"...ผมจะต้องคุยกับผู้บริหารเซเว่นฯว่า มันเกิดอะไรขึ้น ที่ส่งไปแล้ววูบเดียวหาย ก็เป็นไปได้ เพราะว่าบางคนเข้าไปซื้อแล้ว ไม่ซื้อเที่ยวเดียว ผมก็ถามถ้าเป็นการวนซื้อจะป้องกันไหม เซเว่นฯบอกว่าป้องกันไม่ได้ ครั้งหนึ่งให้ 1 แพ็คก็ใช่ แต่ถ้าเดินวนหลายครั้งเซเว่นฯกันไม่ได้ สิ่งเหล่านี้มันไม่ใช่ใช้กฎหมายไปว่ากัน แต่อยากให้เห็นใจกันมากกว่า..."
ท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส ‘โควิด-19’ ที่ยังไม่มีสัญญาณว่าจะยุติลงโดยง่าย และทวีความรุนแรงขึ้นในหลายประเทศ รวมถึงประเทศไทย ส่งผลให้ ‘หน้ากากอนามัย’ กลายเป็นปัจจัยที่ 5 สำหรับใครหลายคน
แต่ทว่าวันนี้สังคมกำลังตั้งคำถามว่า หน้ากากอนามัย ที่ ‘ศูนย์บริหารจัดการหน้ากากอนามัย’ ของกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ ได้รับ ‘ปันส่วน’ จากโรงงานผลิตในประเทศ คิดเป็นสัดส่วน 50% ของกำลังผลิตทั้งหมด ในราคาชิ้นละไม่เกิน 2 บาทนั้น
มีการจัดสรรไปที่ใดบ้าง และเหตุใดประชาชนทั่วไปแทบจะหาซื้อหน้ากากอนามัยในราคาแพ็คละ 10 บาท หรือเฉลี่ยชิ้นละ 2.5 บาท ตามที่กรมการค้าภายในประกาศไม่ได้เลย ที่สำคัญมีโพสต์ขายหน้ากากอนามัยในเพจเฟซบุ๊กในราคาเฉลี่ยชิ้นละ 10-15 บาท โดยบางราย ระบุว่า มีหน้ากากอนามัยพร้อมขาย 1.25 ล้านชิ้น
ล่าสุด วิชัย โภชนกิจ อธิบดีกรมการค้าภายใน ออกมาชี้แจงว่า ปัจจุบันไทยมีโรงงานผลิตหน้ากากอนามัยในประเทศ 11 แห่ง ผลิตหน้ากากอนามัยได้วันละ 1.35 ล้านชิ้น ในจำนวนนี้เป็นหน้ากากอนามัยที่โรงงานผู้ผลิต จัดส่งมาให้ศูนย์บริหารจัดการหน้ากากอนามัยวันละ 6 แสนชิ้น
“หน้ากากอนามัย 3.5 แสนชิ้น ถูกจัดสรรให้โรงพยาบาลรัฐผ่านองค์การเภสัชกรรม 2 แสนชิ้น และอีก 1.5 แสนชิ้น โรงงานผู้ผลิตจัดส่งตรงไปยังโรงพยาบาลที่เป็นลูกค้า ซึ่งในส่วนนี้เราจะมีการเรียกหลักฐานการจัดส่งมาดูให้ชัดเจน
ส่วนที่เหลืออีก 2.5 แสนชิ้นถูกจัดสรรไปให้สมาคมร้านขายยา 2.5 หมื่นชิ้น บริษัท การบินไทย 1.8 หมื่นชิ้น และส่วนที่เหลือจะนำไปขายให้ผู้บริโภครายย่อยผ่านร้านเซเว่น-อีเลฟเว่น บิ๊กซี และเทสโก โลตัส และร้านธงฟ้า โดยขายแพ็คละ 4 ชิ้น ราคาแพ็คละ 10 บาท หรือเฉลี่ยชิ้นละ 2.5 บาท และจำกัดการซื้อคนละไม่เกิน 1 แพ็ค
นอกจากนี้ กรมการค้าภายใน จะมีการจัดส่งรถเคลื่อนที่ 111 คัน ออกขายหน้ากากอนามัยแพ็คละ 10 บาท ในพื้นที่ทั่วประเทศ แบ่งเป็นกรุงเทพ-ปริมณฑล 21 คัน และต่างจังหวัด 90 คัน” วิชัยแจง
อย่างไรก็ตาม วิชัย ยอมรับว่า การขายหน้ากากอนามัยที่ร้านสะดวกซื้อ เช่น ร้านเซเว่น-อีเลฟเว่น มีจุดอ่อน คือ ผู้ซื้อบางรายรายซื้อหน้ากากอนามัยไปแล้ว แต่ก็กลับมาวนซื้ออีก ซึ่งร้านเซเว่นฯยอมรับว่าไม่สามารถป้องกันได้
“ผมจะต้องคุยกับผู้บริหารเซเว่นฯว่า มันเกิดอะไรขึ้น ที่ส่งไปแล้ววูบเดียวหาย ก็เป็นไปได้ เพราะว่าบางคนเข้าไปซื้อแล้ว ไม่ซื้อเที่ยวเดียว ผมก็ถามถ้าเป็นการวนซื้อจะป้องกันไหม เซเว่นฯบอกว่าป้องกันไม่ได้ ครั้งหนึ่งให้ 1 แพ็คก็ใช่ แต่ถ้าเดินวนหลายครั้งเซเว่นฯกันไม่ได้ สิ่งเหล่านี้มันไม่ใช่ใช้กฎหมายไปว่ากัน แต่อยากให้เห็นใจกันมากกว่า” วิชัยกล่าว
