ศาลยุติธรรมคลอด 5 แนวทางปฏิบัติ ป้องกันโควิด-19 แพร่ระบาดระลอกใหม่ ให้ศาลชั้นต้น-อุทธรณ์-ฎีกา เลื่อนการพิจารณาคดีได้ตั้งแต่ 5-31 ม.ค. 64 ตามความเหมาะสม จนท.-ขรก.-ผู้พิพากษา Work Form Home ได้
..............................
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 4 ม.ค. 2564 ที่ผ่านมา สำนักงานศาลยุติธรรม แจ้งหนังสือด่วนที่สุดที่ ศย 016/ว 1 (ป) ถึงหน่วยงานในสังกัดสำนักงานศาลยุติธรรม ถึงแนวทางการปฏิบัติเกี่ยวกับการบริหารจัดการคดีในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 เนื่องจากปัจจุบันเกิดสถานการณ์แพร่ระบาดในหลายพื้นที่ และมีการประกาศพื้นที่ควบคุมสูงสุด (สีแดง) มากขึ้น เป็นอุปสรรคต่อผู้มีอรรถคดีในการเดินทางไปติดต่อราชการศาลแทบทุกจังหวัดรวมถึงการพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมในทุกพื้นที่ คณะอนุกรรมการติดตามและแก้ไขปัญหาการบริหารจัดการคดีภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 จึงสมควรออกแนวปฏิบัติเกี่ยวกับการจัดการคดีในสถานการณ์ดังกล่าวสำหรับหน่วยงานในสังกัดสำนักงานศาลยุติธรรม ฉบับที่ 3 ระหว่างวันที่ 4-31 ม.ค. 2564 สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้
1.ให้ศาลชั้นต้นเลื่อนคดีจัดการพิเศษ คดีสามัญ และคดีสามัญพิเศษที่นัดพิจารณาระหว่างวันที่ 5-31 ม.ค. 2564 เว้นแต่คดีที่สามารถดำเนินการได้ตามแนวปฏิบัติฯฉบับที่ 1 และให้นำมาตรการบริหารจัดการสำหรับหน่วยงานในเขตพื้นที่สีแดงตามแนวปฏิบัติฯดังกล่าวมาบังคับใช้
2.ศาลอุทธรณ์ และศาลฎีกา ที่มีคดีนัดพิจารณาระหว่างวันที่ 5-31 ม.ค. 2564 อาจเลื่อนคดีได้ตามความเหมาะสม
3.การปฏิบัติงานนอกสถานที่ตั้งของหน่วยงาน (Work From Home) ตามแนวปฏิบัติฯฉบับที่ 1
3.1 สำหรับงานที่ไม่จำเป็นต้องมาศาล ผู้รับผิดชอบราชการศาลอาจพิจารณาให้ผู้พิพากษาปฏิบัติงาน Work From Home ได้ตามความเหมาะสม ผู้รบัผิดชอบราชการศาลอาจจัดให้ข้าราชการศาลยุติธรรมมาปฏิบัติหน้าที่ ณ ที่ทำการหรือนอกสถานที่ตั้งของหน่วยได้ เพื่อลดจำนวนบุคลากรที่ต้องมาปฏิบัติงาน ณ ที่ทำการให้น้อยลง เพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายแก่ราชการ
3.2 สำนักงานอธิบดีผู้พิพากษาภาคและหน่วยงานในส่วนกลาง ผู้รับผิดชอบราชการศาลอาจจัดให้ผู้พิพากษามาปฏิบัติงานได้ตามความเหมาะสมและความจำเป็น และข้าราชการศาลยุติธรรมให้มาปฏิบัติหน้าที่ ณ ที่ทำการ หรือนอกสถานที่ตั้งของหน่วยงาน ตามหนังสือสำนักงานศาลยุติธรรม เรื่องมาตรการปฏิบัติงานนอกสถานที่ของหน่วยงาน กรณีการแพร่ระบาดของโควิด-19 เพื่อลดจำนวนบุคลากรที่ต้องมาปฏิบัติงาน ณ ที่ทำงานให้น้อยลงตามจำนวนที่จำเป็น เพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายแก่ทางราชการ
4.ให้ทุกหน่วยจัดให้มีหมายเลขโทรศัพท์หรือช่องทางการติดต่อสื่อสาร เพื่อให้ประชาชนสามารถสอบถามข้อมูล และประชาสัมพันธ์หมายเลขโทรศัพท์หรือช่องทางการติดต่อสื่อสารดังกล่าวทางเว็บไซต์หรือสื่ออิเล็กทรอนิกส์ให้ประชาชนทราบด้วย
5.ให้ทุกหน่วยงานจัดให้มีเจ้าหน้าที่รับผิดชอบให้คำแนะนำในการปฏิบัติตน การบันทึกข้อมูลการเดินทางเพื่อสอบสวนโรค และให้ความช่วยเหลือในการตรวจหาเชื้อและการรักษาแก่บุคลากรในหน่วยงานด้วย (ดูเอกสารประกอบ)
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage