นายกฯ สั่งใช้มาตรการเร่งด่วน 14 ข้อ ป้องกันการแพร่ระบาดไวรัส 'โควิด-19' สั่งขรก.ระงับเดินทางไปประเทศกลุ่มเสี่ยง พร้อมขอความร่วมมือเอกชนเลื่อนจัดกิจกรรมที่มีคนรวมตัวจำนวนมาก ขณะที่ 'กรมการค้าภายใน' เตรียมชง 'กกร.' จำกัดการถือครองหน้ากากอนามัยของประชาชน ส่งเจ้าหน้าที่เฝ้า 11 โรงงาน ตรวจสอบปริมาณการผลิต
เมื่อวันที่ 3 มี.ค. นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้มีข้อสั่งการเกี่ยวกับมาตรการเร่งด่วน สำหรับการแก้ไขปัญหาจากโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (COVID-19) จำนวน 14 ข้อ ได้แก่
1.ให้ส่วนราชการและหน่วยงานอื่นของรัฐ ดำเนินการตามมาตรการของกระทรวงสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด และหากมีความจำเป็นให้ส่วนราชการและหน่วยงานต่างๆ ดำเนินการกำหนดมาตรการเป็นการภายในต่อไป
2.ให้ส่วนราชการและหน่วยงานอื่นของรัฐ ระงับหรือเลื่อนการเดินทางไปศึกษา ดูงาน อบรมหลักสูตร หรือประชุม ในประเทศที่มีการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (COVID-19) และประเทศเฝ้าระวัง ตามที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด โดยในส่วนของการดูงานหรืออบรมหลักสูตร ขอให้พิจารณาเปลี่ยนแปลงงบประมาณเป็นการดูงาน หรือจัดอบรมหลักสูตรภายในประเทศแทนจนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลาย
เว้นแต่กรณีมีความจำเป็นไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ ต้องได้รับอนญาตให้เดินทางออก นอกราชอาณาจักรจากหัวหน้าส่วนราชการหรือหน่วยงานอื่นของรัฐ ทั้งนี้ให้ กระทรวงการคลัง พิจารณามาตรการที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้มีผลกระทบต่อเอกชนคู่สัญญาน้อยที่สุด
3.ให้เจ้าหน้าที่ของส่วนราชการหรือหน่วยงานอื่นของรัฐที่เดินทางกลับมาจาก หรือ เดินทางผ่าน หรือมีเส้นทางแวะผ่าน (Tiansit/Tiansfer) ประเทศที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อและแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (COVID-19) หรือ มีเหตุอันควรสงสัยว่าเป็นโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (COVID-19) และจำเป็นต้องสังเกตอาการ ปฏิบัติงานภายในที่พัก 14 วัน โดยไม่ถือเป็นวันลา
ทั้งนี้ ให้สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน จัดทำหลักเกณฑ์สำหรับให้ข้าราชการปฏิบัติงานภายในที่พัก โดยให้เป็นไปตามกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องในส่วนของประชาชนทั่วไปที่เดินทางกลับมาจาก หรือ เดินทางผ่าน หรือมีเส้นทางแวะผ่าน (Transit/Transfer) ประเทศที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อและแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ให้ด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขดำเนินการคัดกรองประชาชนกลุ่มดังกล่าวอย่างเคร่งครัด และปฏิบัติตามมาตรการที่กระทรวงสาธารณสุข หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำหนด
ในกรณีที่มีความจำเป็นให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดการขนส่งประชาชนกลุ่มดังกล่าวกลับภูมิลำเนาหรือไปยังสถานพยาบาลอย่างเหมาะสม รวมถึงการกำกับดูแล การกักกันตนเอง ณ ที่พักอาศัย โดยให้มีการบูรณาการการดำเนินงานระหว่างชุมชน จิตอาสาอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม) และสถานพยาบาลในพื้นที่ ในการติดตาม ฝ้าระวัง ตรวจสอบ และป้องกันอย่างใกล้ชิด
4.จัดให้มีศูนย์ข้อมูลมาตรการแก้ไขปัญหาจากโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (COVID-19) ขึ้น ณ ทำเนียบรัฐบาล เพื่อบูรณาการข้อมูลจากทุกส่วนราชการ รับเรื่องร้องเรียนจากประชาชน และสื่อสารข้อมูลที่ถูกต้องให้กับสาธารณชน โดยเฉพาะในส่วนของมาตรการแก้ไขปัญหาจากโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (COVD-19) ในทุกมิติ รวมถึงจัดทำสื่อประชาสัมพันธ์ให้เข้าถึงทุกกลุ่ม เพื่อสร้างการรับรู้ ตระหนัก และขอความร่วมมือประชาชนปฏิบัติตามมาตรการที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด โดยเฉพาะขั้นตอนการเฝ้าระวังและการป้องกัน
5.มอบหมายให้กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงอุตสาหกรรม ร่วมกันพิจารณาปริมาณความต้องการของสินค้าที่จำเป็นต่อการป้องกันการแพร่ระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (COVID-19) เช่น หน้ากากอนามัย และน้ำยาฆ่าเชื้อหรือเจลฆ่าเชื้อ และจัดหาให้เพียงพอกับความต้องการดังกล่าวในแต่ละช่วงเวลา โดยควรจัดลำดับความสำคัญในการกระจายสินค้าที่จำเป็นดังล่าวตามระดับความเสี่ยงของบุคคล หน่วยงาน และสถานที่ เช่น สถานพยาบาลทั้งภาครัฐและภาคเอกชน กลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน กลุ่มที่มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (COVID-19) และประชาชนทั่วไป
6.มอบหมายให้กระทรวงพาณิชย์ ดำเนินการป้องกันการกักตุน และควบคุมราคาสินค้าที่จำเป็นต่อการป้องกันการแพร่ระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (COVD-19) เช่น หน้ากากอนามัย และน้ำยาฆ่าเชื้อหรือเจลฆ่าเชื้อ อย่างเคร่งครัด โดยครอบคลุมถึงซ่องทางการขายสินค้าออนไลน์ด้วย
7.มอบหมายให้กระทรวงคมนาคม กระทรวงมหาดไทย และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ดำเนินมาตรการคัดกรองผู้โดยสาร ณ ท่าอากาศยาน ท่าเรือ สถานีรถไฟ สถานีรถไฟฟ้า สถานีขนส่งผู้โดยสาร และท่ารถ อย่างเคร่งครัด
8.ให้กระทรวงการต่างประเทศ และกระทรวงแรงงาน ติดตามและดูแลคนไทยที่พำนักอยู่ในประเทศที่มีการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (COVID-19) และ ประเทศเฝ้าระวังตามที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด อย่างใกล้ชิด
9.มอบหมายให้กระทรวงมหาดไทยและกระทรวงกลาโหม จัดเตรียมสถานที่พื้นที่สำหรับสังเกตอาการในกรณีที่พบว่าผู้เดินทางเป็นหรือมีเหตุอันควรสงสัยว่าเป็นโรคติดต่ออันตรายโรคระบาด หรือพาหะนำโรคตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนด
10.ในกรณีที่มีความจำเป็นต้องจัดหาเวชภัณฑ์และอุปกรณ์ต่างๆ ที่จำเป็นเพิ่มเติมให้ กระทรวงสาธารณสุข และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประสานสำนักงบประมาณ เพื่อขอรับจัดสรรงบประมาณเพิ่มเติม เพื่อให้มีเวชภัณฑ์และอุปกรณ์ต่งๆ สำหรับดำเนินการอย่างเพียงพอ
