‘ไทยพาณิชย์’ กำไรสุทธิไตรมาส 2/63 กว่า 8.3 พันล้านบาท ลดลง 24% เหตุตั้งเงินสำรองสูงขึ้น ส่งผลครึ่งปีแรกกำไร 1.76 หมื่นล้าน ลดลง 13% ขณะที่ ‘กรุงไทย’ ครึ่งปี 63 กำไร 1.02 หมื่นล้านบาท ลดลง 33.5% ด้าน ‘ทหารไทย’ ครึ่งทางกำไรสุทธิ 7.25 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 107.6%
ธนาคารไทยพาณิชย์และบริษัทย่อยมีกำไรสุทธิ (งบการเงินรวมก่อนตรวจสอบ) ในไตรมาส 2 ของปี 2563 จำนวน 8,360 ล้านบาท ลดลง 24% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วนใหญ่เป็นผลจากการตั้งเงินสำรองที่สูงขึ้น ในขณะที่กำไรจากการดำเนินงานเพิ่มขึ้น 4% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน สำหรับครึ่งปีแรกของปี 2563 ธนาคารมีกำไรสุทธิจำนวน 17,611 ล้านบาท ลดลง 13% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และกำไรจากการดำเนินงานยังคงเติบโต 15% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน
รายได้ดอกเบี้ยสุทธิมีจำนวน 23,777 ล้านบาท ลดลง 7% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน สาเหตุหลักมาจากการหดตัวของอัตราส่วนต่างดอกเบี้ยสุทธิสืบเนื่องจากการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายหลายครั้งลงสู่ระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ ผนวกกับการลดลงของรายได้ดอกเบี้ยหลังจากที่ธนาคารได้ขายหุ้นของบริษัทไทยพาณิชย์ประกันชีวิตในปีที่ผ่านมา ในขณะที่สินเชื่อรวมลดลงเพียงเล็กน้อยคือ 1% จากระยะเดียวกันของปีก่อน แต่เพิ่มขึ้น 2% จากไตรมาส 1 จากความต้องการสินเชื่อที่เพิ่มขึ้นของธุรกิจขนาดใหญ่และการสนับสนุนสินเชื่อซอฟท์โลนให้กับลูกค้าธุรกิจ
รายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยมีจำนวน 12,499 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 19% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็นผลส่วนใหญ่จากรายได้ที่สูงขึ้นของธุรกิจบริหารความมั่งคั่งและธุรกิจประกันและรายการพิเศษครั้งเดียวจากการขายเงินลงทุนและธุรกรรมของลูกค้าธุรกิจขนาดใหญ่ และจาก มาตรการปิดเมืองในช่วงไตรมาส 2 ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจหยุดชะงักและทำให้ปริมาณธุรกิจของธนาคารลดลงอย่างมีนัยสำคัญตั้งแต่เดือนเมษายน อย่างไรก็ดีได้เริ่มมีสัญญาณการฟื้นตัวของธุรกิจในเดือนมิถุนายน พร้อมกับการผ่อนคลายมาตรการปิดเมืองเป็นลำดับ
ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานมีจำนวน 16,141 ล้านบาท ลดลง 3% จากช่วงเดียวกันของปี ซึ่งเกิดจากค่าใช้จ่ายโดยรวมลดลงระหว่างช่วงมาตรการปิดเมืองของประเทศและการที่ธนาคารควบคุมค่าใช้จ่ายได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้อัตราส่วนค่าใช้จ่ายต่อรายได้ของธนาคารในไตรมาส 2 ของปี 2563 ค่อนข้างคงที่ที่ 44.5%
ภายใต้สถานการณ์ที่มีความไม่แน่นอนจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 พร้อมกับการที่ธนาคารยังดำเนินโครงการช่วยเหลือลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบอย่างต่อเนื่อง ธนาคารจึงได้ตั้งเงินสำรองจำนวน 9,734 ล้านบาท ในไตรมาส 2 ของปี 2563 ทั้งนี้โครงการเยียวยาภาคธุรกิจและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆ ของรัฐบาลที่คาดว่าจะเริ่มส่งผลในช่วงต่อไปจะช่วยให้ธนาคารสามารถประเมินผลกระทบทางเศรษฐกิจจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้ชัดเจนขึ้นและคาดว่าผลกระทบดังกล่าวจะสะท้อนในผลการดำเนินงานของธนาคารในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2563 สำหรับอัตราส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพ ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2563 ปรับลดลงอยู่ที่ 3.05% ภายใต้กฎเกณฑ์ของธนาคารแห่งประเทศไทยในการพักการจัดชั้นหนี้ด้อยคุณภาพของลูกหนี้ที่เข้าร่วมโครงการช่วยเหลือทางการเงิน ในขณะที่อัตราส่วนค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญต่อสินเชื่อด้อยคุณภาพเพิ่มสูงขึ้นเป็น 152% ทั้งนี้ เงินกองทุนตามกฎหมายของธนาคารยังอยู่ในระดับแข็งแกร่งที่ 18%
@'อาทิตย์' เชื่อมั่นสถานะกองทุนแกร่ง
นายอาทิตย์ นันทวิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและประธานกรรมการบริหาร ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่าการแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้เริ่มส่งผลกระทบต่อรายได้และแนวโน้มกำไรของธนาคารในไตรมาสนี้ อย่างไรก็ตาม ธนาคารเชื่อมั่นว่าสถานะเงินกองทุนของธนาคารที่แข็งแกร่งและการตั้งสำรองหนี้สูญในระดับสูง จะช่วยให้ธนาคารสามารถรับมือกับภาวะเศรษฐกิจที่ถดถอยได้ ตั้งแต่การเริ่มระบาดครั้งใหญ่นี้ ธนาคารได้ให้ความช่วยเหลือลูกค้าบุคคลไปแล้วกว่า 1.1 ล้านรายและลูกค้าธุรกิจกว่า 13,000 ราย รวมธุรกิจขนาดย่อมและบริษัทต่างๆ คิดเป็นยอดสินเชื่อภายใต้โครงการให้ความช่วยเหลือทางการเงิน ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2563 รวมประมาณ 840,000 ล้านบาทหรือ 39% ของยอดสินเชื่อรวมของธนาคาร
นอกจากนี้ธนาคารได้อำนวยความสะดวกแก่ลูกค้าในการขอความช่วยเหลือผ่านช่องทางดิจิทัลบน SCB EASY แอปพลิเคชั่น ตลอดจนเปิดตัวแพล็ตฟอร์มบริการส่งอาหาร ROBINHOOD เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการร้านอาหารและลูกค้ารายย่อยโดยทั่วไป แม้ว่าเศรษฐกิจกำลังเริ่มฟื้นตัว แต่ผลกระทบในระยะยาวจากการระบาดของโควิด-19 ต่อภาคธุรกิจยังมีความไม่แน่นอนสูง ในช่วงเวลาที่ท้าทายเช่นนี้ ธนาคารยังคงให้การสนับสนุนกับลูกค้าที่ได้รับผลกระทบอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ลูกค้าและทุกภาคส่วนของสังคมสามารถก้าวผ่านวิกฤติครั้งนี้ไปได้ด้วยกัน ในขณะเดียวกันธนาคารยังคงมุ่งมั่นพัฒนานวัตกรรมด้านดิจิทัลเพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืนในระยะยาวต่อไป
@กรุงไทยครึ่งปีแรกกำไร 10,296 ล้านบาท ลดลง 33.5%
นายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยผลการดำเนินงานในช่วงครึ่งแรกของปี 2563 ว่าธนาคารมีกำไรก่อนสำรองเท่ากับ 37,604 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 11 โดยรายได้ดอกเบี้ยสุทธิยังคงอยู่ในระดับใกล้เคียงกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากการบริหารจัดการต้นทุนทางการเงินที่ดีและได้รับประโยชน์จากการลดเงินนำส่งธนาคารแห่งประเทศไทย รวมถึงการขยายตัวของสินเชื่อที่เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 9.4 ช่วยลดผลกระทบจากการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายถึง 5 ครั้ง และต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ รวมถึงการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินให้สินเชื่อลงอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ NIM เท่ากับร้อยละ 3.15 ลดลงจากร้อยละ 3.54 ในช่วงเดียวกันของปีก่อน
สำหรับรายได้อื่นยังคงขยายตัวดี รวมถึงค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงานที่ลดลงถึงร้อยละ 13.2 โดยมี Cost to Income ratio เท่ากับร้อยละ 40.72 ลดลงจากร้อยละ 46.76 ในช่วงเดียวกันของปี 2562 หากไม่รวมรายการพิเศษสำรองด้อยค่าทรัพย์สินรอการขายและรายได้ดอกเบี้ยรับจากการขายทอดตลาด ทรัพย์สินหลักประกันจำนอง Cost to Income ratio ในครึ่งแรกของปี 2563 เท่ากับร้อยละ 43.11 เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 41.77 ในช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา
ธนาคารและบริษัทย่อยได้พิจารณาถึงปัจจัยต่างๆ อย่างรอบคอบ ในการประมาณการถึงภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลงอย่างรุนแรงและความไม่แน่นอนที่อาจส่งผลต่อคุณภาพสินเชื่อ จึงได้ตั้งสำรองผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น จำนวน 23,235 ล้านบาท ซึ่งรวมการตั้งค่าเผื่อผลขาดทุนด้านเครดิตเต็มจำนวนสำหรับลูกค้าธุรกิจขนาดใหญ่รายหนึ่งในธุรกิจสาธารณูปโภคและบริการที่เกี่ยวกับการขนส่งและได้ตั้งค่าเผื่อผลขาดทุนด้านเครดิตเพิ่มเติมในกลุ่มอุตสาหกรรมที่เกี่ยวกับโรงสีข้าว ขณะที่ปีที่ผ่านมา ธนาคารได้ตั้งสำรองหนี้สูญและหนี้สงสัยจะสูญจำนวน 12,891 ล้านบาท ธนาคารมี Coverage Ratio เท่ากับร้อยละ 126.5 และ NPLs Ratio-Gross เท่ากับร้อยละ 4.35 เทียบกับร้อยละ 4.33 ณ 31 ธันวาคม 2562 ทั้งนี้ ธนาคารมีกำไรสุทธิในครึ่งปีแรกในส่วนที่เป็นของธนาคารเท่ากับ 10,296 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 33.5 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน
สำหรับไตรมาสที่ 2/2563 ธนาคารและบริษัทย่อยมีกำไรจากการดำเนินงาน เท่ากับ 20,107 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 14.9 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสที่ 1/2563 โดยมีสาเหตุหลักจากรายได้ดอกเบี้ยสุทธิและรายได้จากการดำเนินการอื่นๆ ที่เพิ่มขึ้น และจากค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงานที่ลดลง อย่างไรก็ตาม เนื่องจากมีการตั้งสำรองผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นที่สูงขึ้น ส่งผลให้กำไรสุทธิส่วนที่เป็นของธนาคาร เท่ากับ 3,829 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 40.8 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสที่ 1/2563
ณ 30 มิถุนายน 2563 ธนาคารมียอดสินเชื่อและดอกเบี้ยค้างรับสุทธิ 2,151,757 ล้านบาท โดยธนาคารยังคงอัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 ที่ร้อยละ 14.86 และอัตราส่วนเงินกองทุนทั้งสิ้นต่อสินทรัพย์ถ่วงน้ำหนักตามความเสี่ยง (งบการเงินเฉพาะ) ที่ร้อยละ 18.72 ซึ่งอยู่ในระดับที่แข็งแกร่งเมื่อเทียบกับเกณฑ์ของธนาคารแห่งประเทศไทย
@ทีเอ็มบีกำไรพุ่ง 107.6% หลังควบรวมธนชาต
ขณะที่ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) และบริษัทย่อย หรือ ทีเอ็มบี แจ้งผลประกอบการสิ้นสุดเดือนมิถุนายน ปี 2563 โดยสำหรับผลประกอบการ 6 เดือนแรกของปี ทีเอ็มบีมีรายได้เพิ่มขึ้นตามการรับรู้รายได้จากธนาคารธนชาตเข้ามาในงบการเงินรวม ขณะที่การบริหารค่าใช้จ่ายเพื่อการดำเนินงานและเพื่อการรวมกิจการเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ จึงทำให้กำไรจากการดำเนินงานก่อนหักสำรองฯ เพิ่มขึ้น 119.2% จากครึ่งแรกของปี 2562 มาอยู่ที่ 18,653 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม ธนาคารตั้งสำรองฯ เป็นจำนวน 9,732 ล้านบาท ซึ่งในจำนวนดังกล่าวมีทั้งส่วนที่เป็นการตั้งสำรองฯ ตามเกณฑ์และส่วนที่ตั้งเพิ่มเติมเพื่อรองรับแนวโน้มเศรษฐกิจในช่วงครึ่งปีหลัง ด้านคุณภาพสินเชื่อเน้นการบริหารจัดการในเชิงรุก ทำให้สามารถลดอัตราส่วนหนี้เสียลงมาอยู่ในระดับต่ำที่ 2.34% ซึ่งหลังจากหักสำรองฯ และภาษี ธนาคารมีกำไรสุทธิอยู่ที่ 7,258 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 107.6% จากครึ่งแรกของปีก่อน
นายปิติ ตัณฑเกษม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ทีเอ็มบี กล่าวถึงภาพรวมการดำเนินงานว่า สำหรับครึ่งปีแรก ถือว่าในส่วนของการรวมกิจการทำได้ตามเป้าหมาย โดยเฉพาะในแง่ของการรับรู้ผลประโยชน์ด้านงบดุล (Balance Sheet Synergy) และด้านต้นทุน (Cost Synergy) ขณะที่ขั้นตอนการรวมธนาคาร เช่น การเปิดสาขาร่วมระหว่างทีเอ็มบีและธนาคารธนชาต (Co-location) ก็คืบหน้าได้ตามแผนเช่นกัน
ด้านรายได้ถือว่าทำได้ดีในไตรมาส 1 อย่างไรก็ดี เมื่อเข้าสู่ไตรมาส 2 ซึ่งสถานการณ์โควิด-19 เริ่มส่งผลกระทบมากขึ้น สิ่งที่ทีเอ็มบีและธนาคารธนชาตให้ความสำคัญจึงเป็นเรื่องของการเร่งให้ความช่วยเหลือลูกค้าทุกกลุ่มที่ได้รับผลกระทบ ควบคู่ไปกับการเพิ่มความแข็งแกร่งทางการเงิน เพราะประเมินว่าสถานการณ์โควิด-19 จะยังคงสร้างแรงกดดันต่อการดำเนินงานและคุณภาพสินทรัพย์ในช่วงที่เหลือของปี โดย 3 เรื่องหลักที่ธนาคารได้เตรียมความพร้อมไว้ ได้แก่ การคงสภาพคล่องในระดับสูงด้วยการเติบโตฐานเงินฝาก การเพิ่มคุณภาพด้านงบดุลด้วยการลดยอดหนี้เสีย และการคงเงินกองทุนในระดับสูง ซึ่งก็ทำได้ตามแผน เป็นการเพิ่มความสามารถของธนาคารในการรับมือกับความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจในช่วงถัดไป
ทั้งนี้ ณ สิ้นไตรมาส 2 ธนาคารสามารถเติบโตเงินฝากได้ 3.2% จากไตรมาสก่อน มาอยู่ที่ 1.44 ล้านล้านบาท หนุนโดยเงินฝากลูกค้ารายย่อย No Fixed และ All Free ขณะที่สินเชื่อปรับตัวลดลง 1.5% มาอยู่ที่ 1.38 ล้านล้านบาท ตามการชะลอลงของยอดสินเชื่อใหม่ และจากการปรับโครงสร้างพอร์ตสินเชื่อด้วยการลดสัดส่วนสินเชื่อที่ไม่มีหลักประกันและเพิ่มสัดส่วนสินเชื่อที่มีหลักประกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพอร์ตสินเชื่อรายย่อย ซึ่งปัจจุบันกว่า 90% ของพอร์ตสินเชื่อรายย่อยเป็นสินเชื่อที่มีหลักประกัน
ในส่วนของรายได้ของไตรมาส 2 ทั้งรายได้ดอกเบี้ยและรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยชะลอลงจากไตรมาส 1 ซึ่งก็เป็นไปตามคาด เนื่องจากในไตรมาส 2 มีการปรับลดอัตราดอกเบี้ย ขณะที่กิจกรรมทางเศรษฐกิจทั้งภาคธุรกิจและภาคครัวเรือนหดตัวลง ทำให้รายได้รวมอยู่ที่ 16,569 ล้านบาท ลดลง 8.9% ด้านค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานอยู่ที่ 7,776 ล้านบาท ลดลง 6.7% ส่งผลให้กำไรจากการดำเนินงานก่อนหักสำรองฯ อยู่ที่ 8,791 ล้านบาท ลดลง 10.9% จากไตรมาสก่อนหน้า
ในไตรมาส 2 ธนาคารตั้งสำรองฯ เพิ่มขึ้น 4.5% จากไตรมาสก่อน มาอยู่ที่ 4,972 ล้านบาท ซึ่งประกอบด้วยการตั้งสำรองฯ ตามเกณฑ์ปกติ สำรองฯ ส่วนเพิ่มเพื่อรองรับแนวโน้มเศรษฐกิจ และการรับรู้การตั้งสำรองฯ จำนวน 1.6 พันล้านบาท จากธนาคารธนชาต ซึ่งมีเงินลงทุนในตราสารหนี้ของ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) จำนวน 3.15 พันล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 2.0% ของพอร์ตการลงทุนตามงบการเงินรวม ทั้งนี้ ธนาคารและบริษัทย่อยไม่มีเงินให้สินเชื่อ หรือตราสารทางการเงินประเภทอื่นๆ ของบริษัทการบินไทยนอกเหนือไปจากนี้ โดยหลักจากหักสำรองฯ และภาษี กำไรสุทธิของไตรมาส 2 อยู่ที่ 3,095 ล้านบาท ลดลง 25.7% จากไตรมาสก่อน
ด้านคุณภาพสินทรัพย์ ธนาคารดำเนินการแก้หนี้เสียเชิงรุกด้วยการตัดหนี้สูญ (Write off) และการขาย ทำให้สามารถลดยอดหนี้เสียลงได้ 12.2% จาก 44,183 ล้านบาท ในไตรมาสก่อน มาอยู่ที่ 38,805 ล้านบาท ส่งผลให้อัตราส่วนหนี้เสียลดลงจาก 2.76% ในไตรมาสที่แล้วมาอยู่ที่ 2.34%
สำหรับสภาพคล่องอยู่ในระดับสูง จากเงินฝากที่เพิ่มขึ้นและการบริหารสภาพคล่องของธนาคาร โดยอัตราส่วน LCR ซึ่งบ่งบอกถึงสินทรัพย์สภาพคล่องที่ใช้รองรับความผันผวนในภาวะวิกฤตของทีเอ็มบีและธนาคารธนชาต อยู่สูงกว่าเกณฑ์ขั้นต่ำของธนาคารแห่งประเทศไทยที่ 100% มาโดยตลอด โดยปัจจุบันอยู่ในระดับสูงกว่า 200%
ความเพียงพอของเงินกองทุนยังคงแข็งแกร่งและสูงเป็นลำดับต้นๆ ในอุตสาหกรรมธนาคารไทย โดย ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2563 อัตราส่วน CAR และ Tier I เบื้องต้นอยู่ที่ 18.5% และ 14.6% สูงกว่าเกณฑ์ขั้นต่ำของธนาคารแห่งประเทศไทยที่ 11.0% และ 8.5% ตามลำดับ
อ่านประกอบ :
'กสิกรไทย’ แจ้งผลประกอบการงวดครึ่งปีแรก กำไร 9,550 ล้านบาท
ฟันธง 2 ปีเศรษฐกิจกลับสู่ปกติ! ‘วิรไท’ ห่วงนศ.จบใหม่ไม่มีงานทำ-'ปธ.ทีดีอาร์ไอ' แนะตุนเงินสด
ธปท.พบนักวิเคราะห์! ‘วิรไท’ มองเศรษฐกิจฟื้นไตรมาส 3-เชื่อโควิดไม่ระบาดรอบ 2 ในไทย
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/