‘การรถไฟฯ’ เซ็นปิดดีลทางคู่ขอนแก่น - หนองคาย วงเงิน 2.8 หมื่นล้านบาทกับกิจการช.ทวี-เอเอส คาดก่อสร้าง ปี เปิดให้บริการปี 71
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า วันที่ 12 ธันวาคม 2567 นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เป็นประธานในพิธีลงนามสัญญาโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ระยะที่ 2 ช่วงขอนแก่น – หนองคาย กับ กิจการร่วมค้า ช.ทวี-เอเอส ก่อสร้าง (ประกอบด้วยบจ.ช.ทวีก่อสร้าง, บจ.เอ.เอส.แอสโซซิเอท เอนยิเนียริ่ง (1964), บจ.ทิพากร และบจ.เค เอส ร่วมค้า) มูลค่าโครงการ 28,679,000,000 บาท (สองหมื่นแปดพันหกร้อยเจ็ดสิบเก้าล้านบาท) และร่วมลงนามในข้อตกลงคุณธรรม
นายวีริศกล่าวว่า โครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ระยะที่ 2 ช่วงขอนแก่น - หนองคาย รฟท. ดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 16 ต.ค. 2566 ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งของโครงการภายใต้ยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของไทย ในแผนงาน 1 การพัฒนาโครงข่ายรถไฟระหว่างเมือง (การพัฒนาระบบรถไฟรางคู่) ระยะที่ 2 และคณะกรรมการ (บอร์ด) รฟท. มีมติเห็นชอบให้การรถไฟฯ ขออนุมัติดำเนินโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ระยะที่ 2 ช่วงขอนแก่น –หนองคาย เมื่อวันที่ 16 ธ.ค. 2564
รูปแบบโครงการ เป็นการก่อสร้างทางรถไฟใหม่เพิ่ม 1 เมตร เพิ่มขึ้นอีก 1 ทาง ขนานไปกับทางรถไฟเดิม และก่อสร้างปรับแนวเส้นทางใหม่บางส่วน รวมระยะทางประมาณ 167 กม. เป็นทางรถไฟระดับดิน 153 กม. และเป็นทางยกระดับรถไฟ 2 แห่ง ระยะทางอีก 14 กม. ประกอบด้วย อาคารสถานี 14 สถานี ได้แก่ สถานีสำราญ สถานีโนนพยอม สถานีน้ำพอง สถานีเขาสวนกวาง สถานีโนนสะอาด สถานีห้วยเกิ้ง สถานีกุมภวาปี สถานีห้วยสามพาด สถานีหนองตะไก้ สถานีหนองขอนกว้าง สถานีอุดรธานี สถานีนาพู่ สถานีนาทา และสถานีหนองคาย
ส่วนที่หยุดรถมี 4 แห่ง ได้แก่ ที่หยุดรถห้วยไห, บ้านวังชัย, ห้วยเสียว และคำกลิ้ง ขณะที่ลานบรรทุกสินค้า 3 แห่งจะอยู่ที่สถานีโนนสะอาดพื้นที่ 10,500 ตารางเมตร, สถานีหนองตะไก้ ขนาด 21,759 ตารางเมตร และสถานีนาทาขนาด 19,000 ตารางเมตร นอกจากนี้จะมีสะพานรถยนต์ข้ามทางรถไฟ (Overpass) จำนวน 31 แห่ง และถนนลอดใต้ทางรถไฟ (Underpass) 53 แห่ง พร้อมทั้งงานก่อสร้างรั้วตลอดแนวทางรถไฟ และโรงซ่อมบำรุงจะตั้งอยู่ที่สถานีนาทา จ.หนองคาย เนื้อที่รวม 11.25 ไร่
@แนวเส้นทางผ่าน 3 จังหวัด
ขณะที่แนวเส้นทางของโครงการจะเริ่มต้นที่ กม.453+954.950 ซึ่งเป็นจุดสิ้นสุดของรถไฟทางคู่เส้นทางจิระ - ขอนแก่น อยู่ถัดไปทางเหนือของสถานีขอนแก่นประมาณ 4.2 กม.และมีจุดสิ้นสุดอยู่ที่สถานีหนองคายบริเวณ กม.ที่ 621+345 เส้นทางจะพาดผ่านพื้นที่ 3 จังหวัด ได้แก่ ขอนแก่น อุดรธานี และหนองคาย โดยขบวนรถไฟจะขับเคลื่อนด้วยความเร็วสูงสุด 120 กม./ชม. ส่วนรถไฟที่บรรทุกสินค้าจะขับเคลื่อนด้วยความเร็ว 80 กม./ชม.
ขณะที่แหล่งข่าวจาก รฟท. กล่าวว่า สำหรับโครงการนี้คาดว่าจะมีผู้โดยสารจำนวน 3,500 คน/วันในช่วงแรก และจะเพิ่มเป็น 5,800 คน/วันในอีก 30 ปีนับจากปีที่เปิดให้บริการครั้งแรก ส่วนการขนส่งสินค้าคาดว่าจะมีจำนวนสินค้าที่จะขนส่งประมาณ 3.5 ล้านตัน/ปี หลังจากนั้นอีก 30 ปี จะมีจำนวนสินค้าเพิ่มขึ้นเป็น 4.2 ล้านตัน/ปี
@เวนคืน 184 ไร่ ใช้งบ 369 ล.
ในส่วนของงานเวนคืนที่ดินและรื้อย้ายสิ่งปลูกสร้าง แหล่งข่าวจากรฟท.กล่าวว่า พื้นที่ที่จะต้องเวนคืนมีประมาณ 184 ไร่ ตามมติครม.ได้อนุมัติกรอบไว้ 369 ล้านบาท ผูกพัน 2 ปีงบประมาณ ในปี 2568 ใช้งบ 215 ล้านบาท และในปี 2569 อีก 153 ล้านบาท พื้นที่เวนคืนจะอยู่ในพื้นที่ทั้งสามจังหวัด โดยจะเวนคืนเพียงเล็กน้อย เพื่อปรับแก้รัศมีทางโค้งและก่อสร้างทางยกระดับและทางลอดข้ามทางรถไฟ
ส่วนการส่งมอบหนังสือให้เริ่มงาน (Notice to proceed: NTP) นายวีริศกล่าวว่า ในเบื้องต้น รฟท.จะต้องประสานกับสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะและสำนักงบประมาณ ในประเด็นของการจัดหาเงินกู้ ซึ่งคาดว่าจะมีการลงนามในสัญญาเงินกู้ช่วงเดือน ม.ค. 2568 นี้ โดยคาดว่าจะออกหนังสือ NTP ได้ในเดือน เม.ย. 2568 นี้ ใช้เวลาก่อสร้างประมาณ 3 ปี คาดว่าจะแล้วเสร็จเปิดให้บริการในปี 2571 โดยค่าใช้จ่ายรัฐบาลจะเป็นผู้รับภาระทั้งหมด