11.ให้มีการจัดประชุมคณะกรรมการอำนวยการเตรียมความพร้อม ป้องกัน และแก้ไขปัญหาโรคติดต่ออุบัติใหม่แห่งชาติอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้นายกรัฐมนตรีรับทราบสถานการณ์และข้อมูลต่างๆ รวมถึงร่วมพิจารณาแนวทางการแก้ไขปัญหา
12.ให้กระทรวงสาธารณสุข ดูแลบุคลากรทางการแพทย์ และเจ้าหน้าที่กระทรวงสาธารณสุขที่เกี่ยวข้อง ในด้านต่างๆ อย่างเหมาะสม และจัดให้มีสวัสดิการพิเศษเพื่อสร้างขวัญและกำลังใจให้กับบุคลากรทางการแพทย์ เจ้าหน้าที่กระทรวงสาธารณสุขที่เกี่ยวข้อง และครอบครัว
13.ให้กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงสาธารณสุข บูณาการและเชื่อมโยงข้อมูลต่างๆที่เกี่ยวข้องกับการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (COVID-19) เพื่อรองรับการดำเนินการตามพระราชบัญญัติป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ. 2550 หากมีความจำเป็น
14.ให้ส่วนราชการและหน่วยงานอื่นของรัฐขอความร่วมมือจากผู้ประกอบการภาคเอกชนให้หลีกเลี่ยง หรือเลื่อนการจัดกิจกรรมที่มีการรวมตัวของประชาชนเป็นจำนวนมาก และอาจมีความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรคโดยไม่จำเป็น เช่น การแข่งขันกีฬา การจัดคอนเสิร์ต และการจัดมหรสพเว้นแต่เป็นกิจกรรมที่เป็นการดำเนินการของสถานประกอบการตามปกติ ให้ดำเนินการตามมาตรการเฝ้าระวังและป้องกัน ตามที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนดอย่างเคร่งครัด
ในกรณีที่เป็นกิจกรรมที่ต้องขออนุญาตจากหน่วยงานของรัฐ ให้ผู้มีอำนาจอนุญาตพิจารณาความเหมาะสมของกิจกรรมอย่างรอบคอบ โดยคำนึงถึงความเสี่ยงต่อสาธารณชนโดยรวมต่อการแพร่ระบาดของโรคเป็นสำคัญ
ด้าน น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุมครม.ยังทราบผลการประชุมร่วมกันระหว่างนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พาณิชย์ และโรงงานผู้ผลิตหน้ากากอนามัย 11 แห่ง รวมถึงกระทรวงสาธารณสุข และสมาคมต่างๆ เกี่ยวกับการแก้ปัญหาหน้ากากอนามัยขาดแคลน
โดยในส่วนของการป้องกันกักตุนและการลักลอบขายหน้ากากอนามัยเกินราคานั้น หลังจากที่รัฐบาลประกาศให้หน้ากากอนามัยเป็นสินค้าควบคุมไปแล้วเมื่อต้นเดือนก.พ.ที่ผ่านมา กระทรวงพาณิชย์เสนอครม.ว่า สิ่งที่จะดำเนินการต่อไป คือ จะส่งเจ้าหน้าที่กระทรวงพาณิชย์ไปประจำโรงงานผลิตหน้ากากอนามัยทั้ง 11 แห่ง เพื่อตรวจสอบปริมาณการผลิต และโรงงานจะต้องแจ้งด้วยว่ามีการกระจายสินค้าไปที่ใดบ้างทุกวัน
ขณะเดียวกัน จะให้โรงพยาบาลทั่วประเทศและหน่วยบริการทางการแพทย์ต่างๆแจ้งเข้ามาว่า มีความต้องการหน้ากากอนามัยเท่าใดในแต่ละช่วงเวลา เพื่อให้จัดสรรหน้ากากอนามัยให้เพียงพอ พร้อมทั้งยืนยันว่ารัฐบาลจะให้ขายหน้ากากอนามัยในราคาชิ้นละ 2.5 บาท แต่เพื่อบรรเทาผลกระทบให้กับโรงงานผู้ผลิต 11 แห่งที่มีต้นทุนวัตถุดิบที่สูงขึ้น กระทรวงพาณิชย์จะไปวิเคราะห์ต้นทุน จากนั้นจะเสนอครม.ว่าจะให้การอุดหนุนภาระต้นทุนของเอกชนได้อย่างไรบ้าง
นอกจากนี้ พล.อ.ประยุทธ์ ยังสั่งการให้กระทรวงการคลังไปพิจารณาเกี่ยวกับการใช้มาตรการภาษี เพื่อสนับสนุนให้โรงงานผู้ผลิตหน้ากากอนามัย มีการนำเข้าเครื่องจักรสำหรับการผลิตตัวกรองที่ใช้ในการผลิตหน้ากากอนามัย เช่น จะมีการพิจารณาให้สิทธิประโยชน์บีโอไอเพิ่มเติมได้หรือไม่
