'สภาองค์กรของผู้บริโภค' ยื่นหนังสือถึง ‘ครม.’ ขอให้ชะลอเข้าร่วม CPTPP พร้อมศึกษาผลกระทบ ‘ด้านบวก-ด้านลบ’ ก่อนนำมาเผยแพร่ต่อสาธารณชน แจงผลกระทบด้้านลบที่มีต่อผู้บริโภค 10 ประเด็น หากไทยเข้าร่วมภาคีฯ
.......................
เมื่อวันที่ 27 มิ.ย. สภาองค์กรของผู้บริโภค ซึ่งจัดตั้งตามพ.ร.บ.การจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภค พ.ศ.2562 จัดทำข้อเสนอแนะไปยังคณะรัฐมนตรี (ครม.) ของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี โดยขอให้ ครม. ชะลอการแสดงความจำนงเข้าร่วมความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP) จนกว่าการศึกษาวิจัยเปรียบเทียบผลกระทบด้านบวกและด้านลบแล้วเสร็จ
“ขอให้เร่งดำเนินการศึกษาวิจัยเปรียบเทียบผลกระทบด้านบวกและด้านลบจากการเข้าร่วมความตกลง CPTPP และนำเสนอผลการศึกษาวิจัยเปรียบเทียบต่อสาธารณะทันทีเมื่อแล้วเสร็จ หากข้อมูลพบผลกระทบด้านลบมากกว่าผลดีที่จะเกิดขึ้น ขอให้รัฐบาลมีมติหยุดการเข้าร่วมเจรจาความตกลง CPTPP ต่อไป ส่วนหากมีผลกระทบด้านบวกมากกว่าและสรุปได้ว่าการเข้าร่วมฯ จะก่อให้เกิดผลได้มากกว่าผลเสียอย่างมีนัยสำคัญ ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมความพร้อมในด้านต่างๆ เช่น งบประมาณ อัตรา บุคลากร ศักยภาพของบุคลากร ระเบียบกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ฯลฯ” ข้อเสนอของสภาองค์กรของผู้บริโภค ระบุ
ทั้งนี้ หนังสือข้อเสนอแนะที่สภาองค์กรของผู้บริโภคจัดทำขึ้นและเสนอไปยัง ครม. มีการระบุถึงผลกระทบด้านลบที่ผู้บริโภคจะได้รับหากประเทศไทยเข้าร่วมความตกลง CPTPP ใน 10 ประเด็น ได้แก่
1.ประเทศไทยจะมีค่าใช้จ่ายด้านยาของประเทศสูงขึ้น และอุตสาหกรรมผลิตยาภายในประเทศจะชะงักงันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะมาตรการ Patent Linkage จะทำให้การขึ้นทะเบียนยาของยาชื่อสามัญล่าช้าออกไป เพราะต้องรอกระบวนการศาลจะสิ้นสุดเสียก่อน
2.ประเทศไทยจะถูกจำกัดการใช้มาตรการต่างๆ เพื่อการเข้าถึงยาที่จำเป็นและพิทักษ์และคุ้มครองสุขภาพของประชาชน เช่น การประกาศใช้สิทธิตามสิทธิบัตรยาโดยรัฐ (Compulsory Licensing) และการกำหนดข้อความคำเตือนบนบรรจุภัณฑ์บุหรี่และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพื่อเป็นมาตรการป้องปรามนักสูบและนักดื่มหน้าใหม่ เป็นต้น เนื่องจากสุ่มเสี่ยงต่อการถูกฟ้องร้องตามข้อบทว่าด้วยการคุ้มครองการลงทุน
3.รัฐบาลไทยจะไม่สามารถสนับสนุนองค์การเภสัชกรรมให้ปฏิบัติพันธกิจส่งเสริมการเข้าถึงยาและความมั่นคงทางยาของประเทศอีกต่อไป เพราะความตกลง CPTPP ในบทว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐ จะไม่อนุญาตให้รัฐให้สิทธิพิเศษกับหน่วยงานรัฐวิสาหกิจหรืออุตสาหกรรมภายในประเทศในการจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐ และต้องเปิดโอกาสให้เอกชนต่างชาติเข้ามาดำเนินการแข่งขันอย่างเสมอภาค
4.ไทยถูกบังคับให้นำเข้าเครื่องมือแพทย์ใช้แล้วที่ผ่านกระบวนการผลิตซ้ำหรือผลิตใหม่ ในขณะที่ประเทศยังไม่มีศักยภาพในการควบคุมกำกับเครื่องมือแพทย์เหล่านี้ ส่งผลให้ผู้ป่วยอาจได้รับ การวินิจฉัยและการรักษาโรคผิดพลาดหรือไม่ได้มาตรฐานได้
“ปัจจุบันประเทศไทยยังไม่มีหน่วยงานที่มีศักยภาพและความเชี่ยวชาญที่จะดูแลมาตรฐานคุณภาพของเครื่องมือแพทย์ที่ใช้แล้ว ซึ่งส่งผลต่อความปลอดภัยสำหรับประชาชนได้ และเครื่องมือแพทย์ “มือสอง” เหล่านี้ จะก่อปัญหาจากขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่เพิ่มขึ้น เพราะเครื่องมือเหล่านี้จะมีอายุการใช้งานที่สั้นกว่าเครื่องมือแพทย์ใหม่ และประเทศไทยยังขาดระบบจัดการและกำจัดขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่มีประสิทธิภาพ”
5.ผู้บริโภคจะได้รับความเสี่ยงจากภัยของเครื่องสำอางที่ด้อยคุณภาพ เนื่องจากความตกลง CPTPP กำหนดไม่ให้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กำหนดให้มีการระบุเลขที่จดแจ้งบนผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง ซึ่งถือว่าเป็นเครื่องมือสำคัญในการติดตามและตรวจสอบและคุ้มครองผู้บริโภคจากสินค้าเครื่องสำอางที่เป็นภัย
6.ผู้บริโภค จะได้รับความเสี่ยงจากการจำหน่ายสินค้าออนไลน์ เนื่องจากความตกลง CPTPP กำหนดไม่ให้หน่วยงานรัฐบังคับให้บริษัทที่จัดจำหน่ายสินค้าออนไลน์ ต้องมีหน้าที่ขึ้นทะเบียนสินค้าและบริการในประเทศ ทำให้การติดตาม ความรับผิดต่อสินค้าและบริการที่เป็นอันตรายทำได้ยากยิ่งขึ้น หรือการชดเชยความเสียหายต่อผู้บริโภคเป็นสิ่งที่ไม่อาจทำได้
7.ความตกลง CPTPP กำหนดให้ต้องลดภาษีนำเข้าสินค้าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ บุหรี่และยาสูบ ส่งผลให้เข้าถึงอบายมุขเหล่านี้มากขึ้น ในขณะที่ในช่วงที่ผ่านมาไทยมีการใช้งบประมาณด้านสุขภาพที่มากขึ้น เนื่องจากจากอุบัติเหตุและการเจ็บป่วยที่มีสาเหตุจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ บุหรี่และยาสูบที่มากขึ้น นอกจากนี้ ภาครัฐอาจถูกธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หรือบริษัทบุหรี่ข้ามชาติแทรกแซงนโยบายหรือมาตรการควบคุมสินค้าทำลายสุขภาพดังกล่าวได้
8.ฐานทรัพยากรด้านสมุนไพรของไทย ซึ่งสามารถจะพัฒนาต่อยอดเป็นยาและเวชภัณฑ์ อาจถูกยึดครองด้วยบรรษัทต่างชาติ เนื่องจากข้อกำหนดในความตกลง CPTPP กำหนดให้ประเทศสมาชิกต้องแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องให้เป็นไปตามอนุสัญญา UPOV 1991 ซึ่งทำให้ประเทศต้องตัดข้อกำหนดกลไกการขออนุญาตล่วงหน้า (prior informed consent) และแบ่งปันผลประโยชน์ (benefit sharing) จะทำให้บริษัทต่างชาติสามารถนำพันธุ์พืชสมุนไพรของไทยไปปรับปรุงพันธุ์และขอรับการคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ ซึ่งจะทำให้สูญเสียรายได้จากการทรัพยากรชีวภาพ
9.เกษตรกรที่ซื้อพันธุ์พืชใหม่มาปลูกจะต้องจ่ายค่าเมล็ดพันธุ์ในราคาสูงขึ้น 2-6 เท่า เนื่องจากการขยายสิทธิของนักปรับปรุงพันธุ์และบริษัทเมล็ดพันธุ์ภายใต้อนุสัญญา UPOV 1991 เป็นการริดรอนสิทธิของเกษตรกรในการเก็บพันธุ์พืชใหม่ไปปลูกต่อในฤดูถัดไป และแนวโน้มการรวมศูนย์ของบริษัทเมล็ดพันธุ์ขนาดใหญ่ จะทำให้เกษตรกรต้องซื้อเมล็ดพันธุ์พืชใหม่ทุกฤดูปลูก
ขณะที่รายงานการศึกษาที่ได้รับการสนับสนุนโดยสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติเมื่อปี 2556 พบว่า ในระยะยาวหากเกษตรต้องซื้อเมล็ดพันธุ์พืชใหม่จากบริษัทเมล็ดพันธุ์ทั้งหมด ราคาเมล็ดพันธุ์ที่เกษตรกรจะต้องซื้อราคาเมล็ดพันธุ์สูงขึ้นประมาณ 2-6 เท่า หรือคิดเป็นมูลค่าเพิ่มขึ้นจาก 28,538 ล้านบาทต่อปี เป็น 80,721-142,932 ล้านบาทต่อปี หรือเพิ่มขึ้น 52,183-114,394 ล้านบาท/ปี
10.ผู้บริโภคอาจได้รับอันตรายจากผลิตภัณฑ์ที่มีหรือปนเปื้อนสารตัดแต่งพันธุกรรม (GMO) และการปนเปื้อนสารเร่งเนื้อแดงในเนื้อหมูและเครื่องในหมู เพราะในข้อ 8 ของความตกลง CPTPP บทว่าด้วยการค้าสินค้าที่ผลิตด้วยเทคโนโลยีชีวภาพสมัยใหม่ ภายใต้มาตรา Article 2.27: Trade of Products of Modern Biotechnology นั้น มีเจตนาลดอุปสรรคในการค้าผลิตภัณฑ์จีเอ็มโอโดยตรง
อ่านประกอบ :
มอง CPTPP ผ่านเลนส์ SDGs: การพัฒนาที่ไม่สมดุล
‘สภาฯผู้บริโภค’ จี้ ‘ครม.-กนศ.’ชะลอยื่นหนังสือร่วม CPTPP ชี้คนส่วนใหญ่ไม่ได้ประโยชน์
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/