‘เรืองไกร’ ร้อง กกต. ชง ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ‘แพทองธาร’ ความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลงเฉพาะตัว อ้าง ‘คดีเศรษฐา’ ขาดความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์-ฝ่าฝืนมาตรฐานจริยธรรม ปม ตั้ง ‘สุรพงษ์ ปิยะโชติ’ นั่ง รมช. คมนาคม เหตุเกี่ยวข้องคดีซื้อเสียงเลือกตั้งท้องถิ่น ชิงตำแหน่งนายก อบจ. กาญจนบุรี
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า วันที่ 14 กันยายน 2567 นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ สมาชิกพรรคพลังประชารัฐ เปิดเผยว่า วันนี้ตนได้ส่งหนังสือทางไปรษณีย์ EMS ถึงสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เพื่อขอให้ตรวจสอบนางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กรณีเสนอชื่อนายสุรพงษ์ ปิยะโชติ เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคมนั้น จะเข้าข่ายมีความไม่ซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 160 (4) หรือไม่
นายเรืองไกรกล่าวว่า และการกระทำดังกล่าวเข้าข่ายฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรม ข้อ 8 หรือไม่ และเข้าข่ายเป็นเหตุให้ความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรีสิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามความในรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 (4) ประกอบมาตรา 160 (4) (5) หรือไม่ โดยในหนังสือดังกล่าวมีข้อเท็จจริงอันควรขอให้ กกต. ตรวจสอบดังนี้
ข้อ 1 เมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2565 ศาลจังหวัดกาญจนบุรีได้มีคำพิพากษาในคดีหมายเลขแดงที่ อ1141/2565 ดังนี้
“พิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ. 2562 มาตรา 65 (1), 126 จำคุก 2 ปี และปรับ 40,000 บาท จำเลยให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 1 ปี และปรับ 20,000 บาท ไม่ปรากฏว่าจำเลยเคยได้รับโทษจำคุกมาก่อน โทษจำคุกให้รอการลงโทษให้มีกำหนด 1 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 จ่ายสินบนนำจับอีกกึ่งหนึ่งของค่าปรับแก่ผู้แจ้งความนำจับ ริบธนบัตรรัฐบาลไทย จำนวน 1,500 บาท เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งจำเลยมีกำหนด 20 ปี”
ข้อ 2. คำพิพากษาดังกล่าว มีส่วนที่ระบุชื่อนายสุรพงษ์ ปิยะโชติ ไว้ด้วย ดังนี้
“โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2563 เวลากลางวัน หลังจากมีประกาศให้มีการเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดกาญจนบุรีและสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดกาญจนบุรี ก่อนถึงวันที่กำหนดเลือกตั้งตามประกาศผู้อำนวยการเลือกตั้งประจำองค์การบริหารส่วนจังหวัดกาญจนบุรี จำเลยได้ให้ทรัพย์สินเป็นเงินสดคนละ 500 บาท แก่ ... จำนวน 3 คน รวม 1,500 บาท ซึ่งเป็นผู้มีสิทธิเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดกาญจนบุรี และเป็นผู้มีสิทธิเลือกตั้งสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดกาญจนบุรี เขตเลือกตั้งที่ 5 ตำบลหนองบัว อำเภอเมืองกาญจนบุรี จังหวัดกาญจนบุรี เพื่อจูงใจให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั้งสามคนดังกล่าวให้ลงคะแนนเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดกาญจนบุรี ให้แก่นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ ซึ่งเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดกาญจนบุรี หมายเลข 3 ... อันเป็นการจูงใจผู้มีสิทธิเลือกตั้งลงคะแนนให้แก่ผู้สมัครอื่น อันเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมาย
เหตุเกิดที่ตำบลหนองบัว อำเภอเมืองกาญจนบุรี จังหวัดกาญจนบุรี เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2563 เจ้าพนักงานจับกุมจำเลยพร้อมยึดธนบัตรรัฐบาลไทย ฉบับละ 500 บาท จำนวน 3 ฉบับ รวม 1,500 บาท อันเป็นทรัพย์สินที่จำเลยมอบให้แก่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวนสามคนเพื่อจูงใจให้ลงคะแนนแก่ผู้สมัครอื่นเป็นของกลางธนบัตรรัฐบาลไทย จำนวน 1,500 บาท ของกลาง เจ้าพนักงานเก็บรักษาไว้ ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ. 2562 มาตรา 4, 32, 65, 126 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33 ริบธนบัตรรัฐบาลไทย จำนวน 1,500 บาท เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของจำเลยมีกำหนด 20 ปี และจ่ายสินบนนำจับไม่เกินกึ่งหนึ่งจากเงินค่าปรับแก่ผู้แจ้งความนำจับ จำเลยให้การรับสารภาพ”
ข้อ 3. กรณีตามคำพิพากษาซึ่งจำเลยให้การรับสารภาพนั้น ปรากฏข้อเท็จจริงที่เกี่ยวกับนายสุรพงษ์ ปิยะโชติ ในส่วนที่ระบุว่า “เพื่อจูงใจให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั้งสามคนดังกล่าว ให้ลงคะแนนเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดกาญจนบุรี ให้แก่นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ ซึ่งเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดกาญจนบุรี หมายเลข 3 ...”
ซึ่งหากนำแนวคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 21/2567 ในส่วนที่วินิจฉัยว่า “...การพิจารณาว่าบุคคลใดมีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 160 (4) ... เป็นดุลพินิจของนายกรัฐมนตรีจะต้องเป็นผู้พิจารณาในฐานะผู้รับผิดชอบ...” กรณี จึงเป็นความรับผิดชอบของนายกรัฐมนตรีที่จะต้องตรวจสอบข้อเท็จจริงตามคำพิพากษาดังกล่าวด้วย
ดังนั้น จึงเหตุอันควรขอให้ กกต. ตรวจสอบว่า นายกรัฐมนตรีจะมีเหตุสิ้นสุดลงเฉพาะตัวจากการใช้ดุลพินิจเสนอชื่อนายสุรพงษ์ ปิยะโชติ เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม หรือไม่
ข้อ 4. มาตรฐานทางจริยธรรม ข้อ 8 กำหนดว่า “ต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต ไม่แสวงหาประโยชน์โดยมิชอบ เพื่อตนเอง หรือผู้อื่น หรือมีพฤติการณ์ที่รู้เห็นหรือยินยอมให้ผู้อื่นใช้ตำแหน่งหน้าที่ของตนแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบ”
นายเรืองไกร สรุปว่า ดังนั้น โดยผลของคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 21/2567 ทำให้การตรวจสอบทางด้านจริยธรรมจะมีตามมาอีกมากมายหลายกรณี