รมว.ยธ. มอบนโยบาย 4 ข้อ DSI พร้อมทิศทางการขับเคลื่อนการทำงานปี 2564 อ้างผลสำรวจประชาชนร้อยละ 75.05 เชื่อมั่นการทำงานดีขึ้นกว่าปีก่อน ร่วมกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพขับเคลื่อน พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พุ่งเป้าคดีใหญ่ หนี้นอกระบบ
..........................
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org 25 กันยายน 2563 นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เป็นประธานในพิธีเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการรับมอบนโยบายและทิศทางการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การสืบสวนสอบสวนคดีพิเศษ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 พร้อมทั้งเยี่ยมชมผลการดำเนินงานสำคัญของกรมสอบสวนคดีพิเศษ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 โดยมี พันตำรวจโท กรวัชร์ ปานประภากร อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ และคณะผู้บริหารกรมสอบสวนคดีพิเศษ รับมอบนโยบาย และรายงานผลการดำเนินงานของกรมสอบสวนคดีพิเศษ ณ ห้องประชุมจูปีเตอร์ ชั้น 3 โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น ถนนวิภาวดีรังสิต เขตหลักสี่ กรุงเทพมหานคร
การประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อจัดทำแผนปฏิบัติการรับมอบนโยบาย และทิศทางการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การสืบสวนสอบสวนคดีพิเศษ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 จัดขึ้นเพื่อขับเคลื่อนแผนยุทธศาสตร์การสืบสวนสอบสวน ป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมพิเศษ ให้สอดคล้องกับสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงของรูปแบบอาชญากรรมพิเศษ รวมถึงให้มีความสอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ชาติ แผนแม่บทที่เกี่ยวข้อง และแผนปฏิบัติราชการกระทรวงยุติธรรม ในการอำนวยความยุติธรรม ให้มีความโปร่งใส สะดวก รวดเร็ว เสนอภาค ทั่วถึง เป็นธรรม และปราศจากการเลือกปฏิบัติ ซึ่งเป็นไปตามแผนปฏิบัติราชการกระทรวงยุติธรรม ระยะ 3 ปี (พ.ศ. 2563 - 2565) อันประกอบด้วย 6 ด้าน ได้แก่ การพัฒนากฎหมายและกระบวนการยุติธรรม การสร้างการรับรู้ด้านกฎหมาย และเคารพสิทธิ การอำนวยความยุติธรรมและลดความเหลื่อมล้ำ การป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมพิเศษ การส่งเสริมคนดีสู่สังคม การป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด โดยมีคณะผู้บริหาร ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ เข้าร่วมโครงการทั้งสิ้น 230 คน
นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าวว่า “เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2562 ที่ผ่านมา ผมได้ตรวจเยี่ยมและมอบนโยบายการปฏิบัติราชการและข้อสั่งการสำคัญตามนโยบายรัฐบาลที่เกี่ยวข้องกับกรมสอบสวนคดีพิเศษ ในการปรับกระบวนทัศน์ในการปฏิบัติงาน พัฒนาระบบดิจิทัล เพิ่มอุปกรณ์ เครื่องมือพิเศษ ปรับโครงสร้าง เพื่อให้ภารกิจกรมสอบสวนคดีพิเศษ ตอบสนองยุทธศาสตร์ชาติ ในการอำนวยความยุติธรรมให้มีความโปร่งใส สะดวก รวดเร็ว เสมอภาค ทั่วถึง เป็นธรรม และปราศจากการเลือกปฏิบัติ ซึ่งกรมสอบสวนคดีพิเศษได้ดำเนินการสืบสวนสอบสวนคดีพิเศษสำคัญที่อยู่ในความสนใจของประชาชน และมีผลต่อความมั่นคง ระบบเศรษฐกิจ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของประเทศ รวมถึงการจัดการเส้นทางการเงินของผู้กระทำความผิด องค์กรอาชญากรรม จนได้ผลเป็นที่ประจักษ์ และผลสำรวจความเชื่อมั่นของสาธารณชนที่มีต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 พบว่ามีระดับความเชื่อมั่นของสาธารณชนที่มีต่อการดำเนินงานของกรมสอบสวนคดีพิเศษ ที่ร้อยละ 75.05 ซึ่งอยู่ในระดับ ที่ดีขึ้นกว่าปีก่อน รวมถึงกรมสอบสวนคดีพิเศษได้รับรางวัลเลิศรัฐ จากสำนักงาน ก.พ.ร. ในปี พ.ศ. 2563 จำนวน 3 รางวัล ผมจึงขอขอบคุณข้าราชการและเจ้าหน้าที่กรมสอบสวนคดีพิเศษทุกท่าน ที่ได้ทุ่มเททำงานเพื่ออำนวยความยุติธรรม และบังคับใช้กฎหมายให้เกิดความเป็นธรรม ตลอดจนร่วมผลักดันนโยบายและการสืบสวนสอบสวนคดีพิเศษให้ออกมาเป็นรูปธรรมและเป็นที่ประจักษ์ต่อสายตาประชาชน และขอให้ร่วมกันเดินหน้าเพื่อพัฒนากระบวนการยุติธรรมของไทยให้เกิดความเป็นธรรมทั่วถึง เสมอภาคและไม่เลือกปฏิบัติ เป็นที่พึ่งของพี่น้องคนไทยอย่างยั่งยืนต่อไป”
ในการนี้ นายสมศักดิ์ ได้มอบนโยบายเพื่อขับเคลื่อนภารกิจและดำเนินการเพื่อการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมพิเศษที่สำคัญ ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 ดังนี้
1. การใช้ระบบเทคโนโลยีในการสืบสวนสอบสวนโดยเฉพาะเรื่องเส้นทางการเงินเครือข่ายผู้ค้ายาเสพติด ตามนโยบายเร่งด่วนของ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่ากากระทรวงกลาโหม ที่ให้ไว้เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2563 โดยมีข้อสั่งการให้ขยายผล เพื่อจับกุมนายทุน และผู้อยู่เบื้องหลังการค้ายาเสพติด รวมถึงจัดตั้งกลไกการบูรณาการการปราบปรามยาเสพติด เพื่อสืบสวนขยายผลและยึดทรัพย์สินเครือข่ายยาเสพติด โดยกรมสอบสวนคดีพิเศษเป็นหน่วยงานในสังกัดกระทรวงยุติธรรม ที่ได้รับมอบหมายภารกิจในการสอบสวนเส้นทางการเงินของเครือข่ายยาเสพติด เพื่อตัดวงจรด้วยการยึดทรัพย์ และจากปฏิบัติการที่ผ่านมา กรมสอบสวนคดีพิเศษได้ใช้เทคโนโลยีในการสืบค้นธุรกรรมทางการเงินที่ทันสมัย โดยปฏิบัติการสืบสวน สอบสวนเครือข่ายยาเสพติด เพื่อติดตามเครือข่ายผู้ค้ายาเสพติดทางกลุ่มภาคตะวันออกเฉียงเหนือ สามารถยึดและอายัดทรัพย์สินได้กว่า 500 ล้านบาท ซึ่งเป็นตัวอย่างให้เห็นถึงการใช้เทคโนโลยีเพื่อเสริมประสิทธิภาพการสืบสวนสอบสวน
2. ให้กรมสอบสวนคดีพิเศษหารือร่วมกับกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ เพื่อบูรณาการการทำงานเกี่ยวกับคดีบังคับบุคคลสูญหาย กระทรวงยุติธรรม ได้เสนอร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. .... ซึ่งคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบแล้ว อยู่ระหว่างกระบวนการขอความเห็นชอบจากรัฐสภา และในระหว่างเสนอกฎหมายใหม่นี้ ขอให้กรมสอบสวนคดีพิเศษสืบสวนสอบสวนคดีบุคคลสูญหายควบคู่ไปด้วย เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่ผู้สูญหายและครอบครัว รวมทั้งสร้างความชัดเจนแก่สาธารณชน
