วิชรพยาบาล ร่วมกับคณะวิศวกรรมศาสตร์หลายสถาบันดัดแปลงหน้ากากดำน้ำเป็นหมวกอัดอากาศความดันบวก Mini PAPR Version2-เร่งผลิตได้เร็วขึ้น ส่งมอบให้โรงพยาบาล 250 แห่งภายในเมษายนนี้
รองศาสตราจารย์ นพ.อนันต์ มโนมัยพิบูลย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช เปิดเผย ว่า ในวันที่ 9 เมษายน วชิรพยาบาลได้จัดส่ง PAPR หรือหมวกอัดอากาศป้องกันการติดเชื้อความดันบวก ให้แก่โรงพยาบาลทั่วประเทศแห่งละ 2 ชุด ได้ประมาณ 40 โรงพยาบาลแล้ว และกำลังเร่งการผลิตให้ได้ครบจำนวน 500 ชุด เพื่อส่งมอบให้โรงพยาบาลอย่างน้อย 250 แห่ง ภายในเดือนเมษายนนี้ ก่อนที่กลุ่มพันธมิตรบริษัทพีทีทีโกลบอลเคมิคอล( PTT GC) และบริษัทในเครือ จะขึ้นสายการผลิตในทางอุตสาหกรรมเสร็จสิ้นในต้นเดือนพฤษภาคม ซึ่งจะมีขีดความสามารถผลิตได้ในระดับหลายพันชุดต่อเดือนและอาจส่งมอบให้แก่ทุกโรงพยาบาลทั่วประเทศ (ประมาณ 1,000 โรง) ได้ในเดือนพฤษภาคม
รองศาสตราจารย์ นพ.อนันต์ กล่าว่า นอกจากนั้น วชิรพยาบาลได้ดัดแปลงหน้ากากดำน้ำชนิดเต็มใบให้สามารถต่อท่อกรองอากาศเข้ากับพัดลมอัดอากาศและไส้กรอง Hepa Filter และสามารถใช้ในการปฏิบัติการทางการแพทย์ได้ โดยมีประสิทธิภาพไม่แตกต่างจาก PAPR ชิดคลุมเต็มศรีษะ โดยวชิรพยาบาลเรียกการประดิษฐ์ชิ้นใหม่นี้ว่า Mini PAPR Version2 ซึ่งสามารถผลิตให้เร็วขึ้นกว่าเดิม และจะส่งมอบทั้ง PAPR และ Mini PAPR Version อย่างละหนึ่งชุด ให้แก่โรงพยาบาลเป้าหมาย 100 โรงแรกได้ภายในสัปดาห์หน้า ไม่เกินช่วงสงกรานต์นี้ เพื่อให้สามารถมีอุปกรณ์ป้องกันในการให้การดูแลรักษาผู้ป่วย Covid-19 อย่างครบถ้วนสมบูรณ์
อธิการบดีมหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช กล่าวว่า Mini PAPR Version 2 จะใช้วัสดุในประเทศ จากการดัดแปลง ปรับปรุงโดยความร่วมมือของคณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล ร่วมกับคณะวิศวกรรมศาสตร์ หลายสถาบัน และให้ประสิทธิภาพสูงสุดได้ทัดเทียมกับ PAPR ที่สั่งซื้อจากต่างประเทศ โดยได้รับการจัดหา สนับสนุนอุปกรณ์หน้ากากดำน้ำแบบเต็มใบจากบริษัท ปตท จำกัด (มหาชน) ซึ่งจะจัดหาเร่งด่วนให้ได้หน้ากากดำน้ำทั้งแบบเต็มใบชุดแรกจำนวน 500 ใบ ให้แก่วชิรพยาบาลในวันศุกร์ที่ 10 เมษายนนี้ และตั้งแต่วันจันทร์ที่ 13 เมษายนนี้ หน้ากากป้องกันการติดเชื้อ Mini PAPR Version2 ก็จะทยอยจัดส่งให้แก่โรงพยาบาลเป้าหมายทั่วประเทศโดยเร็วที่สุด