ครม.เห็นชอบ 3 ข้อเสนอแนะ ป.ป.ช. ป้องทุจริตเบิกจ่ายเงินอุดหนุนช่วยเหลือผู้ประสบปัญหาทางสังคม หลังกรณี 'น้องแบม' เจอการโกงเงินศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง ชี้ต้องจัดทำระบบฐานข้อมูลให้เป็นวาระแห่งชาติ ปรับปรุงระเบียบการเบิกจ่าย ยกตัวอย่างการจ่ายเงินบัตรสวัสดิการประชารัฐ ต้องติดตามประเมินผลด้วย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 10 ก.ค. 2563 สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เผยแพร่ข้อมูลว่า คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบและเห็นชอบข้อเสนอแนะเพื่อป้องกันการทุจริตการเบิกจ่ายเงินอุดหนุนเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบปัญหาทางสังคมของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กรณีศึกษา กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ ตามที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. เสนอ ตามนัยมาตรา 32 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2563 เนื่องจากพบปัญหากรณีการทุจริตของศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ โดยมีนักศึกษาคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ สาขาพัฒนาชุมชน มหาวิทยาลัยมหาสารคาม เข้าร้องเรียนต่อเลขาธิการคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ภายหลังจากที่ได้มีการรับเรื่องร้องเรียนดังกล่าวแล้ว สำนักงานเลขาธิการ คสช. มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรวจสอบข้อเท็จจริงและพบว่ามีมูลตามที่ร้องเรียน จึงมีการรวบรวมพยานหลักฐาน พร้อมกับลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริง และสรุปรายละเอียดเพื่อดำเนินการตามกฎหมาย
คณะรัฐมนตรี จึงมอบหมายให้กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์เป็นหน่วยงานหลักร่วมกับกระทรวงการคลัง กระทรวงมหาดไทย กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กระทรวงแรงงาน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับไปพิจารณาดำเนินการให้เป็นไปตามข้อเสนอแนะของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้รับทราบและเห็นชอบกับข้อเสนอแนะดังกล่าว ซึ่งเป็นการปรับปรุงการบริหารจัดการการใช้จ่ายเงินงบประมาณงบอุดหนุนในภาพรวมของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และมีส่วนราชการภายใต้สังกัดที่มีภารกิจหน้าที่และอำนาจที่เกี่ยวข้องกับการจัดสวัสดิการสังคมหลากหลายกลุ่มเป้าหมาย ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและเกิดประสิทธิผล โดยเฉพาะอย่างยิ่งการนำระบบดิจิทัลมาใช้ในการจัดทำและเชื่อมโยงฐานข้อมูลอย่างเป็นระบบสามารถตรวจสอบได้ ประกอบกับเป็นมาตรการและการเสนอแนะแนวทางให้มีการปรับปรุงการปฏิบัติราชการ โดยจะทำให้การปฏิบัติหน้าที่ของข้าราชการมีประสิทธิภาพ เกิดประสิทธิผล รวดเร็ว สุจริต และเที่ยงธรรม ตามที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีข้อเสนอแนะในประเด็นสำคัญ 3 ด้าน ดังนี้
1. ด้านการจัดทำระบบฐานข้อมูลผู้ประสบปัญหาทางสังคมของประเทศไทย รัฐบาลควรกำหนดให้การจัดทำฐานข้อมูลผู้ประสบปัญหาทางสังคมของประเทศไทย เป็นวาระแห่งชาติ เพื่อบูรณาการการปฏิบัติงานระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการดำเนินการจัดทำสำมะโนประชากร (Census) เพื่อปรับปรุงและจัดทำฐานข้อมูลผู้ประสบปัญหาทางสังคมของประเทศไทยและดำเนินการเชื่อมโยงฐานข้อมูลกับเลขประจำตัวประชาชน 13 หลักของกรมการปกครอง ฐานข้อมูลบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ตลอดจนฐานข้อมูลอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้สามารถมีฐานข้อมูลสนับสนุนการปฏิบัติงานของหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องได้ตั้งแต่ในระดับพื้นที่ โดยมอบหมายให้กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์เป็นหน่วยงานหลัก ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงมหาดไทย กระทรวงการคลัง กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กระทรวงแรงงาน กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น เป็นต้น โดยให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการเพื่อร่วมกันดำเนินการบูรณาการการปฏิบัติงานและปรับปรุงฐานข้อมูลผู้ประสบปัญหาทางสังคมของประเทศไทย ทั้งนี้ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ควรจัดทำระบบสารสนเทศรองรับการใช้งานข้อมูลจากฐานข้อมูลในรูปแบบ Web-Based Technology หรือ Mobile Application ที่ผู้ใช้งานสามารถปฏิบัติงานและเรียกดูข้อมูลบน Web Browser หรือ โทรศัพท์เคลื่อนที่ ได้มีการรายงานข้อมูลแบบ Real-Time และจะต้องเปิดเผยข้อมูลให้สาธารณชนสามารถเข้าถึงข้อมูลได้
2. ด้านเบิกจ่ายเงินงบประมาณงบเงินอุดหนุน ควรให้กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ พิจารณาสั่งการให้ส่วนราชการภายใต้สังกัด พิจารณาทบทวน/ปรับปรุงกฎหมาย และระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการเบิกจ่ายเงินอุดหนุน และการกำหนดหลักเกณฑ์การให้ความช่วยเหลือกรณีเงินสงเคราะห์ในแต่ละประเภท ให้มีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น เพื่อไม่ให้เกิดการใช้ดุลยพินิจโดยไม่เหมาะสมของเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน ตลอดจนกำหนดระเบียบ วิธีการ ขั้นตอนในการจ่ายเงินสงเคราะห์ให้มีความชัดเจน เหมาะสมกับสถานการณ์และสภาวการณ์ในปัจจุบัน รวมทั้งให้พิจารณาศึกษาถึงความเป็นไปได้ในการจัดให้มีบัตรสงเคราะห์ผู้ประสบปัญหาทางสังคม โดยใช้ฐานข้อมูลเลขบัตรประจำตัวประชาชน 13 หลัก ซึ่งในส่วนของการพิจารณาให้ความช่วยเหลือ/การพิจารณาอนุมัติจ่ายเงินนั้น ยังคงเป็นอำนาจหน้าที่ของส่วนราชการ/กรมภายใต้สังกัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ แต่ให้มีการบูรณาการระหว่างส่วนราชการภายใต้สังกัด เพื่อสร้างระบบการจ่ายเงินให้มีประสิทธิภาพที่สามารถจ่ายเงินไปยังผู้รับการสงเคราะห์ได้โดยตรง ในการที่จะสามารถป้องกันปัญหาการทุจริต และสามารถลดภารกิจในด้านการเบิกจ่ายเงินของเจ้าหน้าที่ เพื่อให้สามารถพัฒนางานด้านสังคมสงเคราะห์ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
โดยอาจศึกษารูปแบบการจ่ายเงินกรณีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ซึ่งเป็นการจ่ายเงินผ่านระบบธนาคาร (e–Payment) นอกจากนี้ เพื่อให้ภารกิจด้านการสงเคราะห์ของประเทศไทยเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เห็นควรให้มีการบูรณาการระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องซึ่งมีภารกิจด้านการเบิกจ่ายเงินสงเคราะห์ให้แก่ประชาชน พิจารณาจัดให้มีระบบการจ่ายเงินผ่านระบบธนาคาร (e–Payment) โดยใช้บัตรใบเดียวที่สามารถเบิกจ่ายเงินให้ประชาชน/กลุ่มเป้าหมาย เพื่อให้เป็นไปตามโครงการ National e-Payment ซึ่งจะเป็นการบูรณาการฐานข้อมูลสวัสดิการสังคม และพัฒนาระบบการรับจ่ายเงินภาครัฐทางอิเล็กทรอนิกส์ โดยส่งเสริมการรับจ่ายเงินของหน่วยงานภาครัฐผ่านทางอิเล็กทรอนิกส์ ส่งเสริมให้มีฐานข้อมูลกลางเกี่ยวกับสวัสดิการของภาครัฐ ควบคู่กับการจ่ายเงินให้แก่ประชาชนโดยตรงผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งจะช่วยให้สามารถจ่ายเงินช่วยเหลือและเงินสวัสดิการ
ให้แก่ประชาชนได้ตรงกลุ่มเป้าหมาย ลดความผิดพลาด ความซ้ำซ้อน และโอกาสการทุจริต โดยกระบวนการดังกล่าวจะต้องมีการพิสูจน์ยืนยันตัวตนผู้มีสิทธิ โดยใช้ช่องทางระบบดิจิทัล และต้องมีระบบติดตามผลเพื่อตรวจสอบสถานภาพของผู้มีสิทธิเป็นประจำทุกปี เพื่อให้ฐานข้อมูลเป็นปัจจุบันและสามารถตรวจสอบได้แบบ Real Time
3. ด้านการติดตาม ประเมินผล และตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณงบเงินอุดหนุน ควรให้กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ พิจารณาสั่งการให้ส่วนราชการภายใต้สังกัด จัดทำแผนการตรวจสอบประเด็น/ขั้นตอนที่มีความเสี่ยงต่อการทุจริตในการดำเนินการใช้จ่ายงบประมาณ งบเงินอุดหนุน และให้มีการวิเคราะห์ พร้อมทั้งจัดทำแผนสำหรับการสุ่มตรวจสอบกรณีที่อาจมีความเสี่ยงต่อการทุจริตในการเบิกจ่ายเงินงบประมาณงบเงินอุดหนุนเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบปัญหาทางสังคม โดยกำหนดให้มีคณะกรรมการตรวจสอบ ติดตาม และประเมินผลที่มีความเหมาะสม และให้มีผู้ทรงคุณวุฒิจากภายนอก ได้แก่ ผู้ตรวจราชการสำนักนายกรัฐมนตรี ผู้แทนผู้ตรวจราชการภาคประชาชน นักวิชาการหรือผู้เชี่ยวชาญด้านการสังคมสงเคราะห์ และผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมเป็นคณะกรรมการดังกล่าว โดยให้มีอำนาจหน้าที่ในการตรวจสอบเกี่ยวกับความถูกต้องโปร่งใส ความรวดเร็ว ในการเบิกจ่ายเงินงบประมาณงบเงินอุดหนุน พร้อมการเปิดเผยรายงานผลการติดตามและประเมินผลของโครงการต่อสาธารณะ
กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage