ธปท.เตรียมเปิดให้สถาบันการเงินยื่น 'รายชื่อลูกค้า-วงเงินกู้' เพื่อขอกู้เงินตามพ.ร.ก.ปล่อยกู้ซอฟท์โลน 5 แสนล้านบาท ได้ตั้งแต่วันที่ 27 เม.ย.นี้ พร้อมแจ้งผลการอนุมัติภายใน 10 วัน คาดโอนเงินกู้ได้ปลายสัปดาห์หน้า
เมื่อวันที่ 24 เม.ย. นายรณดล นุ่มนนท์ รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า หลังจากพ.ร.ก.การให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ประกอบวิสาหกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 พ.ศ.2563 มีผลบังคับใช้แล้วเมื่อวันที่ 19 เม.ย.ที่ผ่านมานั้น ขณะนี้ ธปท.พร้อมให้สถาบันการเงินยื่นรายชื่อลูกหนี้ และจำนวนเงินที่จะขอไปให้ความช่วยเหลือได้ตั้งแต่วันจันทร์ที่ 27 เม.ย.2563 เป็นต้นไป
ทั้งนี้ เมื่อ ธปท. ตรวจสอบว่าเป็นไปตามหลักเกณฑ์แล้ว สถาบันการเงินจะแจ้งผลการอนุมัติให้ทราบภายใน 10 วัน โดยคาดว่าจะเร่งโอนเงินให้ลูกหนี้ได้ภายในปลายสัปดาห์หน้า
ขณะเดียวกัน ธปท. ได้เร่งกำชับให้สถาบันการเงินช่วยเหลือลูกหนี้ SMEs ที่เดือดร้อนโดยเร็วที่สุด และหวังว่ามาตรการนี้จะช่วยบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้นกับผู้ประกอบการ SMEs ทำให้ SMEs มีเงินสดในมือเพื่อรองรับรายจ่ายจำเป็น โดยเฉพาะค่าจ้างพนักงาน
"ธปท.คาดหวังว่าในช่วง 6 เดือนนี้ สถาบันการเงินจะต้องหารือร่วมกับลูกหนี้อย่างใกล้ชิดเพื่อปรับโครงสร้างหนี้ ปรับแผนการผ่อนชำระหนี้ให้สอดคล้องกับรายได้ที่ลดลง และช่วยจัดโครงสร้างทางการเงินที่เหมาะสมกับธุรกิจของลูกหนี้" นายรณดลกล่าว
รายงานข่าวระบุว่า สำหรับพ.ร.ก.การให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ประกอบวิสาหกิจฯ มีสาระสำคัญ คือ กำหนดให้ ธปท.มีอำนาจให้กู้ยืมเงินแก่สถาบันการเงินเป็นการเฉพาะคราว วงเงินไม่เกิน 5 แสนล้านบาท เพื่อให้สถาบันการเงินให้กู้ยืมเงินแก่ผู้ประกอบวิสาหกิจ โดยธปท.จะคิดดอกเบี้ยจากสถาบันการเงิน 0.01% ต่อปี และให้ยื่นคำขอกู้ยืมเงินภายใน 6 เดือน
ทั้งนี้ สถาบันการเงินจะนำเงินกู้ยืมดังกล่าวไปใช้ให้กู้ยืมแก่ผู้ประกอบวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม โดยวงเงินที่ให้กู้ยืมต้องเป็นการให้สินเชื่อเพิ่มเติมจากยอดหนี้เดิมไม่เกิน 20% ของยอดหนี้คงค้าง ณ วันที่ 31 ธ.ค.2562 แต่ไม่รวมถึงยอดหนี้คงค้างของวงเงินสินเชื่อส่วนบุคคล ภายใต้การกำกับวงเงินสินเชื่อรายย่อยเพื่อการประกอบอาชีพภายใต้การกำกับ และวงเงินสินเชื่อบัตรเครดิต
อย่างไรก็ตาม วงเงินที่ให้กู้ยืมดังกล่าวต้องไม่มีผลกระทบต่อวงเงินสินเชื่อที่มีอยู่เดิม และให้คิดอัตราดอกเบี้ยในส่วนสินเชื่อเพิ่มเติมดังกล่าวไม่เกิน 2% ต่อปี สำหรับระยะเวลา 2 ปีแรก โดยไม่เรียกเก็บดอกเบี้ยจากผู้กู้เป็นระยะเวลา 6 เดือน
พ.ร.ก.ยังกำหนดให้สถาบันการเงินต้องชำระคืนเงินกู้และดอกเบี้ยที่กู้ยืมตามพ.ร.ก.ดังกล่าว ให้แก่ธปท.ภายใน 2 ปีนับแต่วันที่ได้รับเงินกู้ โดยกรณีที่สถาบันการเงินได้รับความเสียหายจากการให้กู้ยืมเงินแก่ผู้ประกอบการวิสาหกิจ ให้สถาบันการเงินได้รับการชดเชยความเสียหายตามที่ธปท.กำหนด โดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ไม่น้อยกว่าที่กำหนดไว้ แบ่งเป็น
1.ชดเชยความเสียหาย 70% ของจำนวนเงินที่สถาบันการเงินต้องกันสำรองเพิ่มเติมจากยอดหนี้รวมของลูกหนี้คูณด้วยอัตราส่วนของยอดหนี้ใหม่ตามพ.ร.ก.นี้กับยอดหนี้รวม สำหรับผู้ประกอบวิสาหกิจที่มีวงเงินสินเชื่อไม่เกิน 50 ล้านบาท และ2.ชดเชยความเสียหาย 60% ของจำนวนเงินที่สถาบันการเงินต้องกันสำรองเพิ่มเติมจากยอดหนี้รวมของลูกหนี้คูณด้วยอัตราส่วนของยอดหนี้ใหม่ตามพ.ร.ก.นี้กับยอดหนี้รวม สำหรับผู้ประกอบวิสาหกิจที่มีวงเงินสินเชื่อเกิน 50 ล้านบาทขึ้นไป
นอกจากนี้ พ.ร.ก.ฉบับนี้ กำหนดให้ธปท.มีอำนาจสั่งให้สถาบันการเงินชะลอการชำระหนี้เงินต้นและดอกเบี้ยของผู้ประกอบวิสาหกิจที่มีวงเงินสินเชื่อกับสถาบันการเงินแต่ละแห่งไม่เกิน 100 ล้านบาทหรือลูกหนี้อื่นได้ โดยไม่ให้ถือว่าเจ้าหนี้ผ่อนเวลาชำระหนี้ให้แก่ลูกหนี้ หรือลูกหนี้ผิดนัดชำระหนี้ โดยธปท.จะประกาศหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการชะลอการชำระหนี้ ระยะเวลาการชะลอการชำระหนี้ และวิธีการชำระหนี้เงินต้นและดอกเบี้ยที่ชะลอไว้ต่อไป
อ่านประกอบ :
โปรดเกล้าฯ พ.ร.ก. 4 ฉบับ เยียวยา-ฟื้นฟูผลกระทบโควิด 1.9 ล้านล.
กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage