ประธาน กสม. ยืนยันทำหน้าที่คุ้มครองสิทธิฯ ปชช. ได้เต็มที่ตามกฎหมาย แม้กระบวนการสรรหา กสม. ชุด 4 ยังไม่แล้วเสร็จ
เมื่อวันที่ 1 ก.พ. 2563 นายวัส ติงสมิตร ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวว่า เมื่อวานนี้ตนได้มีหนังสือด่วนที่สุดกราบเรียนประธานวุฒิสภา ถึงกรณีที่สมาชิกวุฒิสภาท่านหนึ่งอภิปรายในที่ประชุมวุฒิสภาเมื่อวันที่ 27 ม.ค. 2563 ในวาระให้ความเห็นชอบบุคคลผู้ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ว่าผิดพลาดคลาดเคลื่อนในปัญหาข้อกฎหมายและข้อเท็จจริงหลายประการ ดังนี้
1. คำกล่าวที่ว่า นับแต่วันที่ 13 ธ.ค. 2560 ซึ่งเป็นวันที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ. 2560 (พ.ร.ป. กสม.) ใช้บังคับ กสม.ชุดที่ 3 เป็นเพียงปฏิบัติหน้าที่ไปพลางก่อนหรือรักษาการนั้น ไม่ถูกต้อง ที่ถูกคือ กฎหมายบัญญัติให้ยังคงปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่าประธานกรรมการและกรรมการฯ ที่แต่งตั้งขึ้นใหม่จะเข้ารับหน้าที่ กสม.ชุดที่ 3 จึงยังคงมีหน้าที่และอำนาจเต็มตามกฎหมาย และได้ทำหน้าที่ให้ลุล่วงไปด้วยดีตลอดมา ไม่ว่าจะเป็นการออกระเบียบ ข้อบังคับ ข้อกำหนดทางจริยธรรม แนวปฏิบัติ และประกาศที่เกี่ยวข้องกับการบริหารงาน การส่งเสริม และตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชนตลอดมาจนกระทั่งปัจจุบัน
2. คำกล่าวที่ว่า กฎหมายให้ กสม.ชุดที่ 3 พ้นจากตำแหน่งเพราะคุณสมบัติและความต้องการกรรมการฯ ตามกฎหมายเก่า กฎหมายใหม่ และรัฐธรรมนูญต่างกันนั้น ไม่ถูกต้อง ที่ถูกคือ ผู้ร่างกฎหมายและสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (ในขณะนั้น) เห็นว่า เพื่อที่ กสม. ของไทยจะมีโอกาสได้สถานะ A ในเวทีโลกคืนมามากขึ้น ซึ่งก็เป็นเหตุผลที่ไม่ตรงกับสาเหตุแห่งการถูกลดสถานะจากองค์กรที่เกี่ยวข้องที่ให้เหตุผลว่า ไทยไม่สามารถแก้ไขกฎหมายเกี่ยวกับองค์ประกอบของคณะกรรมการสรรหาและให้ความคุ้มกันแก่ กสม. รวมทั้ง กสม. สนองตอบต่อสถานการณ์การละเมิดสิทธิมนุษยชนล่าช้า ในส่วนของคุณสมบัติของกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาตินั้น หากกฎหมายใหม่แตกต่างจากกฎหมายเก่า และประสงค์จะให้ประธานกรรมการหรือกรรมการฯ พ้นจากตำแหน่ง ก็ต้องบัญญัติกฎหมายให้พ้นจากตำแหน่งเฉพาะบุคคลที่ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามตามกฎหมายใหม่เป็นการเฉพาะรายเท่านั้น ไม่ใช่ให้พ้นจากตำแหน่งทั้งคณะ
3. คำกล่าวที่ว่า นับตั้งแต่วันที่ 13 ธ.ค. 2560 กรรมการฯ ทยอยลาออกไปจนเหลือกรรมการฯ เพียง 3 คน ไม่สามารถทำงานอะไรได้ทั้งการบริหารงานบุคคลและงบประมาณ กระทบต่อการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน รวมทั้งการยอมรับของนานาชาตินั้น ไม่ถูกต้อง ที่ถูกคือ การลาออกของกรรมการฯ เป็นเหตุผลส่วนบุคคล เช่นปัญหาสุขภาพ หรือมีงานอื่นทำ (ไปเป็นกรรมการ ป.ป.ท.) หรือมีภารกิจอื่น จนถึงวันที่ 30 ก.ค. 2562 มีกรรมการฯ เหลืออยู่ 5 คน กสม.ชุดที่ 3 ยังคงปฏิบัติหน้าที่ได้ตามปกติ แต่เมื่อถึงวันที่ 31 ก.ค. 2562 มีกรรมการฯ ลาออกอีก 2 คน ทำให้เหลือกรรมการฯ เพียง 3 คน ไม่ถึงกึ่งหนึ่งคือ 4 คน กสม.ชุดที่ 3 จึงปฏิบัติหน้าที่ได้เฉพาะในส่วนที่ไม่ต้องประชุมคณะกรรมการเท่านั้น ต่อมาเมื่อวันที่ 1 พ.ย. 2562 มีการแต่งตั้งบุคคลมาทำหน้าที่กรรมการเป็นการชั่วคราว 4 คน กสม.ชุดที่ 3 จึงเปิดประชุมเพื่อปฏิบัติหน้าที่ได้ ทั้งงานด้านส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนเต็มรูปแบบ การบริหารงานบุคคล (แต่งตั้งเลขาธิการ กสม. เมื่อวันที่ 24 ม.ค. 2563) และการงบประมาณ (เห็นชอบคำของบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564)
กสม.ชุดที่ 3 ยังได้รับการยอมรับจากนานาชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การผลักดันให้วิสาหกิจไทยนำหลักการชี้แนะของสหประชาชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน (UNGPs) ไปใช้ และเมื่อวันที่ 29 ต.ค. 2562 รัฐบาลไทยมีมติประกาศใช้แผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน (National Action Plan on Business and Human Rights : NAP) ระยะที่ 1 (ปี 2562 – 2565) ตามข้อเสนอแนะของ กสม.ชุดที่ 3 ส่งผลให้ประเทศไทยเป็นประเทศแรกในภูมิภาคเอเชียที่มีความก้าวหน้าในเรื่องธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนอย่างเป็นรูปธรรม
4. คำกล่าวที่ว่า ไทยติด 1 ใน 38 ประเทศ ‘น่าละอาย’ จากรายงาน UN กรณีคุกคามนักสิทธิมนุษยชนนั้น หากข่าวดังกล่าวเป็นความจริง หน้าที่การป้องกันมิให้มีการคุกคามนักสิทธิมนุษยชนเป็นหน้าที่ของรัฐ ไม่ใช่หน้าที่ของ กสม. เมื่อมีกรณีดังกล่าวเกิดขึ้นและ กสม. ได้ตรวจสอบแล้ว กสม. ก็จะมีรายงานผลการตรวจสอบเสนอแนะไปให้รัฐบาลดำเนินการต่อไป ในกรณีทำนองนี้ กสม. ก็เคยจัดทำรายงานผลการตรวจสอบเสนอองค์กรที่เกี่ยวข้องไปแล้ว การไม่มีกรรมการฯ ตัวจริง จึงไม่เกี่ยวข้องกับการปลดล็อกประเทศไทยให้หลุดจากการจัดอันดับดังกล่าวได้
5. คำกล่าวที่ว่า เมื่อปี 2558 คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติลดอันดับของ กสม.ไทยจากสถานะ A เป็น B โดยมีสาเหตุส่วนหนึ่งจากการสรรหากรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และยังไม่มีกรรมการฯ ตัวจริงนั้น เป็นคำกล่าวที่ไม่ถูกต้อง ที่ถูกคือ องค์กรที่ลดสถานะของ กสม. ไทยจากสถานะ A เป็น B คือ คณะอนุกรรมการว่าด้วยการประเมินสถานะ (SCA) ของ GANHRI อันเนื่องมาจากการที่ประเทศไทยไม่สามารถแก้ไขปัญหาตามที่กำหนดภายใน 1 ปี ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นก่อนที่ กสม.ชุดที่ 3 จะเข้ามาปฏิบัติหน้าที่เมื่อปลายเดือนพ.ย. 2558
6. คำกล่าวที่ว่า ขณะนี้มีกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเหลือเพียง 3 คน ซึ่งเป็นตัวจริงเสียงจริงแม้ต่อมาจะมีการตั้งเติมเสริมขัดตาทัพ 4 คน เพื่อให้ครบองค์ประกอบ แต่ กสม. ขัดตาทัพก็ไม่สามารถจะกระทำการในเรื่องนโยบายที่สำคัญ นอกเหนือจากงานตามปกติเท่านั้น และตั้งแต่ประกาศใช้ พ.ร.ป. กสม.2560 มาจนกระทั่งปัจจุบัน กสม. เป็นสุญญากาศนั้น ก็เป็นคำกล่าวที่ไม่ถูกต้อง เพราะนับแต่วันที่ 13 ธ.ค. 2560 จนถึงวันที่ 30 ก.ค. 2562 กสม.ชุดที่ 3 ยังสามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ตามปกติ ต่อมาเมื่อวันที่ 31 ก.ค. 2562 มีกรรมการฯ ลาออก 2 คน กสม.ชุดที่ 3 จึงปฏิบัติหน้าที่เต็มที่ไม่ได้ แต่เมื่อมีการแต่งตั้งบุคคลมาเป็นกรรมการเป็นการชั่วคราว 4 คนเมื่อวันที่ 1 พ.ย. 2562 เป็นต้นมาจนกระทั่งปัจจุบัน กสม.ชุดที่ 3 ก็สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ครบถ้วนตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ ไม่ได้เป็นสุญญากาศหรือมีปัญหาตามคำกล่าวดังกล่าวแต่ประการใด