‘สภาผู้บริโภค’ ยื่นฟ้อง ’ซัมซุง‘ เป็น ‘คดีแบบกลุ่ม’ แทนผู้บริโภค 119 ราย หลังพบปัญหา ‘หน้าจอมือถือเป็นเส้นเขียว‘ จากการอัปเดตซอฟต์แวร์ แต่ไม่ได้รับความร่วมมือในการแก้ปัญหา
.......................................
เมื่อวันที่ 29 ส.ค. ที่ศาลแพ่งกรุงเทพใต้ สภาองค์กรของผู้บริโภค (สภาผู้บริโภค) ในฐานะตัวแทนผู้บริโภค ทนายความ และผู้เสียหายจากการใช้งานโทรศัพท์มือถือยี่ห้อ ‘ซัมซุง’ เข้ายื่นฟ้องบริษัท ไทยซัมซุง อิเลคโทรนิคส์ จำกัด ต่อศาลแพ่งกรุงเทพใต้ เป็นคดีแบบกลุ่ม (Class Action) กรณีหน้าจอโทรศัพท์มือถือรุ่นซัมซุงกาแล็กซี (Samsung Galaxy) หลายรุ่น พบปัญหาหน้าจอโทรศัพท์เป็นเส้นสีเขียว แต่ไม่ได้รับการเยียวยาจากบริษัทฯ
นายโสภณ หนูรัตน์ หัวหน้าฝ่ายคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิผู้บริโภค สภาองค์กรของผู้บริโภค กล่าวว่า ในช่วงที่ผ่านมามีผู้บริโภคเข้ามาร้องเรียนกับสภาผู้บริโภคเกือบ 250 ราย กรณีพบปัญหาหน้าจอโทรศัพท์มือถือซัมซุงกาแล็กซีรุ่นต่างๆ เกิดเส้นสีเขียวหรือสีชมพูขึ้นบนหน้าจอ รวมถึงมีอาการเครื่องร้อนผิดปกติหรือหน้าจอดับในบางราย โดยบางรายพบอาการดังกล่าว หลังจากมีการอัพเดตระบบปฏิบัติการเวอร์ชัน One UI
อย่างไรก็ดี เมื่อผู้บริโภคติดต่อไปยังศูนย์บริการของซัมซุงก็ได้รับคำตอบว่า อาจเกิดจากเครื่องหมดประกัน หรือบางรายได้รับคำตอบว่า อาจทำเครื่องตกหล่นหรือเครื่องเสื่อมสภาพตามอายุการใช้งานและต้องส่งซ่อม ทำให้ผู้บริโภคต้องรับผิดชอบเสียค่าใช้จ่ายประมาณ 7,000-15,000 บาท ในขณะที่ก่อนหน้านี้ ทางสภาผู้บริโภคได้ส่งหนังสือขอให้บริษัทฯ ชี้แจงและแก้ไขปัญหา แต่ไม่ได้ความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาอย่างใด
“การกระทำของบริษัทฯ เข้าข่ายเป็นการเอาเปรียบผู้บริโภคโดยไม่เป็นธรรม เกิดผลกระทบกับผู้บริโภคจำนวนมากที่ไม่สามารถใช้งานโทรศัพท์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเกิดภาระค่าใช้จ่ายในการซ่อมแซมเพื่อให้ใช้งานได้ตามปกติ สภาผู้บริโภค ในฐานะผู้แทนของผู้บริโภคตาม พ.ร.บ.การจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภค พ.ศ. 2562 จึงได้ร่วมกับตัวแทนผู้บริโภคที่ได้รับความเสียหาย จำนวน 119 ราย ยื่นคำร้องขออนุญาตให้ดำเนินคดีแบบกลุ่ม เพื่อคุ้มครองสมาชิกกลุ่มที่ได้รับความเสียหายจากกรณีข้างต้น กับบริษัท ซัมซุง อิเลคโทรนิคส์ จำกัด (ประเทศเกาหลีใต้) และ บริษัท ไทยซัมซุง อิเลคโทรนิคส์ จำกัด (ประเทศไทย) ที่ศาลแพ่งกรุงเทพใต้” นายโสภณ กล่าว
นายโสภณ กล่าวต่อว่า คดีนี้มีผู้บริโภคได้รับความเดือดร้อนจำนวนมาก สภาผู้บริโภคจึงเห็นว่า การฟ้องเป็นคดีกลุ่มจะทำให้ผู้บริโภคจำนวนมากได้รัประโยชน์มากกว่าการดำเนินคดีผู้บริโภคทั่วไป รวมถึงป้องกันมิให้คำพิพากษาของศาลขัดกัน และลดคดีที่ขึ้นสู่ศาลจำนวนมาก อีกทั้งผลคดีจะทำให้ผู้ที่ได้รับความเสียหายในลักษณะเดียวกันได้รับการชดเชยเยียวยาทั้งหมด ทำให้ผู้บริโภคได้รับความสะดวก และประหยัด ไม่เกิดภาระในการดำเนินคดี รวมทั้งยังเป็นการป้องปรามไม่ให้ผู้ประกอบธุรกิจทำพฤติกรรมเอาเปรียบผู้บริโภคแบบเดียวกันอีก
“การที่ผู้บริโภคใช้มือถือได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ จนทำให้เสียโอกาสในการใช้งาน และการที่บริษัทฯ ไม่แก้ไขหรือชดเชยความเสียหายให้ เข้าข่ายละเมิดสิทธิผู้บริโภคในการที่จะได้รับการชดเชยเยียวยาเมื่อพบสินค้าที่ชำรุดบกพร่อง สภาผู้บริโภค จึงเป็นโจทก์ยื่นฟ้องคดีกลุ่ม เพื่อให้ผู้บริโภคจำนวนมากที่ได้รับความเสียหายในลักษณะเดียวกันได้รับการชดเชยเยียวยาทั้งหมด“ นายโสภณ กล่าว
ทั้งนี้ ศาลฯจะมีการนัดไต่สวนคำร้องเพื่อพิจารณาว่า จะรับคดีดังกล่าวเป็นคดีแบบกลุ่มหรือไม่
นายโสภณ กล่าวต่อว่า แม้ว่าในปัจจุบันจะมีกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภคเกี่ยวกับความรับผิดชำรุดบกพร่องของสินค้า เมื่อผู้บริโภคพบปัญหาสินค้าชำรุดบกพร่องตั้งแต่แกะกล่องหรือใช้ไปได้สักระยะ ได้แก่ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ แต่กฎหมายยังขาดขอบเขตความรับผิดของผู้ขายที่ชัดเจน สิทธิของผู้ซื้อยังคลุมเครือ และไม่มีคำนิยามที่กระจ่างของคำว่า “ความชำรุดบกพร่อง” จนทำให้เกิดช่องโหว่ที่ผู้ประกอบการไม่เกรงกลัวและสามารถเอาเปรียบผู้บริโภคได้ ขณะที่ผู้บริโภคต้องต่อสู้เพื่อเรียกร้องสิทธิของตนเอง
ดังนั้น สภาผู้บริโภคจึงได้เสนอ “ร่าง พ.ร.บ.ความรับผิดเพื่อความชำรุดบกพร่องของสินค้า ฉบับสภาผู้บริโภค” หรือที่เรียกว่า Lemon Law เพื่อให้ผู้ซื้อสินค้าทุกคนได้รับการคุ้มครอง หากพบความชำรุดบกพร่องของสินค้า โดยสามารถใช้สิทธิได้ 5 กรณี ได้แก่ ขอซ่อม ขอเปลี่ยน ขอลดราคา ขอเลิกสัญญา หรือขอปฏิเสธชำระค่างวดผ่อนสินค้า
โดยปัจจุบันได้เสนอร่างกฎหมายฉบับนี้เข้าสู่สภาผู้แทนราษฎรแล้ว ร่วมกับการเสนอให้แก้ไขกฎหมายอีก 2 ฉบับ ได้แก่ การแก้ไข พ.ร.บ.อาหาร และ พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค ที่กฎหมายฉบับปัจจุบันมีเนื้อหาที่ล้าสมัย ไม่สามารถคุ้มครองผู้บริโภคได้อย่างแท้จริง โดยสามารถดูรายละเอียดเนื้อหากฎหมายต่อที่เว็บไซต์สภาผู้บริโภค (https://www.tcc.or.th)
อ่านประกอบ :
จ่อยื่นฟ้อง‘ซัมซุง’เป็นคดีกลุ่ม หลังพบปัญหา'หน้าจอมือถือเป็นเส้นเขียว' แต่ไร้การเยียวยา