'จุรินทร์' ถก 11 เอกชน ออก 5 มาตรการแก้ปัญหาขาดแคลนหน้ากากอนามัย เร่งผลิตไม่มีหยุดพัก ตั้งเป้า 38 ล้านชิ้น เดือนมี.ค.นี้ ใครขายแพงเจอคุก 7 ปี ปรับ 1.4 แสน ฟันแล้ว 51 คดี จ่อประสานดีอีคุมตลาดออนไลน์
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 2 มี.ค. 2563 ที่ทำเนียบรัฐบาล นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้ประชุมหารือมาตรการป้องกันปัญหาขาดแคลนหน้ากากอนามัยกับบริษัทเอกชนผู้ผลิตและจำหน่ายหน้ากากอนามัย 11 แห่ง ใน 5 ประเด็นสำคัญ คือ 1.การผลิต 2.การกระจายหน้ากาก 3.การส่งออก การดำเนินคดี และ 5.มาตรการทีรัฐช่วยเหลือ
นายจุรินทร์ กล่าวว่า กระทรวงพาณิชย์จะส่งเจ้าหน้าที่ตัวแทนไปประจำที่โรงงานเพื่อรับแจ้งการผลิตและดูแลเรื่องสต็อกให้มีความชัดเจนมากขึ้น ซึ่งตัวเลขการผลิตนั้นจะส่งมาที่ศูนย์กระจายหน้ากากอนามัย ที่มีตัวแทนของกระทรวงสาธารณสุข และผู้แทนกรมการค้าภายในประจำอยู่ด้วย
"ในประเด็นเรื่องการผลิตหน้ากากอนามัยนั้น ขณะนี้มีบริษัทผู้ผลิตจำนวน 11 แห่ง กำลังการผลิตทั้งสิ้นรวมกันทั้งหมด 36,000,000 ชิ้น/เดือน ถ้าหากจะมีการเร่งการผลิตแบบไม่มีหยุดพัก สามารถผลิตได้สูงสุดประมาณ 38,000,000 ชิ้น ส่วนปัญหาเรื่องวัตถุดิบ มีการนำวัตถุดับจากประเทศจีน อินโดนีเซีย และไต้หวัน เข้ามาเพื่อใช้ในการผลิตแล้ว แต่ยังไม่สามารถนำเข้าวัตถุดิบจากประเทศจีนได้ ส่วนไต้หวันนำเข้าได้แต่ต้องมีการลดจำนวนลง เพราะการนำเข้ามีปริมาณที่จำกัด ขณะที่อินโดนีเซียแม้จะนำเข้าได้ แต่ก็มีการเลื่อนการส่งมอบและมีเรื่องการขึ้นราคาวัตถุดิบ สำหรับเรื่องต้นทุนการผลิต กรมการค้าภายในจะเข้าไปช่วยดูว่าจะมีต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้นจริงจากต้นทุนที่เพิ่มขึ้นหรือไม่ เพื่อนำเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.)เข้าไปช่วยเหลือต่อไป เพื่อให้การผลิตเป็นไปตามราคาที่กำหนดไว้คือ 2.50 บาท"
นายจุรินทร์ กล่าวว่า ในส่วนประเด็นเรื่องการกระจายสินค้าและการจัดสรรหน้ากากอนามัยไปให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับบุคลาการแพทย์นั้น ที่ผ่านมามีการกระจายไปให้กับกระทรวงสาธารณสุขแล้ว 350,000 ชิ้นต่อวัน รวมจำนวนหน้ากากที่กระจายทั้งสิ้น 3,450,000 ชิ้น และหลังจากนี้จะแก้ปัญหาเรื่องการกระจายหน้ากากอนามัยไปยังโรงพยาบาลต่างๆรวมถึงโรงพยาบาลเอกชน โดยประสานให้กระทรวงสาธารณสุขได้ทบทวนตัวเลขต่อไป
นายจุรินทร์กล่าวว่า สำหรับการส่งออกนั้นที่ผ่านมาได้มีการลงนามแล้วว่าถ้าหากจะมีการส่งออกหน้ากากอนามัยก็จะต้องมีการขออนุญาตในทุกกรณี ยกเว้นผู้ป่วยที่มีใบรับรองแพทยที่จำเป็นต้องมีหน้ากากอนามัยติดตัวไปด้วย ขอยืนยันว่าไม่มีการผลิตเพื่อส่งออกเด็ดขาดยกเว้นแต่หน้ากากที่ไม่ใช่ในประเทศไทย ส่วนเรื่องการดำเนินคดีนั้นได้มีการดำเนินคดีกรณีจำหน่ายหน้ากากอนามัยแพงไปแล้ว 31 คดี และดำเนินคดีไม่ติดป้ายแสดงราคาแล้วทั้งสิ้น 20 คดี รวมทั้งหมดเป็น 51 คดี ส่วนโทษในเรื่องขายเกินราคาจะมีโทษจำคุก 7 ปี ปรับ 140,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ซึ่งทั้ง 31 คดีได้มีการส่งเรื่องให้กับพนักงานสอบสวนดำเนินการเพื่อจะส่งอัยการไปแล้ว
" 51 คดีนั้นสามารถแยกได้เป็น 2 ส่วนคือการขายหน้าร้าน 46 คดี และขายออนไลน์อีก 5 คดี ซึ่งคดีขายหน้ากากอนามัยออนไลน์แล้วมีราคาแพงนั้น กระทรวงพาณิชย์จะเข้าประสานงานกับกระทรวงดิจิตัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมเพื่อเข้าไปตรวจสอบยังช่องทางออนไลน์ต่อไป ส่วนมาตรการที่จะให้ความช่วยเหลือเพื่อให้กระบวนการผลิตและกระจายหน้ากากอนามัยมีความราบรื่นภายใต้การผลิต 1,000,000 ชิ้นต่อวันนั้น ขณะนี้ก็ได้มีการเสนอ ครม.ให้ช่วยแบกรับภาระที่เกินจากราคาควบคุม 2.50 บาทต่อไป โดยเอกชนรายใดที่ต้องการจะนำเข้าวัตถุดิบ ทางกระทรวงก็จะหารือกับทางคณะรัฐมนตรีเพื่อช่วยเหลือต่อไป
นายจุรินทร์ ยังกล่าวด้วยว่า ขณะนี้มีการพูดถึงเรื่องหน้ากากอนามัยทางเลือกเช่นหน้ากากผ้า ก็จะมีการขอให้กระทรวงสาธารณสุขให้ช่วยเหลือในการประชาสัมพันธ์ให้กับประชาชนในการผลิตหน้ากากผ้าเพื่อเป็นหน้ากากทางเลือกช่วยเหลือประชาชนต่อไปในกรณีที่หน้ากากอนามัยไม่เพียงพอ
สำนักข่าวอิศรา รายงานว่า สำหรับรายชื่อบริษัทเอกชนผู้ผลิตหน้ากากอนามัย จำนวน 11 ราย ที่เข้าร่วมประชุม และมีการตั้งเป้าหมายเร่งผลิตแบบไม่มีหยุดพัก ในเดือนมี.ค.2563 ให้ได้จำนวน 38 ล้านชิ้น ได้แก่
1. บริษัท ไทยฮอสพิทอลโปรดักส์ จำกัด ยอดผลิต 10,000,000 ชิ้น
2. บริษัท เอ็นเอ็น สกายเทรด จำกัด ยอดผลิต 1,540,000 ชิ้น
3. บริษัท ไบโอเซฟ โปรดักส์ จำกัด ยอดผลิต 1,800,000 ชิ้น
4. บริษัท ทรู ไลน์ เมด จำกัด ยอดผลิต 7,000,000 ชิ้น
5. บริษัท เอ็มเมอรัลด์ นอนวูเว่น อินเตอร์เนชั่นแนล ยอดผลิต 2,100,000 ชิ้น
6. บริษัท เท็กซ์ไทล์เพรสทีจ จำกัด (มหาชน) ยอดผลิต 1,500,000 ชิ้น
7. บริษัท วินเบสท์ อินดัสเทรี่ยล ( ไทยแลนด์ จำกัด) ยอดผลิต 500,000 ชิ้น
8. บริษัท เมด-คอน จำกัด ยอดผลิต 10,000,000 ชิ้น
9. บริษัท อนุสรณ์ เบสเซฟ ยอดผลิต 100,000 ชิ้น
10 บริษัท สยามโคเค็น จำกัด 100,000 ชิ้น
11. บริษัท ไอรีมา (ประเทศไทย) จำกัด ยอดผลิต 3,400,000 ชิ้น
12. บริษัท ยูไนเต็ด เมดิคอล อินสตรูเมนท์ จำกัด ยังไม่ได้แจ้งยอดผลิต
13. บริษัท อินโนเวทีฟ ฟิลเทรชั่น เทคโนโลยี (ไอเอฟที) จำกัด ยังไม่ได้แจ้งยอดผลิต
รวม 38,040,000 ชิ้น
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/