลดจำนวนได้ดังนั้นเมื่อเกิดวิกฤติจึงสามารถหยุดจ้างงาน ถูกเร่งงานให้เร็วและดีได้เช่นเดียวกัน
"ขณะเดียวกันเนื่องจากกลุ่มอาชีพนี้ส่วนใหญ่เป็นเพศหญิง ซึ่งมักถูกความคาดหวังของสังคมและครอบครัว โดยเฉพาะในพื้นที่ต่างจังหวัด ที่ต้องดูแลบุคคลภายในครอบครัว และต้องหาเลี้ยงชีพเพื่ออุปการะพ่อแม่ด้วย ทำให้ภาระงานของเขาหนักมาก ทำให้ถูกกีดกันออกจากการพัฒนาขีดความสามารถทางด้านอาชีพอย่างเต็มที่ เนื่องจากต้องทำหลายอย่างในเวลาเดียวกัน ประกอบกับความไม่เท่าเทียมทางเพศ การที่ผู้หญิงจะไปประกอบอาชีพข้างนอกคงยาก และไม่สามารถเข้าสู่ระบบแรงงานในระบบได้" นางมยุรี กล่าว
ส่วนกลุ่มคนแกะสลัก นางบุญสม กล่าวด้วยว่า คนส่วนใหญ่ในกลุ่มนี้ มักทำเป็นอาชีพหลัก แต่มีงานไม่ต่อเนื่อง รายได้ขึ้นอยู่กับทักษะและชั่วโมงการทำงานในแต่ละวัน ทำให้มีรายได้ไม่คงที่
สำหรับการจ้างงานและสัญญาจ้าง จะเหมือนกลุ่มคนเย็บผ้า ที่ไม่มีสัญญาจ้างเป็นลายลักษณ์อักษร แต่จะเป็นการพูดด้วยวาจา เพราะหากใครร้องขอ ผู้ว่าจ้างส่วนใหญ่จะปฏิเสธ สะท้อนให้เห็นว่า พ.ร.บ.คุ้มครองผู้รับงานไปทำที่บ้าน พ.ศ.2554 ว่าด้วยสัยญาจ้าง อัตราค่าจ้าง รวมถึงความปลอดภัยในการทำงาน ยังไม่ค่อยมีผลบังคับใช้
ขณะที่ นายมานพ แก้วผกา นายกสมาคมเครือข่ายแรงงานนอกระบบแห่งประเทศไทย และผู้ประกอบอาชีพเย็บผ้า กล่าวอีกว่า จากเดิมที่เราเคยเรียกร้องความเป็นธรรมในการจ้างงานมาตลอด ให้เราได้รับค่าจ้างที่เหมาะสมได้รับความคุ้มครองความปลอดภัยในการทำงาน แต่ในปัจจุบันเมื่อมีการแพร่ระบาดของโควิด ตลาดหลายแห่งต้องปิด อาทิ ตลาดโบ้เบ้ หรือประตูน้ำ ร้านค้าหลายร้านอยู่ไม่ได้ ทำให้ไม่มีการจ้างงานกลุ่มคนเย็บผ้า ออเดอร์ของเราลดลงไปมาก จนถึงแทบไม่มีเลย เราแทบไม่มีรายได้ และไม่สามารถได้รับการเยียวยาอย่างแรงงานในระบบ ตอนนี้เรากลับต้องถอยมาเพื่อต่อสู้ให้เราได้มีงานทำ ขอแค่มีงานทำ จะคุ้มค่าจ้างหรือไม่ ไม่เป็นไร ทุกคนต่างยอมลดค่าจ้างของตัวเองหมด
"เราเคยส่งเงินเข้าสู่ระบบประกันสังคม ต่อมาภายหลังเนื่องจากพิษของโควิด เราไม่สามารถส่งเงินเข้าสู่ระบบประกันสังคมต่อได้อีก เพราะเราไม่มีรายได้เพียงพอ เราต้องเลือกระหว่างการจ่ายค่าน้ำค่าไฟ หรือค่าประกันสังคม ซึ่งเป็นเวลา 6 เดือนแล้วที่เราไม่ได้ส่ง ดังนั้น เจ็บ ป่วย หรือทุพพลภาพ เราจะไม่ได้รับการเยียวยาอะไรแล้ว ตอนนี้เราเลยไม่ได้คาดหวังกับประกันสังคมไปมากกว่านี้ ถ้าเราไปร้องขอ หรือโต้แย้งอะไรภาครัฐมาก จะเหมือนเราไปชวนทะเลาะ จริงๆเราอยากตอบว่าเราไม่เห็นด้วยที่ประกันสังคมช่วยออก 40% เราจ่าย 60% ตอนนี้เราไม่มีแรงแล้ว เราเลยปล่อยผ่าน แต่ในใจลึกๆก็อยากให้รัฐเข้ามาช่วยในส่วนนี้" นายมานพ กล่าว
ด้าน นางสาวพุทธิณี โพัฒน์ตา มูลนิธิเพื่อการพัฒนาแรงงานและอาชีพ กล่าวด้วยเช่นเดียวกันว่า ที่ผ่านมาทางมูลนิธิได้เห็นความเดือดร้อนจากผลกระทบของโควิดที่มีมาตั้งแต่การระบาดระลอกแรกสะสมมาจนถึงระลอกที่ 3 แรงงานนอกระบบหลายคนต้องประสบกับขาดแคลนอาหาร ไม่มีรายได้ หรือซึมเศร้า
"แม้ว่าจะมีนโยบายให้กู้ยืม หรือการเปิดสอนการใช้ระบบออนไลน์ขายสินค้า แต่สิ่งเหล่านี้ไม่ตอบโจทย์ เพราะหลายคนไม่มีรายได้ ไม่รู้ว่าจะมีรายได้เมื่อไร คิดว่าตัวเองไม่มีเงินส่งจึงไม่กล้ากู้ยืม หรือการเปิดสอนการใช้ระบบออนไลน์ หลายคนเป็นผู้มีอายุมากกว่า 40 ปี ซึ่งเขาไม่ค่อยเข้าใจในเทคโนโลยีเท่าไร การเรียนเพียงครั้งเดียว ไม่สามารถทำให้เขาหันไปทำธุรกิจสตาร์ทอัพได้" นางสาวพุทธิณี กล่าว
ด้วยสิ่งที่กลุ่มผู้รับงานหรือทำการผลิตที่บ้านต้องเผชิญในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด ทั้ง 4 วิทยากรแนะให้ภาครัฐมีการวางแผนและเปิดเผยมาตรการในการควบคุมสถานการณ์โควิดที่ชัดเจน เพื่อให้มีความมั่นใจและสามารถวางแผนการประกอบอาชีพได้ล่วงหน้า รวมถึงขอให้มีการจัดหาวัคซีน การใช้แพทย์แผนไทยรักษาผู้ป่วยโควิดร่วมด้วย การขยายจุดตรวจคัดกรองเชิงรุก และการเปิดให้มีการค้าขายผลงานทางวัฒธรรมให้เข้าไปขายในโครงการแซนด์บ็อกซ์ได้ เพื่อช่วยเหลือเยียวยา
กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage