เว็บไซต์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนเผยแพร่คำพิพากษาศาล จ.เชียงใหม่จำคุกทนายอานนท์ 3 ปี คดี ม.112 เหตุปราศรัยใส่ความสถาบันกรณีทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ที่หอศิลป์ มช. แต่เจ้าตัวให้การเป็นประโยชน์เลยลดโทษ 1 ใน 3 เหลือจำคุก 2 ปี รวม 7 คดี ม.112 ทนายอานนท์โดนโทษไปแล้ว 20 ปี 19 เดือน
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่าเมื่อวันที่ 27 มี.ค.เว็บไซต์ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนได้สรุปเนื้อหาคำพิพากษาศาลจังหวัดเชียงใหม่ ที่พิพากษาลงโทษจำคุกนายอานนท์ นำภา ทนายความและนักกิจกรรมเพิ่มอีกสองปี ในคดีความผิดตามกฎหมายมาตรา 112 ด้วยเหตุผลที่ว่าคำปราศรัยเป็นการใส่ความพระมหากษัตริย์ และจำเลยไม่สามารถอ้างสิทธิเสรีภาพในการวิพากษ์วิจารณ์ได้
คำพิพากษาในวันที่ 27 มี.ค.ดังกล่าวนั้นถือว่าเป็นคดีความผิดตามมาตรา 112 เป็นคดีที่ 7 ของนายอานนท์ ที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาออกมา จากทั้งหมด 14 คดีที่ถูกกล่าวหา เมื่อนับรวมโทษทั้งหมดของอานนท์ต่อกันจนถึงขณะนี้ คือจำคุก 20 ปี 19 เดือน 20 วัน และทุกคดียังอยู่ระหว่างอุทธรณ์
สำหรับบรรยากาศก่อนอ่านคำพิพากษาเริ่มตั้งแต่เวลา 9.30 น.ศาลจังหวัดเชียงใหม่ ที่ห้องพิจารณาที่ 3 นัดฟังคำพิพากษาซึ่งถูกฟ้องในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 จากพฤติการณ์กรณีปราศรัยในการชุมนุม “ปาร์ตี้ริมเขา เป่าเค้กวันเกิด พลเรือนเอกก๊าบ ๆ” ที่ลานหอศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งจัดขึ้นโดยกลุ่ม “ประชาคมมอชอ” เมื่อวันที่ 23 พ.ย. 2563
คดีนี้ นายอานนท์ต่อสู้ว่าคำปราศรัยที่กล่าวนั้นเป็นข้อเท็จจริง ในเรื่องการแก้ไขเปลี่ยนแปลงกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับทรัพย์สินของสถาบันพระมหากษัตริย์ ที่เกิดขึ้นในช่วงรัฐบาล คสช. ปี 2560 และ 2561 โดยกล่าวด้วยเจตนาถึงความกังวลและห่วงใยต่อสิ่งที่เกิดขึ้นตามมา รวมทั้งเป็นเสียงสะท้อนจากประชาชนจำนวนมากที่ทราบถึงปัญหาดังกล่าว แต่ไม่สามารถพูดได้ คำปราศรัยเป็นการติชมโดยสุจริต และเป็นการวิพากษ์วิจารณ์ด้วยความเป็นธรรม ควรได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญในระบอบประชาธิปไตย
การอ่านคำพิพากษาเป็นไปโดยผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอร์เรนซ์จากเรือนจำพิเศษกรุงเทพ โดยไม่ได้นำตัวนายอานนท์เดินทางมาที่จังหวัดเชียงใหม่ นายอานนท์ใส่เสื้อผู้ต้องขังสีน้ำตาลปรากฏตัวอยู่ในจอภาพที่เชื่อมต่อจากห้องพิจารณา โดยมีทนายความ ประชาชนทั่วไป นักวิชาการ และนักเรียน มานั่งฟังคำพิพากษาประมาณ 10 คน
โดยคดีนี้มี พ.ต.ท.นรากร ปิ่นประยูร เป็นผู้กล่าวหาอานนท์ไว้ที่ สถานีตำรวจภูธรภูพิงคราชนิเวศน์ อัยการฟ้องโดยกล่าวหาว่าคำปราศรัยของอานนท์ สื่อถึงพระมหากษัตริย์รัชกาลปัจจุบัน และอ้างว่าคำปราศรัยเป็นความเท็จและเป็นการจาบจ้วง ล่วงเกิน ใส่ร้าย ใส่ความ ดูหมิ่นและหมิ่นประมาทเบื้องสูง
