ธปท.เผยผลสำรวจพบไวรัสโควิด-19 กระทบธุรกิจเป็นวงกว้าง ผู้ประกอบการหันใช้นโยบาย ‘สลับกันทำงาน-ลดชั่วโมงทำงาน’ เพื่อควบคุมค่าใช้จ่าย หนุนภาครัฐ ‘เลื่อนเวลาชำระหนี้-อุดหนุนจ้างงาน-ปล่อยกู้ซอฟท์โลน’ พร้อมคาดเศรษฐกิจไทยฟื้นปี 64
เมื่อวันที่ 3 พ.ค. ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เผยผลสำรวจความคิดเห็นผู้ประกอบการรายใหญ่และ SMEs เรื่อง ‘ผลกระทบไวรัส COVID-19 ต่อภาคธุรกิจไทย’ โดยสำรวจผู้ประกอบการ 299 ราย ระหว่างวันที่ 10-24 เม.ย.2563 พบว่า ไวรัส COVID-19 ส่งผลกระทบทางลบต่อภาคธุรกิจเป็นวงกว้าง อีกทั้งยังส่งผลต่อเนื่องไปยังการจ้างงาน โดยธุรกิจใช้นโยบายให้สลับกันมาทำงาน และลดชั่วโมงการทำงานเพิ่มขึ้น เพื่อควบคุมค่าใช้จ่าย โดยเฉพาะในภาคที่มิใช่การผลิต
ส่วนการให้ลูกจ้างลางานโดยไม่รับเงินเดือน (leave without pay) การปลดคนงาน และการลดเงินเดือน เป็น 3 ทางเลือกสุดท้ายที่ผู้ประกอบการจะนำมาใช้ในการรับมือกับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19
ผลสำรวจพบว่าธุรกิจส่วนใหญ่มีสภาพคล่องสำรองไม่เกิน 6 เดือน และมีวัตถุดิบคงคลังสำหรับการผลิตได้เพียง 1-2 เดือนเท่านั้น ขณะที่ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ หรือ 43.8% คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยจะเริ่มฟื้นตัวในปี 2564 และผู้ประกอบการ 43.9% คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจจะเข้าสู่ภาวะปกติในปี 2564 เช่นกัน
ทั้งนี้ ภาคธุรกิจส่วนใหญ่มองว่ามาตรการช่วยเหลือที่เร่งด่วนที่สุด คือ การเลื่อนชำระหนี้ โดยการพักชำระเงินต้นและดอกเบี้ย เพื่อเสริมสภาพคล่องของธุรกิจให้ดำเนินไปได้จนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลายในปีหน้า รองลงมาเป็นการให้ภาครัฐจ่ายเงินอุดหนุนให้กับนายจ้างเพื่อรักษาระดับการจ้างงาน การสนับสนุนสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟท์โลน) และการจ่ายเงินชดเชยให้แรงงานที่ถูกเลิกจ้างหรือมีรายได้ลดลง
อ่านประกอบ :
จ้างงานลด 37%-บัณฑิตใหม่หางานยาก!ไทยพาณิชย์ชี้วิกฤตโควิดทำ ศก.ซบยาว
กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage