'พ.ต.อ.ไพรัตน์ ไพพรรณรัตน์' รองผู้บังคับการอำนวยการ ตำรวจภูธรภาค 9 ร้องคณะกรรมการอัยการสอบวินัย อัยการชั้นผู้ใหญ่ในพื้นที่ ภาค 2 สั่งฟ้องไม่ชอบด้วยกฎหมาย
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 1 ก.ค. 2567 ที่สำนักงานอัยการสูงสุด ถนนเเจ้งวัฒนะ พ.ต.อ.ไพรัตน์ ไพพรรณรัตน์ รองผู้บังคับการอำนวยการตำรวจภูธรภาค 9 เดินทางมายื่นหนังสือร้องเรียน ขอให้ตรวจสอบข้าราชการอัยการประพฤติมิชอบและผิดวินัย ต่อคณะกรรมการอัยการ (ก.อ.) อัยการชั้นผู้ใหญ่ในพื้นที่ ภาค 2 (ขณะมูลคดีเกิด)
พ.ต.อ.ไพรัตน์ เดินทางมาพร้อม ว่าที่ ร.ต.ชัชวาลย์ บำรุงวงศ์ น.ส.ธันย์นิชา เอกสุวรรณรัตน์ ทนายความ โดยมีนายณรงค์ ศรีระสันต์ รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด เป็นผู้รับมอบหนังสือ
พ.ต.อ.ไพรัตน์ กล่าวว่า เรื่องดังกล่าวถือเป็นเรื่องใหญ่เพราะถ้าหากเป็นประชาชนทั่วไปโดนเเบบนี้ก็จะถูกดึงเข้าไปในกระบวนการตกเป็นจำเลยในคดีความโดยไม่ชอบ เรื่องนี้จึงไม่ใช่เรื่องส่วนตัวเฉพาะตนเเต่เป็นเรื่องส่วนรวมที่จะต้องป้องกันไม่ให้เกิด
นายณรงค์ กล่าวว่า ในนามของทีมโฆษก ก็จะรับหนังสือไว้ และกราบเรียนท่านอัยการสูงสุดภายวันนี้เพื่อให้ท่านพิจารณา และดูว่าเรื่องนี้อยู่ในขั้นตอนไหน มีเรื่องร้องวินัยอย่างเดียว หรือการร้องขอความเป็นธรรมในสำนวนด้วยหรือไม่ ซึ่งท่านอัยการสูงสุดก็จะให้หน่วยงานที่รับผิดชอบไปดำเนินการ โดยสำนักงานอัยการของเรามีทั้งกองการตรวจสอบ อำนาจหน้าที่ ถ้าร้องขอความเป็นธรรม ก็จะเป็นสำนักงานกิจการ
เมื่อถามว่า มีการยื่นฟ้อง แต่ไม่มีการแจ้งข้อกล่าวหา ตามระเบียบสามารถทำได้หรือไม่ นายณรงค์ กล่าวว่า ในเรื่องนี้ไม่ขอตอบ ต้องดูในสำนวน ต้องดูขั้นตอนที่กล่าวหาตรงกับข้อเท็จจริงในสำนวนหรือไม่ พอดีไม่ได้ดูสำนวน ขอให้เป็นหน้าที่ของผู้ตรวจสอบ
โดยคำร้องสรุปความว่า ราวปีพ.ศ. 2563 ผู้ร้องได้ตรวจสอบการทำสำนวนสอบสวนคดีอาญาที่ 451/ 2563 ของสภ.อ.เมืองพัทยา คดีระหว่าง พันตำรวจโท เฉลิมชัย ประสิทธิกุลไพศาล ผู้กล่าวหา กับ นางชนานันท์ หรือ ชนิปภา เปิงสมบัติ ผู้ต้องหา ในข้อหาเบิกความอันเป็นเท็จในการพิจารณาคดีอาญาต่อศาล ซึ่งคดีดังกล่าวผู้ร้องมาทราบภายหลังที่พนักงานสอบสวนทำการสอบสวนเสร็จสิ้นแล้วว่า มีการกล่าวหาเพิ่มชื่อผู้ร้องเป็นผู้ต้องหาที่ 2 ด้วย ระบุว่าผู้ร้องเป็นผู้ใช้ให้นางชนานันท์ หรือ ชนิปภา เบิกความอันเป็นเท็จในสำนวนการสอบสวน มีการจัดทำคำให้การของพยานหลายปาก มีลักษณะเสมือนการแต่งคำให้การ คือมีการพิมพ์คำให้การเหมือนกันทุกพยางค์ ทุกประโยค ทุกบรรทัด ทุกหน้า เว้นวรรคตอนตรงกันทุกประการ ซึ่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้สั่งการมอบให้ตำรวจภูธรภาค 2 ดำเนินการตรวจสอบการจัดทำคำให้การตามที่ผู้ร้องร้องขอให้ตรวจสอบอยู่ ตั้งแต่ผู้ร้องถูกกล่าวหาเป็นผู้ต้องหาที่ 2 ที่พนักงานสอบสวนรับคำร้องทุกข์ไว้ในปี พ.ศ.2563 จนถึงปัจจุบัน ถึงวันนี้ เป็นเวลา 4 ปีเศษ ผู้ร้องไม่เคยถูกสอบสวนในฐานะผู้ต้องหาแต่อย่างใด
ซึ่งสำนวนคดีในเฉพาะส่วนที่กล่าวหาผู้ร้องนั้น พนักงานสอบสวนไม่ได้เรียกตัวผู้ร้องมาทำการสอบสวนและแจ้งข้อกล่าวหาแต่อย่างใด เนื่องจากได้ความตามทางสอบสวนว่า ผู้ร้องไม่ได้เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิด จึงทำความเห็นควรสั่งไม่ฟ้องผู้ร้องส่งไปพร้อมกับสำนวนยังพนักงานอัยการ โดยมีความเห็นหน้ารายงานการสอบสวนในส่วนของผู้ร้องเป็นผู้ต้องหาที่ 2 ว่าผู้ต้องหาที่ 2 ไม่ได้แจ้งข้อกล่าวหา เนื่องจากไม่มีพยานหลักฐานเพียงพอในการแจ้งข้อกล่าวหา ซึ่งพนักงานสอบสวนส่งสำนวนให้พนักงานอัยการ ตั้งแต่วันที่ 13 ก.ค. 2564 พนักงานอัยการจังหวัดพัทยาใช้เวลาพิจารณาสำนวนคดีดังกล่าวเป็นเวลานานถึง 3 ปีเศษ ก็ไม่เคยมีคำสั่งให้พนักงานสอบสวน สอบสวนเพิ่มเติมในส่วนที่เกี่ยวข้องกับโจทก์แต่อย่างใด
พนักงานอัยการเจ้าของสำนวนและอัยการจังหวัด มีความเห็นสั่งไม่ฟ้องผู้ร้อง โดยไม่ได้เรียกตัวมาแจ้งข้อกล่าวหาเช่นเดียวกับความเห็นของพนักงานสอบสวน แต่สำนวนคดีนี้ผู้ต้องหาที่ 1 ได้ร้องขอความเป็นธรรมต่อพนักงานอัยการ ในชั้นพนักงานอัยการเจ้าของสำนวนและอัยการจังหวัดได้มีความเห็นและคำสั่งไม่ฟ้องผู้ต้องหาที่ 1 ด้วย แล้วเสนอสำนวนให้อธิบดีอัยการภาค 2 พิจารณาในส่วนของผู้ร้อง เป็นกรณีรู้ตัวผู้กระทำความผิดแต่ไม่ได้เรียกตัวมาแจ้งข้อกล่าวหา เพราะตามทางการสอบสวนได้ความว่าผู้ร้องไม่เกี่ยวข้อง พนักงานสอบสวนจึงมีความเห็นควรสั่งไม่ฟ้อง ซึ่งอยู่ในบังคับของประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 141
ส่วนนางชนานันท์ หรือ ชนิปภา นั้น พนักงานสอบสวนแจ้งข้อหาปล่อยตัวชั่วคราว พนักงานสอบสวนมีความเห็นควรสั่งฟ้อง ได้ส่งตัวให้พนักงานอัยการไปพร้อมสำนวนในระหว่างที่สำนวนคดีดังกล่าวอยู่ในความรับผิดชอบของอธิบดีอัยการภาค 2 เป็นเวลานานแล้วนั้น
ต่อมาเมื่อวันที่ 26 เม.ย.2567 หลังจากที่ผู้ร้องมายื่นหนังสือถึงผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 2 เรื่องร้องขอให้สอบผู้ร้องในฐานะผู้ร้อง เพื่อมอบหลักฐานเข้าสำนวนการตรวจสอบ ได้มีข้าราชการตำรวจผู้หวังดีแจ้งผู้ร้องว่า การที่ผู้ร้องได้ร้องขอให้ ผบ.ตร.ตรวจสอบการทำคำให้การดังกล่าวและที่ผู้ร้องทำหนังสือไปยื่นร้องขอให้ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 2 สอบผู้ร้องในฐานะผู้ร้องด้วยนี้ จะทำให้ข้าราชการตำรวจผู้เกี่ยวข้องในการทำสำนวนสอบสวนคดีดังกล่าวต้องเดือดร้อน ขอให้ผู้ร้องไปถอนเรื่องโดยด่วน ให้แล้วเสร็จภายในก่อนเที่ยงของวันที่ 26 เม.ย.2567 มิเช่นนั้น กลุ่มข้าราชการตำรวจที่เกี่ยวข้องกับการทำสำนวนจะไปขอให้อัยการชั้นผู้ใหญ่ในภาค 2 มีคำสั่งฟ้องผู้ร้องในบ่ายวันที่ 26 เม.ย. 2567 ซึ่งผู้ร้องมิได้เชื่อว่าจะทำได้ เพราะผู้ร้องยังไม่เคยถูกสอบสวนในฐานะผู้ต้องหามาก่อน
แต่ปรากฏว่าช่วงเย็นวันที่ 26 เม.ย. พนักงานอัยการเจ้าของสำนวนคดีดังกล่าว ได้ส่งหนังสือแจ้งคำสั่งของอธิบดีอัยการภาค 2 มาทางไลน์ เป็นหนังสือด่วนที่สุด แจ้งคำสั่งฟ้องผู้ร้อง สั่งให้พนักงานสอบสวนนำตัวผู้ร้องส่งให้พนักงานอัยการเพื่อยื่นฟ้องต่อศาลภายในวันที่ 29 เม.ย.2567 เวลา15.00 น. หากส่งตัวไม่ได้ ให้ขอศาลออกหมายจับ ซึ่งคำสั่งฟ้องผู้ร้องและให้ส่งตัวผู้ร้องเพื่อยื่นฟ้องต่อศาลดังกล่าวเป็นคำสั่งที่ผิดกฎหมาย เพราะอำนาจของอธิบดีอัยการภาค 2 ต้องอยู่ในบังคับของประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ป.วิอาญา) มาตรา 141 ที่บัญญัติว่า ถ้ารู้ตัวผู้กระทำผิดแต่เรียกหรือจับตัวยังไม่ได้ เมื่อได้ความตามทางสอบสวนอย่างใด ให้ความเห็นว่าควรสั่งฟ้องหรือสั่งไม่ฟ้องส่งไปพร้อมกับสำนวนยังพนักงานอัยการ และวรรคสี่ ถ้าพนักงานอัยการเห็นว่าควรสั่งฟ้อง ก็ให้จัดการอย่างหนึ่งอย่างใดเพื่อให้ได้ตัวผู้ต้องหามา ซึ่งระเบียบสำนักงานอัยการสูงสุดว่าด้วยการดำเนินคดีอาญาของพนักงานอัยการ พ.ศ.2563 ข้อ 77 การสั่งคดีสำหรับผู้ต้องหาที่เรียกหรือจับตัวไม่ได้ ในคดีคดีที่พนักงานอัยการเห็นว่าควรสั่งฟ้องผู้ต้องหาที่เรียกหรือจับตัวไม่ได้ ตามความในวรรคสี่ ของมาตรา 141 แห่ง ป.วิอาญา ให้ทำความเห็นว่า “ควรสั่งฟ้อง...” เมื่อสอบสวนผู้ต้องหาแล้ว ถึงจะให้พนักงานอัยการมีคำสั่งตามมาตรา 143 แห่งป.วิอาญา ซึ่งหมายความว่าจะต้องมีการสอบสวนโจทก์ในฐานะผู้ต้องหาเสียก่อน ถึงจะมีอำนาจตามกฎหมายสั่งฟ้องผู้ร้องได้ ซึ่งอธิบดีอัยการภาค 2 ใช้อำนาจผิดกฎหมาย คือสั่งฟ้องผู้ร้องก่อนแล้วให้แจ้งข้อหาและสอบสวนภายหลัง
ซึ่งอัยการชั้นผู้ใหญ่คนดังกล่าวได้มีความเห็นและคำสั่งฟ้องผู้ร้อง มายังอัยการจังหวัดพัทยา เป็นเหตุให้รักษาการในตำแหน่งอัยการจังหวัดพัทยา สั่งการในหนังสือสำนักงานอัยการจังหวัดพัทยา ให้ส่งตัวผู้ต้องหา(ผู้ร้อง) มาฟ้อง สั่งผผก.สภ.อ.เมืองพัทยา แจ้งพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบ ส่งตัวผู้ร้องไปยังสำนักงานอัยการจังหวัดพัทยา เพื่อยื่นฟ้องต่อศาล ภายในวันที่ 29 เม.ย.2567 เวลา 15.00 น. หากส่งตัวไม่ได้ ขอให้ศาลออกหมายจับ ซึ่งเป็นคำสั่งที่ผิดต่อป.วิอาญามาตรา 141 วรรคสี่
การกระทำของข้าราชการอัยการผู้ใหญ่ภาค 2 จึงเป็นการกระทำการมีความเห็นและคำสั่งฟ้อง ผู้ร้องโดยใช้ดุลพินิจตามอำเภอใจ มิใช่เป็นดุลพินิจในการสั่งคดีที่แสดงเหตุผลไว้พอสมควร ขัดต่อประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ขัดต่อ พรบ.องค์กรอัยการและพนักงานอัยการ พ.ศ.2553 ขัดต่อระเบียบสำนักงานอัยการสูงสุดว่าด้วยการดำเนินคดีอาญาของพนักงานอัยการ พ.ศ.2563 ขัดต่อ พรบ.มาตรฐานทางจริยธรรม พ.ศ. 2562 ทั้งยังเป็นการละเมิดแก่ผู้ร้องทำให้ผู้ร้องได้รับความเสียหาย เสียหายแก่เสรีภาพและสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใด เสื่อมเสียชื่อเสียง สร้างมลทินให้กับผู้ร้องซึ่งเป็นข้าราชการตำรวจระดับสูง อันมีผลต่อหน้าที่การงานและชื่อเสียงทางสังคม ต้องถูกดูหมิ่นเกลียดชัง
ขัดต่อระเบียบวินัยของคณะกรรมการอัยการจึงขอร้องเรียนมายังท่านคณะกรรมการอัยการ โปรดมีคำสั่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัย ต่ออัยการชั้นผู้ใหญ่ภาค 2 เพื่อลงโทษตามระเบียบต่อไป
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
8 ก.ค. 67! ศาลเเพ่งนัดชี้สองสถานคดีรองผู้การฯตร.ภูธรภาค 9 ยื่นฟ้องสำนักงานอัยการสูงสุด