‘TMB Analytics’ หั่นเศรษฐกิจปีนี้เป็นติดลบ 0.8% เหตุไวรัสฉุดนักท่องเที่ยวต่างชาติเหลือ 18 ล้านคน ขณะที่การส่งออกหดตัว 7.3% เผยเอสเอ็มอี 2.9 ล้านราย เข้าไม่ถึงสินเชื่อตามมาตรการรัฐ
เมื่อวันที่ 17 มี.ค. นายนริศ สถาผลเดชา หัวหน้าเจ้าหน้าที่บริหาร ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี ธนาคารทหารไทย หรือ TMB Analytics แถลง ‘มุมมองเศรษฐกิจ ปี 2020’ โดยระบุว่า เศรษฐกิจไทยปีนี้น่าจะหดตัว 0.8% จากเดิมที่คาดว่าจะเติบโตได้ 1.8% เนื่องจากได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ทำให้นักท่องเที่ยวต่างชาติของไทยปีนี้ลดลงเหลือ 18 ล้านคน จากปีก่อน 39.8 ล้านคน หรือลดลง 54.9%
ขณะที่มูลค่าการส่งออกไทยในรูปเงินดอลลาร์สหรัฐจะหดตัว 7.3% จากปีก่อนที่ติดลบ 2.5% เนื่องจากการระบาดของไวรัสได้ส่งกระทบต่อซัพพลายเชนและทำให้เศรษฐกิจโลกชะลอตัว โดยเฉพาะการส่งออกสินค้าไปจีนในช่วงครึ่งปีแรกมีแนวโน้มจะหดตัว 16.8% เนื่องจากการชัตดาวน์ของประเทศจีน ส่วนการส่งออกไปตลาดส่งออกหลักอื่นๆทั้งสหรัฐฯ ยุโรป ญี่ปุ่น และอาเซียน มีแนวโน้มหดตัวเช่นกัน
“สินค้าส่งออกที่ได้รับผลกระทบหนัก ได้แก่ ชิ้นส่วนยานยนต์ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ปิโตรเลียมและเคมีภัณฑ์ เพราะจีนไม่นำเข้า หรือผลิตแล้วส่งออกไม่ได้ แต่สินค้าส่งออกที่จะไปได้ดี คือ อาหาร ส่วนราคาน้ำมันที่ลดลง แม้ว่าจะทำให้ภาระการนำเข้าของไทยลดลง และช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้บ้าง แต่คงไม่พอ โดยเราคาดว่าปีนี้การนำเข้าจะติดลบ 11.4% ซึ่งติดลบมากกว่าการส่งออกไทย รวมทั้งทำให้ไทยมีการเกินดุลการค้าต่อเนื่อง” นายนริศกล่าว
นอกจากนี้ สถานการณ์ภัยแล้งที่รุนแรงที่สุดในรอบ 40 ปี จะส่งผลให้รายได้ภาคเกษตรในปีนี้ลดลง 10.5% หรือคิดเป็นมูลค่าความเสียหายต่อเศรษฐกิจกว่า 6 หมื่นล้านบาท ซึ่งกำลังซื้อของเกษตรกรที่ลดลงจะปัจจัยที่เข้ามากดดันการบริโภคภาคเอกชน ซ้ำเติมความกังวลของการแพร่ระบาดของไวรัสและปัจจัยเสี่ยงเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้น โดยคาดว่าปีนี้การบริโภคภาคเอกชนมีแนวโน้มจะหดตัว 0.3%
อย่างไรก็ตาม การที่พ.ร.บ.งบประมาณปี 2563 มีผลบังคับใช้แล้ว และจะทยอยเบิกจ่ายงบลงทุนเข้าสู่ระบบในไตรมาส 2 โดยเฉพาะโครงการลงทุนที่มีลงนามแล้ว 3.5 แสนล้านบาทที่จะเบิกจ่ายได้ก่อน จะทำให้อัตราการเบิกจ่ายงบปี 2563 อยู่ที่ระดับ 60% ซึ่งเป็นระดับต่ำกว่า 70% ในปี 2562 ในขณะที่เม็ดเงินลงทุนของรัฐวิสาหกิจจะสามารถเบิกจ่ายในระดับ 80% ซึ่งสูงกว่าปีแล้ว และจะส่งผลให้การลงทุนภาครัฐโดยรวมขยายตัว 2% ซึ่งเป็นปัจจัยบวกที่จะประคองเศรษฐกิจได้
“เศรษฐกิจปีนี้จะเหนื่อยหนักกว่าปี 2008-2009 ซึ่งเป็นช่วงวิกฤติซับไพรม์ โดยความเสียหายจากไวรัสโควิด-19 จะทำให้ภาคการท่องเที่ยวหดตัวลึก และเข้าสู่จุดต่ำสุดในไตรมาส 2 ก่อนจะใช้เวลาฟื้นตัว 2 ไตรมาส ส่วนภาคการส่งออกได้รับผลกระทบรุนแรงน้อยกว่าปี 2009 ขณะที่การบริโภคภาคเอกชนคาดว่าจะหดตัวที่ 2% และการฟื้นตัวจะใช้เวลานานกว่า 2 ไตรมาสเช่นกัน” นายนริศระบุ
นายนริศ ประเมินว่า กนง.จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีก 0.50% ในช่วงครึ่งปีแรก ทำให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายแตะกรอบล่างที่ 0.50% ต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและสอดคล้องกับทิศทางอัตราดอกเบี้ยโลก สำหรับค่าเงินบาทมีแนวโน้มอ่อนค่าลง จากความเสี่ยงเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้นจากวิกฤติไวรัสโควิดและการไหลออกของเงินทุน โดยเคลื่อนไหวในช่วง 31.5-32.5 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ
นายนริศ ยังระบุว่า แม้ว่าที่ผ่านมาภาครัฐจะมีมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการ โดยเฉพาะเอสเอ็มอี โดยการสนับสนุนสินเชื่อคิดเป็นวงเงินกว่า 3 แสนล้านบาท แต่ผลสำรวจพบว่าผู้ประกอบการเอสเอ็มอีทั่วประเทศที่มีกว่า 3 ล้านราย ซึ่งมีการจ้างงาน 16.3 ล้านคน เข้าถึงสินเชื่อได้น้อยมาก โดยมีผู้ประกอบการเพียง 1.2 แสนราย หรือคิดเป็น 3.9% เท่านั้นที่เข้าถึงสินเชื่อตามมาตรการภาครัฐ แต่อีก 2.9 ล้านรายหรือ 96% ไม่สามารถเข้าถึงสินเชื่อได้
นอกจากนี้ TMB Analytics ประเมินว่าวิกฤติไวรัสโควิด-19 จะทำภาคธุรกิจไทยสูญรายได้ 5.13 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 30% ของ GDP โดยกิจการ SMEs รายย่อยมีแนวโน้มได้รับผลกระทบหนักสุด โดยคาดว่ารายได้ของธุรกิจ SMEs รายย่อยจะมีรายได้ลดลง 1.7 แสนล้านบาท หรือลดลง 20.2% รองลงมาเป็นธุรกิจ SMEs รายเล็ก มีรายได้ลด 5.2 แสนล้านบาท หรือลดลง 12.5% ในขณะที่ธุรกิจขนาดกลางและขนาดใหญ่รายได้จะลดลง 10-11%
อ่า่นประกอบ :
‘ไทยพาณิชย์’ ชี้ไวรัสทุบเศรษฐกิจไทย กรณีเลวร้ายติดลบ 2%
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/