ธปท.เตรียมเปิดรับฟังความเห็นแนวทางกำกับดูแลคริปโทเคอร์เรนซีประเภท ‘Stablecoins’ ก่อนประกาศแนวทางกำกับในปีนี้ พร้อมขยายผลการใช้ 'สกุลเงินดิจิทัล' ที่ออกโดยธนาคารกลาง ไปยัง ‘รายย่อย’
..................
เมื่อวันที่ 19 มี.ค. น.ส.สิริธิดา พนมวัน ณ อยุธยา ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายระบบการชำระเงินและเทคโนโลยีทางการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยในงาน Media Briefing เรื่อง แนวนโยบายกำกับดูแลคริปโทเคอร์เรนซีประเภท Stablecoin (มีกลไกรักษาเสถียรภาพ) ว่า ธปท.เตรียมเปิดรับความคิดเห็นผ่าน consultative paper เกี่ยวกับแนวทางที่เหมาะสมในการกำกับดูแล ก่อนจะประกาศแนวทางการกำกับดูแล Stablecoin ภายในปีนี้
สำหรับคริปโทเคอร์เรนซีประเภท Stablecoin ได้แก่ 1.ประเภทที่มีเงินตราต่างประเทศหนุนหลัง (FX-backed Stablecoin) 2.ประเภทที่มีสินทรัพย์ที่มีมูลค่าอื่นๆ หนุนหลัง (Asset-backed Stablecoin) และ3.ประเภทที่ใช้กลไกอื่น ๆ เพื่อประมวลผลให้สามารถคงมูลค่าได้ แม้ไม่มีสินทรัพย์หนุนหลัง (Algorithmic Stablecoin) ที่มิได้เข้าข่ายผิดกฎหมาย
“Stablecoin ที่มีเงินตราต่างประเทศหรือมีสินทรัพย์หนุนหลัง หรือมีการประยุกต์ใช้โปรแกรมเพื่อรักษามูลค่า เราจะเปิดรับฟังความเห็นจากภาคส่วนต่างๆที่เกี่ยวข้อง โดยจะมีการออกแนวคิดของธปท. หรือ consultative paper เพื่อให้เอกชนและผู้ที่เกี่ยวข้องรับทราบแนวคิดของธปท. และเปิดรับฟังความคิดเห็น ก่อนที่จะมากำหนดแนวทางกำกับดูแลที่เหมาะสมต่อไป ซึ่งการประกาศแนวทางการกำกับดูแลดังกล่าวจะประกาศได้ภายในปีนี้” น.ส.สิริธิดากล่าว
ส่วน Stablecoin ประเภทที่มีเงินบาทหนุนหลัง (Baht-backed Stablecoin) ซึ่งเป็นคริปโทเคอร์เรนซีประเภทที่พยายามลดความผันผวนโดยผูกมูลค่ากับเงินบาท และนำมาใช้เป็นสื่อกลางในการชำระเงินนั้น อาจมีลักษณะเข้าข่ายเป็นบริการเงินอิเล็กทรอนิกส์ (e-Money) ภายใต้ พ.ร.บ.ระบบการชำระเงิน พ.ศ. 2560 ที่ ธปท. กำกับดูแลความเสี่ยงในมิติต่างๆ ได้แก่ ด้านการชำระราคา ด้านการฟอกเงิน ด้านความปลอดภัยทางเทคโนโลยี และด้านการคุ้มครองผู้ใช้บริการ
ดังนั้น จึงขอให้ผู้ที่ประสงค์จะให้บริการในลักษณะดังกล่าวหารือกับ ธปท. เพื่อพิจารณาก่อนเริ่มดำเนินการต่อไป
นอกจากนี้ ธปท.อยู่ระหว่างพิจารณากำหนดหลักเกณฑ์การกำกับดูแลสกุลเงินดิจิทัลที่ออกโดยธนาคารกลาง (Central Bank Digital Currency : CBDC) ในกลุ่มของประชาชนรายย่อย (Retail) โดยจะมีการออก direction paper เพื่อชี้แจงแนวคิดของธปท. เพื่อให้ภาคเอกชนและประชาชนศึกษา รวมทั้งจะมีการรับฟังความคิดเห็นต่อไป จากปัจจุบันที่ธปท.นำร่องการใช้สกุลเงินดิจิทัลที่ออกโดยธนาคารกลาง ในกลุ่มธุรกิจ (Wholesale) ภายใต้โครงการอินทนนท์ไปแล้ว
น.ส.สิริธิดา กล่าวถึงกรณีที่ธปท.แจ้งเตือนประชาชนไม่ให้เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับ Stablecoin ที่เรียกว่า THT บน Terra Platform ในต่างประเทศ ซึ่งระบุให้ 1 หน่วยของมูลค่า THT เป็น 1 บาท ว่า THT เป็น Stablecoin ประเภทที่ใช้กลไกมาประมวลผลเพื่อให้มูลค่าไม่ผันผวน แต่เนื่องจากไม่มีสกุลเงินบาทหนุนหลัง แต่กลับมีการอ้างอิงกับเงินบาท รวมทั้งไม่ได้เป็นผู้ที่ผลิตเงินบาท หรือทำให้เกิดความเข้าใจผิดว่าเป็นผู้ผลิตเงินบาท จึงเป็นการกระทำผิดพ.ร.บ.เงินตราฯ
“เราไม่ต้องการเห็นสกุลเงินบาทออกโดยหลายที่ ขณะเดียวกัน เราเองมองว่า ธนาคารกลาง คือ ธปท. มีหน้าที่ดูแลมูลค่า เพื่อดูแลให้ผู้ใช้เงินบาทใช้เงินบาทได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย และมีการดูแลมูลค่าอย่างต่อเนื่อง เป็นมูลค่าที่คงที่ ไม่ผันผวน ไม่ใช่ว่าวันนี้ซื้อของได้ 10 บาท แต่อีกวันซื้อของได้ 1 บาท เราต้องการให้มีกลไกคุ้มครองดูแลผู้ใช้ คือ ประชาชนทั่วไป” น.ส.สิริธิดากล่าว
น.ส.สิริธิดา ระบุว่า นโยบายการกำกับดูแล Stablecoin ของธปท.ดังกล่าว สอดคล้องกับแนวทางการกำกับดูแลในหลายประเทศ อาทิ อังกฤษ สิงคโปร์ ญี่ปุ่น เป็นต้น ทั้งนี้ ธปท.จะติดตามพัฒนาการของเทคโนโลยีใหม่ๆ ในภาคการเงินอย่างใกล้ชิด โดยพิจารณาถึงประโยชน์และความเสี่ยงที่เกี่ยวข้อง เพื่อนำมากำหนดนโยบายที่จะช่วยส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาอย่างต่อเนื่องควบคู่ไปกับการรักษาเสถียรภาพระบบการเงินของประเทศ
อ่านประกอบ :
เพิ่มประสิทธิภาพได้ดี! ธปท.เผยผลทดสอบใช้ ‘เงินดิจิทัลฯ’ ชำระเงินในภาคธุรกิจ
‘แบงก์ชาติ’ เล็งทดลองโอนเงินดิจิทัล ‘บุคคลต่อบุคคล’ ไม่ผ่านตัวกลาง-ดับฝัน 'ลิบรา'
‘ธปท.- HKMA’ ขยายผล ‘Inthanon-LionRock’ โอนเงินข้ามประเทศ ไม่ผ่านตัวกลาง
ธปท. ตั้งคณะทำงานศึกษา Libra และพร้อมหารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/