ธปท.เผยดัชนีความเชื่อมั่นธุรกิจเดือนเม.ย.เหลือ 32.6 ต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ มองอนาคต 3 เดือนข้างหน้ายังไม่ดีขึ้น กังวลสถานการณ์โควิดยืดเยื้อ-รุนแรง
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) เมื่อเร็วๆนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เผยดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจเดือนเม.ย.2563 โดยดัชนีฯปรับตัวลดลงจากเดือนก่อนที่ 42.6 มาอยู่ที่ 32.6 ซึ่งเป็นระดับต่ำที่สุดเป็นประวัติการณ์นับตั้งแต่เริ่มทำการสำรวจในปี 2542 โดยทุกองค์ประกอบของดัชนีฯ อยู่ต่ำกว่าระดับ 50 และเป็นการปรับตัวลงในทุก sector สะท้อนว่าสถานการณ์ COVID-19 ครั้งนี้ ส่งผลกระทบเป็นวงกว้างและรุนแรง
สำหรับผู้ประกอบการในภาคการผลิตมีความเชื่อมั่นด้านการผลิต ค่าสั่งซื้อ และผลประกอบการอยู่ในระดับต่ำมาก โดยเฉพาะกลุ่มผลิตเครื่องจักรและอุปกรณ์และกลุ่มผลิตยานยนต์ ขณะที่ความเชื่อมั่นที่ลดลงในภาคที่มิใช่การผลิต นำโดยกลุ่มค้าปลีก กลุ่มโรงแรมและร้านอาหาร และกลุ่มโลจิสติกส์ เนื่องจากการลดกิจกรรมทางเศรษฐกิจลงเพื่อควบคุมการระบาดของโรค
ส่วนดัชนีฯในอีก 3 เดือนข้างหน้า ลดลงจากเดือนก่อนสู่ระดับ 37.8 ซึ่งใกล้เคียงกับระดับต่ำที่สุดในช่วงวิกฤติการเงินโลกในปี 2551 ที่ระดับ 37.1 จากความกังวลต่อสถานการณ์ COVID-19 ที่มีแนวโน้มยืดเยื้อและรุนแรง โดยดัชนีฯ ลดลงทั้งในภาคการผลิตและภาคที่มิใช่การผลิต
โดยในภาคการผลิต พบว่าผู้ผลิตเครื่องจักรและอุปกรณ์ผู้ผลิตเหล็กและผู้ผลิตยานยนต์มีความเชื่อมั่นลดลงมาก จากคำสั่งซื้อและปริมาณการผลิตที่คาดว่าจะลดลงและอยู่ในระดับต่ำ ส่งผลให้ความเชื่อมั่นด้านการลงทุนและการจ้างงานลดลงมาก สะท้อนว่าอาจมีการลดการจ้างงานในอนาคต สำหรับภาคที่มิใช่การผลิต กลุ่มค้าปลีกและกลุ่มโลจิสติกส์คาดว่าคำสั่งซื้อและผลประกอบการจะลดลงมากตามความต้องการบริโภคสินค้าที่ลดลงจากสภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว
ประกอบกับมีการกักตุนสินค้าในช่วงก่อนการประกาศใช้มาตรการปิดเมืองไว้ค่อนข้างมาก ด้านกลุ่มก่อสร้างมีความเชื่อมั่นด้านการลงทุนและปริมาณการก่อสร้างลดลงมาก ส่งผลให้ความเชื่อมั่นด้านการจ้างงานลดลงเช่นกัน
ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นด้านอื่นๆ พบว่าความเชื่อมั่นด้านคำสั่งซื้อและผลประกอบการที่ลดลงอย่างต่อเนื่องและรุนแรง ทำให้ธุรกิจที่สภาพคล่องลดลงมีจำนวนเพิ่มขึ้นมาก ขณะที่ธุรกิจทั้งขนาดใหญ่และ SMEs เริ่มประสบปัญหาวงเงินสินเชื่อที่ได้รับจากสถาบันการเงินไม่เพียงพอต่อการดำเนินธุรกิจ
นอกจากนี้ สถานการณ์ COVID-19 และมาตรการควบคุมโรคของภาครัฐ ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจบางส่วนหยุดชะงักและความต้องการบริโภคสินค้าในประเทศชะลอลง สอดคล้องกับข้อจำกัดหลักในการดำเนินธุรกิจในเดือนนี้ สำหรับการคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อในอีก 12 เดือนข้างหน้ายังทรงตัวอยู่ที่ 1.5%
อ่านประกอบ :
ตัวเลขส่งออกมี.ค. ‘เขย่ง’ 6% ‘พาณิชย์-แบงก์ชาติ' มองอนาคตการค้าไทย ‘สวนทาง’
กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage