‘SCB EIC’ คาดกนง. ลดดอกเบี้ยอย่างน้อย 0.25% หลังเศรษฐกิจโลก-ไทยเสี่ยงเพิ่มขึ้น ไวรัสโควิด-19 ในไทยรุนแรงขึ้น ชี้กรณีเลวร้ายเศรษฐกิจไทยจะติดลบ 2% คาดแบงก์ชาติงัดมาตรการอัดสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำเพิ่มสภาพคล่องในระบบ
เมื่อวันที่ 17 มี.ค. ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) ออกบทวิเคราะห์ โดยระบุว่า ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) วันที่ 25 มี.ค.นี้ คาดว่า กนง.จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงอีกอย่างน้อย 0.25% จากปัจจุบันที่อยู่ที่ 1.00% และมองว่า กนง.อาจมีมาตรการอื่นๆเพิ่มเติม เนื่องจากเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น รวมการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ในไทยล่าสุดที่เริ่มรุนแรงขึ้น
นอกจากนี้ EIC ยังมองว่ามีโอกาสสูงขึ้นที่เศรษฐกิจไทยปี 2020 อาจหดตัวมากกว่าที่เคยคาดในกรณีฐาน (base case scenario) ที่ติดลบ 0.3% และมีโอกาสเข้าใกล้กรณีเลวร้ายมากขึ้น (worse case scenario) ที่เศรษฐกิจติดลบ 2%
“นอกจากเฟดแล้ว ธนาคารกลางหลายแห่งทั่วโลกต่างดำเนินนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายมากขึ้น ทำให้ EIC มองว่า กนง. มีความจำเป็นที่ต้องปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงอย่างน้อย 0.25% ภายในการประชุมวันที่ 25 มี.ค.นี้ เพื่อเพิ่มสภาพคล่องและความเชื่อมั่นให้กับผู้ร่วมตลาดในช่วงที่ตลาดการเงินมีความผันผวนสูง และเพื่อการสนับสนุนการปรับโครงสร้างหนี้” บทวิเคราะห์ระบุ
สำหรับมาตรการที่ กนง.จะนำมาใช้เพิ่มเติม เพื่อส่งเสริมความเชื่อมั่นและกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะต่อไปนั้น EIC ประเมินว่าน่าจะมีอย่างน้อย 2 มาตรการ ได้แก่
1.กนง.น่าจะมีการส่งสัญญาณเกี่ยวกับแนวโน้มการดำเนินนโยบายการเงินที่ชัดเจนขึ้น เพื่อปรับมุมมองและสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ครัวเรือนและนักลงทุน โดยอาจเน้นย้ำถึงแนวโน้มการดำเนินนโยบายอัตราดอกเบี้ยต่ำมากต่อเนื่อง และจะไม่รีบปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในระยะสั้น หรืออาจสื่อสารถึงเงื่อนไขที่จะทำให้ กนง.ขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายได้ในระยะต่อไป เช่น ต้องเห็นสถานการณ์การระบาดของ COVID-19 คลี่คลายอย่างมีนัยสำคัญ หรือ เศรษฐกิจไทยกลับมาฟื้นตัวได้อย่างชัดเจน เป็นต้น
2.การปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (targeted soft loan) ในช่วงที่ภาวะการเงินไทยตึงตัวขึ้นอย่างมากจากทั้งความผันผวนในตลาดทุน ตลาดพันธบัตรที่ปรับสูงขึ้น การขยายตัวของสินเชื่อธนาคารพาณิชย์ที่ปรับชะลอลง รวมถึงความผันผวนของเงินทุนเคลื่อนย้าย ทำให้ EIC มองว่า ธปท. อาจดำเนินนโยบายเพิ่มเติมเพื่อช่วยผ่อนคลายภาวะการเงินเฉพาะจุด โดยการปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำให้แก่ภาคธุรกิจที่เผชิญปัญหารุนแรงเป็นหนึ่งในเครื่องมือที่สามารถดำเนินได้
“ในอดีตที่ผ่านมา ธปท. ได้เคยดำเนินนโยบายลักษณะนี้มาแล้ว โดยในช่วงที่เกิดปัญหาน้ำท่วมปลายปี 2011 รัฐบาลได้มีการออกพ.ร.ก.อนุญาตให้ ธปท. สามารถปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำที่ 0.01% ต่อปี แก่ธนาคารพาณิชย์เพื่อนำไปปล่อยสินเชื่อต่อให้แก่ครัวเรือนและธุรกิจ SMEs ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์น้ำท่วมโดยคิดอัตราดอกเบี้ยไม่เกิน 3% ต่อปี ซึ่งมาตรการในลักษณะนี้เป็นการช่วยผ่อนคลายภาวะการเงินที่ตึงตัวเฉพาะจุดได้ดี”รายงานระบุ
EIC ยังประเมินว่า นอกจากการผ่อนคลายนโยบายการเงินแล้ว เชื่อว่าการผ่อนคลายนโยบายการคลังเพิ่มเติมน่าจะเข้ามามีบทบาทมากขึ้นเพื่อชดเชยรายได้ที่หายไป และกระตุ้นอุปสงค์ในประเทศ
อ่านประกอบ :
เติม 'สภาพคล่อง' หล่อเลี้ยงธุรกิจ ก่อนอัดฉีดกระตุ้นเศรษฐกิจ หลัง 'ไวรัส' สงบ
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/