วิชัย กล่าวว่า ในส่วนการขายหน้ากากอนามัยของโรงงานผู้ผลิตวันละ 7.5 แสนชิ้น วันนี้ (2 มี.ค.) นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกฯและรมว.พาณิชย์ ประชุมร่วมกับโรงงานผู้ผลิต 11 แห่ง เพื่อจัดระบบการกระจายหน้าอนามัยกันใหม่ เพื่อลดปัญหาการหาซื้อหน้ากากอนามัยไม่ได้
“หน้าหากอนามัย 7.5 แสนชิ้น ที่กระจายผ่านกลไกปกติของโรงงานนั้น วันนี้เราจะมาจัดระบบกันใหม่ และรองนายกฯ (นายจุรินทร์) จะหารือร่วมกับโรงงานผู้ผลิตเพื่อกำหนดกติกาว่าจะขายอย่างไร” วิชัยระบุ
วิชัย ยังกล่าวว่า สาเหตุที่ทำให้หน้ากากอนามัยขาดแคลน เพราะความต้องการซื้อสูงกว่าปกติ 5 เท่า และแทนที่จะซื้อคนละ 2-3 ชิ้น แต่ตอนนี้ซื้อกันคนละ 5-10 ชิ้น เนื่องจากมีความตื่นตระหนก และกังวลเกี่ยวกับโรค อีกทั้งก่อนไวรัสจะระบาดไทยมีการนำเข้าหน้ากากอนามัยเดือนละ 20 ล้านชิ้น แต่ตอนนี้ประเทศผู้ส่งออกระงับการส่งออกแล้ว
วิชัย ย้ำว่า การกระจายหน้ากากอนามัย กรมฯให้ความสำคัญกับการจัดสรรไปยังกลุ่มที่มีความเสี่ยงก่อน ได้แก่ บุคลากรทางการแพทย์ รองลงเป็นกลุ่มที่โอกาสสัมผัสกับกลุ่มที่มีโอกาสป่วย เช่น เจ้าหน้าที่สถานีขนส่ง สนามบิน และโรงแรมที่ต้องบริการนักท่องเที่ยว ส่วนกลุ่มที่มีความเสียงน้อยอาจใช้หน้ากากผ้าทดแทนไปก่อน เป็นต้น
ด้าน สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ระบุว่า สาเหตุที่ทำให้หน้ากากอนามัยหายไปจากท้องตลาด เพราะมีคนส่วนหนึ่งต้องการเก็งกำไร และในบางกรณีมูลนิธิได้รับการร้องเรียนจากผู้บริโภคว่า ราคาหน้ากากอนามัยมีราคาสูงถึงชิ้นละ 40 บาท จึงอยากเห็นกระทรวงพาณิชย์จัดการเรื่องนี้ให้ชัดเจน
“มีผู้บริโภคร้องเรียนว่า ตอนนี้ราคาหน้ากากอนามัยแพงมาก บางกรณีบอกว่ามีการขายกันที่ชิ้นละ 40 บาท ซึ่งเราได้ให้เขาแจ้งไปที่กระทรวงพาณิชย์ อีกทั้งมีโรงพยาบาลบางแห่ง โดยเฉพาะโรงพยาบาลในท้องถิ่น บอกว่าไม่มีหน้ากากอนามัยใช้แล้ว เราจึงอยากให้กระทรวงพาณิชย์กระจายหน้ากากอนามัยไปสู่หน่วนบริการเหล่านี้ก่อน” สารี กล่าว
สารี เสนอว่า อยากให้กระทรวงพาณิชย์ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข สำรวจข้อมูลว่าหน่วยบริการทางการแพทย์ และกลุ่มเสี่ยง อาทิ เด็ก ผู้สูงอายุ และคนที่มีโรคประจำตัว ต้องการหน้ากากอนามัยเท่าไหร่ และกระจายหน้ากากอนามัยไปให้คนกลุ่มเหล่านี้ก่อน ไม่ใช่กระจายไปให้ร้านโมเดิร์นเทรดทำกำไร แต่โรงพยาบาลต้องทำเรื่องขอเป็นรายๆไป
นอกจากนี้ กระทรวงพาณิชย์ต้องมีระบบติดตามและตรวจสอบว่า หน้ากากอนามัยที่ผลิตได้เดือนละ 40 ล้านชิ้นไปอยู่ที่ไหนบ้าง และไปจริงหรือไม่
เหล่านี้เป็นคำอธิบายหลังเกิดสถานการณ์ ‘หน้ากากอนามัย’ หายไปจากท้องตลาด จนส่งผลให้ผู้บริโภคทั่วไปต้องซื้อหาหน้ากากอนามัยในราคาแพงเวอร์
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/