ศาลเห็นว่านายอานนท์กล่าวถ้อยคำจาบจ้วง ล่วงเกิน จากการพูดให้เข้าใจว่ามีโอนทรัพย์สินแผ่นดินไปเป็นของส่วนตัว
เวลา 10.00 น. หลังจากต่อระบบคอนเฟอร์เรนซ์เรียบร้อยแล้ว นายอนุกูล นาคเรืองศรี ผู้พิพากษาเจ้าของสำนวน เริ่มอ่านคำพิพากษา
โจทก์ฟ้องจำเลยว่ากระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 จำเลยให้การปฏิเสธและรับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกันกับที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อจริง
ในทางพิจารณาโจทก์นำสืบว่าวันที่ 23 พ.ย.2563 จำเลยกล่าวคำปราศรัยในที่ชุมนุม ที่ลานหอศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยพูดผ่านเครื่องขยายเสียง กล่าวข้อความตามฟ้อง โดยมีส่วนหนึ่งของคำปราศรัยที่กล่าวเกี่ยวกับประเด็นการโอนย้ายทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์
จำเลยนำสืบว่าการกระทำไม่เป็นความผิดตามคำฟ้องโจทก์ โดยจำเลยกล่าวคำปราศรัยด้วยความห่วงใย และได้ใช้สิทธิในการวิพากษ์วิจารณ์ ซึ่งเป็นเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ และตามระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ซึ่งประชาชนย่อมมีสิทธิวิพากษ์วิจารณ์หรือติเตียนได้
ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า ตามวันเวลาเกิดเหตุ จำเลยกล่าวคำปราศรัยมีข้อความตอนหนึ่งกล่าวถึงสถาบันพระมหากษัตริย์
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยว่า จำเลยกระทำความผิดตามฟ้องโจทก์หรือไม่ เห็นว่า ข้อความตอนหนึ่งที่จำเลยปราศรัยมีถ้อยคำว่า “เบียดบัง” ตามพจนานุกรมราชบัณฑิตยสถาน คำว่าเบียดบังคือการเอาของคนอื่นไปเป็นของตนเอง
เมื่อพิจารณาความรู้สึกนึกคิดของประชาชนชาวไทยต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 มาตรา 2 บัญญัติว่า “ประเทศไทยมีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข”
มาตรา 6 บัญญัติว่า “องค์พระมหากษัตริย์ทรงดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้ ผู้ใดจะกล่าวหาหรือฟ้องร้องพระมหากษัตริย์ในทางใด ๆ มิได้”
มาตรา 49 “บุคคลจะใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขมิได้”
มาตรา 50 บัญญัติว่า “บุคคลมีหน้าที่ (1) พิทักษ์รักษาไว้ซึ่ง ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข…”
มาตรา 52 “รัฐต้องพิทักษ์รักษาไว้ซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์ เอกราช อธิปไตย บูรณภาพแห่งอาณาเขตและเขตที่ประเทศไทยมีสิทธิอธิปไตย เกียรติและผลประโยชน์ของชาติ ความมั่นคงของรัฐและความสงบเรียบร้อยของประชาชน…”
นอกจากนี้ประมวลกฎหมายอาญาได้บัญญัติคุ้มครอง พระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ไว้เป็นพิเศษแตกต่างจากบุคคลทั่วไป ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ตามบทบัญญัติทั้งรัฐธรรมนูญและกฎหมายอาญา เห็นได้โดยชัดแจ้งว่าพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข ซึ่งอยู่ในฐานะเป็นที่เคารพสักการะ ทั้งรัฐและประชาชนต้องดำรงไว้ซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์
ทั้งไม่เพียงแต่ในกฎหมาย แต่ในความรู้สึกนึกคิดของประชาชนชาวไทย ก็ยกย่องสถานะของสถาบันพระมหากษัตริย์ดังกล่าว การกล่าวถ้อยคำจาบจ้วง ล่วงเกินพระมหากษัตริย์ ให้เป็นที่ระคายเคืองเบื้องพระยุคลบาท หามีใครกล้าบังอาจไม่
โจทก์มีพันตำรวจโทนรากร ปิ่นประยูร เบิกความว่าถ้อยคำกล่าวของจำเลยทำให้เข้าใจได้ว่าเป็นดูหมิ่น หมิ่นประมาท พระมหากษัตริย์ และโจทก์ยังมี พันธุ์ทิพย์ นวานุช, สุนทร คำยอด, พรชัย วิสุทธิศักดิ์ อาจารย์มหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นผู้มีความรู้ ยังสรุปได้ความว่า การที่จำเลยกล่าวถ้อยคำในการปราศรัยดังกล่าว เป็นการใส่ความพระมหากษัตริย์ ทำให้เสื่อมเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น ถูกเกลียดชัง จึงเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112
ส่วนการที่จำเลยต่อสู้ว่าเป็นการวิพากษ์วิจารณ์อย่างตรงไปตรงมา โดยประชาชนย่อมมีสิทธิเสรีภาพในการวิพากษ์วิจารณ์ตามรัฐธรรมนูญนั้น ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 25 บัญญัติว่า “สิทธิและเสรีภาพของปวงชนชาวไทย นอกจากที่บัญญัติคุ้มครองไว้เป็นการเฉพาะในรัฐธรรมนูญแล้ว การใดที่มิได้ห้ามหรือจำกัดไว้ในรัฐธรรมนูญหรือในกฎหมายอื่น บุคคลย่อมมีสิทธิและเสรีภาพที่จะทำการนั้นได้และได้รับความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ ตราบเท่าที่การใช้สิทธิหรือเสรีภาพเช่นว่านั้นไม่กระทบกระเทือนหรือเป็นอันตรายต่อความมั่นคงของรัฐ ความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน และไม่ละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลอื่น”
เห็นได้ว่าการใช้สิทธิเสรีภาพไม่ใช่ว่าจะใช้ได้โดยไม่มีขอบเขต แต่การใช้สิทธิเสรีภาพจะต้องไม่ละเมิดต่อกฎหมาย ไม่สามารถใช้จนไปกระทบกระเทือนหรือเป็นอันตรายต่อความมั่นคงของรัฐได้ ดังนั้นจำเลยจะอ้างว่าเสรีภาพในการวิพากษ์วิจารณ์โดยมีการกระทำอันเป็นการละเมิดต่อกฎหมายหาได้ไม่ การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐาน ดูหมิ่น หมิ่นประมาท หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112
พิพากษาจำคุก 3 ปี จำเลยนำสืบให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์อยู่บ้างลดโทษให้ 1 ใน 3 คงจำคุก 2 ปี
ส่วนโจทก์ขอให้นับโทษต่อคดีอาญา คดีของศาลอาญา ศาลอาญากรุงเทพใต้ และศาลแขวงดุสิต ไม่ปรากฏว่าคดีดังกล่าวมีการลงโทษจำคุกแล้วหรือไม่ คำขอส่วนนี้ให้ยก
หลังจากนั้นนายอานนท์ได้โบกมือทักทายผู้เดินทางมาให้กำลังใจที่ศาลจากทางจอภาพ ก่อนการพิจารณาจะสิ้นสุดลง