'ฉลาดซื้อ' สุ่มถั่วเหลือง 8 ตัวอย่าง พบ 5 ยี่ห้อ มีตกค้าง 'ไกลโฟเซต' ไม่เกินมาตรฐาน 'สารี' หวั่นก่ออันตรายผู้บริโภค จี้ คกก.วัตถุอันตราย เร่งเพิกถอน พร้อมยุติทบทวนยืดอายุพาราควอต -คลอร์ไพริฟอส
วันที่ 29 เม.ย. 2563 นิตยสารฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เปิดเผยผลทดสอบ ยาฆ่าหญ้าไกลโฟเซตในเมล็ดถั่วเหลือง ซึ่งเก็บตัวอย่างในช่วงเดือนธันวาคม 2562 จำนวน 8 ตัวอย่าง จากห้างค้าปลีกและค้าส่ง โดยจากการทดสอบพบว่า มีถั่วเหลือง 3 ตัวอย่างไม่พบไกลโฟเซต ได้แก่ 1) ถั่วเหลือง ตรา บิ๊กซี 2) ถั่วเหลืองซีก ตรา ท็อปส์ 3) ถั่วเหลืองออร์แกนิค ตรา โฮม เฟรช มาร์ท
มีจำนวน 5 ตัวอย่าง มีสารไกลโฟเซต ตกค้าง ได้แก่ 1) ถั่วเหลือง ตรา ไร่ทิพย์ ที่ 0.53 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม 2) ถั่วเหลือง ตรา ด็อกเตอร์กรีน ที่ 0.50 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม 3) ถั่วเหลืองผ่าซีก ตรา แม็กกาแรต ที่ 0.24 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม 4) ถั่วเหลืองซีก ตรา โฮม เฟรช มาร์ท ที่ 0.20 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม และ 5) ถั่วเหลืองซีก ตรา เอโร่ ที่ 0.07 มิลลิกรัม/กิโลกรัม แต่เป็นการตกค้างไม่เกินเกณฑ์มาตรฐานอาหารสากลที่กำหนด คือ 20 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม (MRL CODEX : glyphosate 2006)
น.ส.สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า แม้จะพบการตกค้างไม่เกินมาตรฐาน แต่การที่มีไกลโฟเซตตกค้างในผลิตผลทางการเกษตรทำให้เกิดความเสี่ยงและอาจจะก่อให้เกิดอันตรายต่อผู้บริโภคได้ ทำให้ผู้บริโภคไม่ได้รับการคุ้มครองตามสิทธิอันพึงมีพึงได้ที่ได้รับสิทธิที่จะได้รับความปลอดภัยและสิทธิในการเลือกบริโภค เพราะไกลโฟเซตถือเป็นสารเคมีอันตราย เป็นสารก่อมะเร็งกลุ่ม 2A การสัมผัสสารเพิ่มความเสี่ยงเป็นมะเร็งต่อมน้ำเหลือง ส่งผลต่อต่อมไร้ท่อ พบการตกค้างในเลือดแม่และสะดือทารกแรกเกิดสูงถึง 50.7% และมีคดีฟ้องร้องบริษัทมอนซานโต้-ไบเออร์ ของผู้ป่วยมะเร็งต่อมน้ำเหลือง มากกว่า 10,000 คดีในสหรัฐอเมริกา จึงขอเรียกร้องคณะกรรมการวัตถุอันตราย เร่งรัดการยกเลิกการใช้ไกลโฟเซตโดยเร็วที่สุด รวมทั้งขอให้ยุติการทบทวนการยกเลิกการใช้สารเคมีอันตราย 2 รายการ ได้แก่ พาราควอตและคลอไพริฟอสตามข้อเสนอของสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยด้วย
เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวต่ออีกว่า สำหรับผู้ประกอบการ ขอให้ระบุในฉลากให้ชัดเจนหากมีการใช้ไกลโฟเซตในการเพาะปลูกหรือมีการนำเข้า และเรียกร้องกระทรวงเกษตร ต้องบังคับให้มีการแจ้งแหล่งที่มาของอาหารโดยระบุว่า “มีการใช้ สารไกลโฟเซตในการกระบวนการผลิต” เพื่อให้ผู้บริโภคมีข้อมูลประกอบการตัดสินใจก่อนที่จะเลือกซื้อ และเพื่อหลีกเลี่ยงการได้รับสารเคมีด้วยตนเอง
กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage