‘สภาองค์กรของผู้บริโภค’ ยื่นหนังสือถึงนายกฯ เรียกร้อง ‘ครม.-กนศ.’ ชะลอการส่งหนังสือแสดงความจำนงเข้าร่วม CPTPP ชี้ส่งผลกระทบต่อคนไทยทั้งประเทศ แต่คนส่วนน้อยได้ประโยชน์
....................
เมื่อวันที่ 4 มิ.ย.ที่ผ่านมา สภาองค์กรของผู้บริโภค ยื่นหนังสือถึงพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี โดยเรียกร้องให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) คณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ (กนศ.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ชะลอการส่งหนังสือแสดงเจตจำนงเข้าร่วมความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP) และขอให้รัฐบาลมองประโยชน์ของประชาชนที่เป็นผู้บริโภคส่วนใหญ่ มากกว่าผลประโยชน์ทางธุรกิจของกลุ่มคนส่วนน้อยของประเทศ
ทั้งนี้ สภาองค์กรของผู้บริโภค ระบุว่า แม้ว่าผลการศึกษาตามแบบจำลองทางเศรษฐศาสตร์เกี่ยวกับผลกระทบของ CPTPP ที่มีต่อเศรษฐกิจไทย ซึ่งจัดจ้างศึกษาโดยกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ จะสรุปได้ว่า การเข้าร่วม CPTPP จะช่วยให้เศรษฐกิจโดยรวมของประเทศไทย (GDP) ขยายตัว 0.12% คิดเป็นมูลค่า 13,320 ล้านบาท การลงทุนขยายตัว 5.14% คิดเป็นมูลค่า 148,240 ล้านบาท
แต่คณะกรรมาธิการวิสามัญฯศึกษา CPTPP ของสภาผู้แทนราษฎร ได้ตั้งข้อสังเกตถึงผลการศึกษาดังกล่าวว่า ไม่ได้คำนึงถึงบริบททางสังคมและบทบาทของผู้ที่เกี่ยวข้องที่มิใช่รัฐ (Non-state actor) อีกทั้งยังเป็นการศึกษาเชิงมหภาคที่ไม่สามารถนำมาวิเคราะห์ผลกระทบต่อประเด็นรายละเอียดเชิงลึกได้ รวมถึงการตั้งสมมุติฐานการเปิดเสรีการค้าทันทีร้อยละ 100 ของผลการศึกษายังไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง
“การวิเคราะห์ผลกระทบต่อการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) โดยแบบจำลองไม่ได้คำนึงถึงปัจจัยอื่น ๆ อาทิ ศักยภาพการบังคับใช้กฎหมาย กฎระเบียบในประเทศที่สนับสนุนให้เกิดการลงทุน เป็นต้น ดังนั้น การเข้าร่วม CPTPP อาจไม่ใช่ปัจจัยหลักที่จะช่วยให้ไทยได้รับเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ” สภาองค์กรของผู้บริโภคระบุ
สภาองค์กรของผู้บริโภคยังชี้ว่า หากไทยเข้าร่วม CPTPP จะส่งผลกระทบด้านลบต่องบประมาณและค่าใช้จ่ายของประเทศ โดยสภาเภสัชกรรมจัดทำข้อเสนอถึง กนศ. เมื่อเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา พบว่า จะเกิดผลกระทบไม่น้อยกว่า 4.2 แสนล้านบาท ในระยะเวลา 30 ปี รวมทั้งมูลค่าของอุตสาหกรรมผลิตยาในประเทศลดลงถึง 1 แสนล้านบาท ซึ่งค่าใช้จ่ายด้านยาที่เพิ่มขึ้นส่งผลกระทบโดยตรงต่องบประมาณในการจัดบริการสาธารณสุขของภาครัฐ โดยเฉพาะค่าใช้จ่ายด้านยาในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ
นอกจากนี้ จากการคาดการณ์ผลกระทบของ CPTPP ในระยะเวลาประมาณ 30 ปี (2562 - 2590) ประเทศไทยจะมีภาระค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพที่เพิ่มขึ้นมาจากการพึ่งพิงการนำเข้ายาที่สูงมาก ซึ่งส่งผลต่อค่าใช้จ่ายด้านยาที่สูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ และจะมีผลกระทบต่อความมั่นคงด้านยาของประเทศอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยสรุปดังนี้
1.ค่าใช้จ่ายด้านยาเพิ่มขึ้นสูงสุด เฉลี่ยปีละ 14,000 ล้านบาท
2.สัดส่วนการพึ่งพิงนำเข้ายาเพิ่มขึ้นจากปัจจุบัน 71% เพิ่มเป็น 89%
3.มูลค่าตลาดของอุตสาหกรรมผลิตยาในประเทศลดลง คิดเป็นมูลค่าตลาดที่หายไปสูงสุดถึง 1 แสนล้านบาท
“จากเหตุผลข้างต้น สภาองค์กรของผู้บริโภคขอเสนอให้ ครม. กนศ. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับความตกลง CPTPP ตระหนักในผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับประชาชนไทยทั้งประเทศ หากมีการเดินหน้าเข้าสู่กระบวนการเจรจาเข้าร่วมความตกลง CPTPP ดังนั้น สภาองค์กรของผู้บริโภค ขอให้ชะลอการส่งหนังสือแสดงเจตจำนงเข้าร่วม CPTPP” สภาองค์กรของผู้บริโภคระบุ
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/