น.ส.รัชดา กล่าวว่า ปัจจุบันโรงงานทั้ง 11 แห่ง ผลิตหน้ากากอนามัยได้เดือนละ 36 ล้านชิ้น แต่หากผลิตเต็มที่จะผลิตได้ถึงเดือนละ 38 ล้านชิ้น และที่ผ่านมาได้กระจายไปในช่องทางต่างๆ โดยเฉพาะกระจายไปยังโรงพยาบาลต่างๆวันละ 3.5 แสนชิ้น เป็นต้น ขณะที่กระทรวงพาณิย์ไม่มีนโยบายที่จะอนุญาตให้ส่งออกหน้ากากอนามัยแล้ว
ส่วนการดำเนินจับกุมดำเนินคดีกับผู้ค้าออนไลน์ที่ขายหน้ากากอนามัยแพงเกินจริงนั้น กระทรวงพาณิชย์จะประสานไปยังกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ขอความร่วมมือกับเจ้าของแพลตฟอร์มออนไลน์ ให้ช่วยค้นหาผู้ค้าออนไลน์ที่มีการขายหน้ากากอนามัยเกินราคา และจากนี้ไปหากพบว่าการขายหน้ากากอนามัยผ่านช่องทางออนไลน์มีการโก่งราคาอีก ไม่ใช่เพียงผู้ค้าออนไลน์ที่กระทำผิดเท่านั้นที่จะถูกดำเนินคดี แต่เจ้าของแพลตฟอร์มออนไลน์จะต้องถูกดำเนินคดีด้วย
น.ส.รัชดา กล่าวด้วยว่า ในระยะต่อไปกระทรวงพาณิชย์จะมีการกำหนดปริมาณการครอบครองหน้ากากอนามัยของประชาชน โดยกรมการค้าภายใน จะส่งเรื่องไปยังคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ (กกร.) ให้พิจารณาว่าจะกำหนดให้ประชาชนแต่ละคนจะครอบครองหน้ากากอนามัยได้เท่าไหร่ และหากมีเกินกว่านั้นจะต้องแจ้งให้กรมการค้าภายในทราบ เพราะปัญหาสำคัญที่ทำให้หน้ากากอนามัยขาดแคลน เนื่องจากมีการกักตุน
น.ส.รัชดา ยังกล่าวว่า ครม.ยังมีมติเห็นชอบงบกลางรายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ปีงบ 63 ให้กับโครงการพลังคนไทยร่วมใจป้องกันไวรัสโคโรนา (โควิด-19) วงเงิน 225 ล้านบาท เพื่อนำไปผลิตหน้ากากผ้า 50 ล้านชิ้น หรือคิดเป็นต้นทุนชิ้นละ 4.5 บาท โดยให้กระทรวงมหาดไทยเป็นผู้รับผิดชอบโครงการ โดยให้ประชาชนในท้องถิ่นต่างๆเป็นผู้ผลิต ซึ่งประชาชนกลุ่มนี้ได้รับการอบรมจากเจ้าหน้าที่อาสาสมัครสาธารณสุข (อสม.) แล้ว ดังนั้น หน้ากากผ้าที่ผลิตออกมามีคุณสมบัติเพียงพอต่อการป้องกันโรคในกลุ่มคนที่มีสุขภาพปกติ
นอกจากนี้ ครม.มีมติอนุมัติจัดสรรงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ปีงบ 2563 วงเงิน 1,233 เพื่อเตรียมความพร้อมป้องกันและแก้ไขปัญหาโรคติดต่ออุบัติใหม่ : กรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (Covid -19) ระยะการระบาดในวงจำกัด (ระยะที่ 2) โดยมีระยะเวลาดำเนินการ 3 เดือน หรือเดือนมี.ค.-พ.ค.2563
โดยมีเป้าหมายเพื่อลดจำนวนผู้ป่วยและเสียชีวิตจากโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ควบคุมการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ให้อยู่ในวงจำกัด ช่วยลดผลกระทบทางด้านสุขภาพ เศรษฐกิจ การท่องเที่ยว สังคม และเพิ่มความมั่นคงของประเทศ และยกระดับสมรรถนะการเฝ้าระวัง ป้องกัน ควบคุมโรค ของประเทศให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล
อ่านประกอบ :
เร่งผลิตไม่มีหยุดพัก 38 ล.ชิ้น! 'จุรินทร์' ถก 11 บ. แก้ขาดแคลนหน้ากากอนามัย-ขายแพงคุก 7 ปี
ไขปม ‘หน้ากากอนามัย’ หายจริงหรือ ? เฉลยช่องโหว่คุม ‘วนซื้อ’ ไม่ได้
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/