3. ปัญหาหนี้นอกระบบ ซึ่งเป็นอาชญากรรมที่ส่งผลต่อเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ และส่งผลต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน ที่นับวันยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้น ประกอบกับสถานการณ์ปัจจุบันที่มีการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา (โควิด-19) ส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิตความเป็นอยู่ของผู้มีรายได้น้อย แนวโน้มของปัญหาหนี้นอกระบบอาจรุนแรงมากขึ้น ทั้งรูปแบบการปล่อยเงินกู้ที่หวังผลประโยชน์จากดอกเบี้ยและผลตอบแทนอื่น ๆ ในอัตราที่สูงกว่ากฎหมายกำหนด และการติดตามทวงถามหนี้ โดยมีพฤติการณ์ข่มขู่ ทำร้ายร่างกาย บางรายถูกกดดันจนฆ่าตัวตาย ดังนั้น จึงขอให้กรมสอบสวนคดีพิเศษดำเนินการทั้งด้านการปราบปรามกลุ่มนายทุนที่แสวงหาประโยชน์จากประชาชนที่มีปัญหาเรื่องหนี้ และให้ความรู้กับประชาชนควบคู่ไปด้วย เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้มีรายได้น้อยตกเป็นเหยื่อขบวนการหนี้นอกระบบ
4. ให้กรมสอบสวนคดีพิเศษทบทวนปรับปรุงโครงสร้าง เพื่อรองรับคดีสำคัญ เช่น การจัดตั้งศูนย์ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินทางอาญา ทำงานเชิงรุกเพื่อป้องกันอาชญากรรมที่เปลี่ยนแปลงไปในหลายรูปแบบในปัจจุบัน
ด้าน พันตำรวจโท กรวัชร์ ปานประภากร อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ กล่าวว่า “ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 ที่ผ่านมา กรมสอบสวนคดีพิเศษมีผลการดำเนินคดีที่สำคัญ อาทิ คดีการฆาตกรรมนายพอละจี หรือบิลลี่ รักจงเจริญ แกนนำชุมชนกะเหรี่ยง บ้านโป่งลึก - บางกลอย แก่งกระจาน, การหลอกลวงให้ลงทุนซื้อขายอัตราแลกเปลี่ยนสกุลเงินต่างประเทศ (Forex-3D), การจับกุมตัวผู้ต้องหา กรณี บริษัท อีเกิ้ลเกตส์ กรุ๊ป จำกัด กับพวก มีพฤติการณ์เป็นองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ หลอกลวงผู้เสียหายให้ร่วมลงทุน ทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมมูลค่าความเสียหายกว่า 200 ล้านบาท, การยึดทรัพย์ตัดวงจรยาเสพติดกว่า 500 ล้าน และการบุกค้นแหล่งเก็บสินค้าละเมิดเครื่องหมายการค้ายี่ห้อดัง ย่านภาษีเจริญ มูลค่าความเสียหายกว่า 100 ล้านบาท เป็นต้น และจากนโยบายที่ได้รับมอบจากท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมในวันนี้ กรมสอบสวนคดีพิเศษจะนำไปเป็นแนวทางปฏิบัติและขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การสืบสวนสอบสวนคดีพิเศษ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 เพื่อป้องกัน ปราบปราม สืบสวน และสอบสวนคดีพิเศษได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวดเร็ว และเป็นธรรม ตลอดจนเพื่อให้กรมสอบสวนคดีพิเศษก้าวไปสู่องค์กรชั้นนำของประเทศที่ได้รับความไว้วางใจ เชื่อมั่น และเป็นที่พึ่งด้านการอำนวยความยุติธรรมให้เกิดขึ้นแก่ประชาชนต่อไป”