ธปท.ต่อยอดโครงการ ‘อินทนนท์’ เผยมีแผนทดลองระบบการโอน ‘เงินดิจิทัล’ ระหว่าง ‘บุคคลต่อบุคคล’ โดยไม่ผ่านตัวกลาง หวังเห็นภาพในอนาคต หากนำระบบโอนเงินระหว่างรายย่อยมาใช้จริง ดับฝันเงินดิจิทัล ‘ลิบรา’ ชี้กระทบอธิปไตยทางการเงิน
เมื่อวันที่ 15 ก.ค. น.ส.วชิรา อารมย์ดี ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายตลาดการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยในงาน Media Briefing เรื่อง Central Bank Digital Currency (CBDC) ว่า ธปท.อยู่ระหว่างศึกษาและเตรียมการเพื่อเปิดทดลองระบบการโอนเงินดิจิทัลจำลอง ซึ่งออกโดยธนาคารกลาง (CBDC) ระหว่างบุคคลต่อบุคคล โดยไม่ผ่านบัญชีของธนาคารเหมือนเช่นในปัจจุบัน และเป็นการโอนเงินที่ไม่ต้องผ่านบัญชีของธปท.ด้วย
“การเปิดทดลองดังกล่าวจะทำให้ธปท.เห็นภาพชัดเจนขึ้นว่า หากมีการนำระบบโอนเงินดิจิทัลมาใช้ในอนาคตจะมีปัญหาและอุปสรรคอย่างไรบ้าง ส่วนจะเริ่มทดลองได้เมื่อไหร่ยังอยู่ระหว่างเตรียมการ” น.ส.วชิรากล่าว
ทั้งนี้ เบื้องต้นการโอนเงินดิจิทัลระหว่างบุคคลต่อบุคคลดังกล่าว จะทำบนแพลตฟอร์ม DLT (Distributed Ledger Technology) โดยแต่ละบุคคลจะมีเงินดิจิทัล หรือเหรียญ CBDC ที่แปลงจากเงินในรูปธนบัตรไปอยู่ในรูปเงินดิจิทัล และสามารถโอนไปให้กับบุคคลอื่นที่อยู่ในระบบ DLT ได้ หรือมีลักษณะคล้ายกับการโอนเงินเข้าไปอยู่ในกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ (e-Wallet) ซึ่งโอนไปให้บุคคลหรือบัญชีอื่นๆในระบบได้
อย่างไรก็ดี แม้ว่าการโอนเงินดิจิทัลดังกล่าวจะไม่ผ่านตัวกลาง แต่เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับระบบ ธปท.จะมีอำนาจในการเข้าถึงข้อมูลการโอนทุกธุรกรรม (transaction) และเข้าไปเป็นคนกลางในการยืนยันข้อมูลต่างๆ เช่น กรณีที่นาย ก. โอนเงินให้นาย ข. แล้ว แต่ระบบเกิดล่ม ธปท. ก็จะเข้ามายืนยันว่าก่อนที่ระบบจะล่มนั้น เงินเป็นของใคร เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม น.ส.วชิรา ระบุว่า การนำระบบโอนเงินดิจิทัลมาใช้จริงยังต้องใช้เวลาอีกนาน เนื่องจากต้องศึกษาผลกระทบต่างๆให้รอบด้าน เช่น ผลกระทบต่อธุรกิจธนาคาร การจัดการสภาพคล่องของธนาคาร และเสถียรภาพระบบการเงิน รวมถึงต้องมีการปรับปรุงกฎหมายให้รองรับ เป็นต้น รวมทั้งต้องมีทำประชาพิจารณ์กับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง เช่น ประชาชน และสถาบันการเงินต่างๆด้วย ซึ่งยอมรับว่าการนำมาใช้จริงอาจไม่ง่าย
สำหรับข้อดีของการนำระบบโอนเงินดิจิทัลมาใช้ คือ จะทำให้ต้นทุนการโอนเงินลดลงมาก โดยเฉพาะการโอนเงินระหว่างประเทศ เพราะไม่ต้องผ่านตัวกลางหลายทอด และเป็นการเพิ่มทางเลือกการโอนเงินให้ประชาชน แต่จะต้องสร้างความเชื่อมั่นได้ว่าระบบดังกล่าวมีความน่าเชื่อถือ และปลอดภัย
น.ส.วชิรา ระบุว่า การโอนเงินดิจิทัลระหว่างบุคคลต่อบุคคลบนแพลตฟอร์ม DLT หรือ เทคโนโลยีการจัดเก็บข้อมูลแบบกระจายศูนย์ เป็นการต่อยอดโครงการอินทนนท์ (Inthanon) ซึ่งปัจจุบันเข้าสู่ระยะที่ 3 คือ ทดลองการโอนเงินดิจิทัลระหว่างธุรกิจกับธุรกิจ โดยทดลองกับบริษัท ปูนซิเมนต์ไทยฯ และบริษัทลูก ขณะที่โครงการอินทนนท์ 2 ระยะก่อนหน้านี้ ธปท.และธนาคารกลางฮ่องกง ร่วมกันทดสอบโอนและชำระเงินข้ามประเทศระหว่างสถาบันการเงินในรูปเงินดิจิทัล
น.ส.วชิรา ยังกล่าวถึงกรณีเฟซบุ๊กเคยเข้าหารือกับธปท.ถึงการผลักดันให้มีการใช้เงินดิจิทัล 'ลิบรา (Libra)' ว่า แม้ว่าธนาคารกลางทั่วโลกจะตื่นตัวหลังจากเฟซบุ๊กผลักดันเงินดิจิทัลลิบรา แต่คงไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะให้มีการใช้เงินดิจิทัลดังกล่าวในประเทศ เพราะเป็นเรื่องของอธิไตยทางการเงิน และเมื่อพิจารณาจากกฎหมายและระเบียบต่างๆของธนาคารกลาง รวมถึงธปท.พบว่า กฎหมายค่อนข้างปิด ดังนั้น การเกิดขึ้นของเงินดิจิทัลลิบราคงอีกนาน
อ่านประกอบ :
‘ธปท.- HKMA’ ขยายผล ‘Inthanon-LionRock’ โอนเงินข้ามประเทศ ไม่ผ่านตัวกลาง
ธปท. ตั้งคณะทำงานศึกษา Libra และพร้อมหารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/