ศาลเเพ่งนัดชี้สองสถาน 8 ก.ค. 2567 กรณี 'พ.ต.อ.ไพรัตน์ ไพพรรณรัตน์' รองผู้บังคับการอำนวยการ ตำรวจภูธรภาค 9 ยื่นฟ้องสำนักงานอัยการสูงสุด เรียกค่าเสียหาย 4 เเสน เหตุถูกอัยการจ.พัทยาสั่ง ผกก.พัทยาออกหมายเรียก หวังเอาตัวไปฟ้องศาลทั้งที่ไม่เคยถูกเเจ้งข้อหา ชี้ไม่เป็นไปตาม ป.วิอาญา
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 27 พ.ค. 2567 ผู้สื่อข่าวรายงานว่าเมื่อวันที่ 20 พ.ค.ที่ผ่านมา ที่ศาลเเพ่ง ถนนรัชดาภิเษก พ.ต.อ.ไพรัตน์ ไพพรรณรัตน์ รองผู้บังคับการอำนวยการ ตำรวจภูธรภาค 9 ยื่นฟ้องสำนักงานอัยการสูงสุด ในความผิดฐานละเมิด เรียกค่าเสียหาย 4 เเสนบาท คำฟ้องระบุพฤติการณ์สรุปว่า
จำเลยเป็นหน่วยงานราชการ ก่อนเกิดเหตุคดีนี้โจทก์ได้ร้องขอให้ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ผ่านผู้บังคับบัญชาตรวจสอบการทำสำนวนสอบสวนคดีอาญาที่ 451/ 2563 ของ สภ.อ.พัทยา คดีระหว่าง พันตำรวจโท เฉลิมชัย ประสิทธิกุลไพศาล ผู้กล่าวหา กับ นางชนานันท์ หรือ ชนิปภา เปิงสมบัติ ผู้ต้องหาในข้อหาเบิกความอันเป็นเท็จในการพิจารณาคดีอาญาต่อศาล ซึ่งคดีดังกล่าวโจทก์มาทราบภายหลังที่พนักงานสอบสวนทำการสอบสวนเสร็จสิ้นแล้วว่ามีการกล่าวหาเพิ่มชื่อโจทก์เป็นผู้ต้องหาที่ 2 ด้วยว่าโจทก์เป็นผู้ใช้ให้นางชนานันท์ หรือ ชนิปภา เบิกความอันเป็นเท็จในสำนวนการสอบสวน มีการจัดทำคำให้การของพยานหลายปาก มีลักษณะเสมือนการแต่งคำให้การ คือมีการพิมพ์คำให้การเหมือนกันทุกพยางค์ ทุกประโยค ทุกบรรทัด ทุกหน้า เว้นวรรคตอนตรงกันทุกๆประการ ซึ่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้สั่งการมอบให้ตำรวจภูธรภาค 2 ดำเนินการตรวจสอบการจัดทำคำให้การตามที่โจทก์ร้องขอให้ตรวจสอบอยู่
ตั้งแต่ถูกกล่าวหาเป็นผู้ต้องหาที่ 2 ที่พนักงานสอบสวนรับคำร้องทุกข์ไว้ในปี พ.ศ.2563 จนถึงปัจจุบัน ถึงวันที่โจทก์ยื่นฟ้องคดีนี้ เป็นเวลา 4 ปีเศษ โจทก์ไม่เคยถูกสอบสวนในฐานะผู้ต้องหา ซึ่งสำนวนคดีในเฉพาะส่วนที่กล่าวหาโจทก์ นั้น พนักงานสอบสวนไม่ได้เรียกตัวโจทก์มาทำการสอบสวนและแจ้งข้อกล่าวหา เนื่องจากได้ความตามทางสอบสวนว่า โจทก์ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิด จึงทำความเห็นควรสั่งไม่ฟ้องโจทก์ส่งไปกับสำนวนยังพนักงานอัยการ โดยมีความเห็นในส่วนของโจทก์ว่าผู้ต้องหาที่ 2 ไม่ได้แจ้งข้อกล่าวหา เนื่องจากไม่มีพยานหลักฐานเพียงพอ
ซึ่งพนักงานสอบสวนส่งสำนวนให้พนักงานอัยการ ตั้งแต่วันที่ 13 ก.ค.2564 พนักงานอัยการจังหวัดพัทยา ใช้เวลาพิจารณาสำนวนคดีดังกล่าวเป็นเวลานานถึง 3 ปีเศษ ก็ไม่เคยมีคำสั่งให้พนักงานสอบสวน สอบสวนเพิ่มเติมในส่วนที่เกี่ยวข้องกับโจทก์ พนักงานอัยการเจ้าของสำนวนและอัยการจังหวัด มีความเห็นสั่งไม่ฟ้องโจทก์โดยไม่ได้เรียกตัวมาแจ้งข้อกล่าวหาเช่นเดียวกับความเห็นของพนักงานสอบสวน แต่สำนวนคดีนี้ผู้ต้องหาที่ 1 ได้ร้องขอความเป็นธรรมต่อพนักงานอัยการ ในชั้นพนักงานอัยการเจ้าของสำนวนและอัยการจังหวัดได้มีความเห็นและคำสั่งไม่ฟ้องผู้ต้องหาที่ 1 ด้วย แล้วเสนอสำนวนให้อธิบดีอัยการภาค 2 พิจารณาในส่วนของโจทก์เป็นกรณีรู้ตัวผู้กระทำความผิดแต่ไม่ได้เรียกตัวมาแจ้งข้อกล่าวหา เพราะตามทางการสอบสวนได้ความว่าโจทก์ไม่เกี่ยวข้อง พนักงานสอบสวนจึงมีความเห็นควรสั่งไม่ฟ้อง ซึ่งอยู่ในบังคับของ ป.วิอาญา มาตรา 141
ส่วนนางชนานันท์ พนักงานสอบสวนแจ้งข้อหาปล่อยตัวชั่วคราว พนักงานสอบสวนมีความเห็นควรสั่งฟ้อง ได้ส่งตัวให้พนักงานอัยการไปพร้อมสำนวน ซึ่งอยู่ในบังคับของ ป.วิอาญา มาตรา 142 ซึ่งในระหว่างที่สำนวนอยู่ในความรับผิดชอบของอธิบดีอัยการภาค 2 เป็นเวลานาน สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สั่งให้ ผบช.ก.ภาค 2 ตรวจสอบการทำคำให้การที่มีลักษณะเสมือนมีการแต่งคำให้การ นั้น โจทก์ได้ร้องขอให้ผบช.ก.ภาค 2 สอบปากคำโจทก์ในฐานะผู้ร้อง เพื่อโจทก์จะได้มอบพยานหลักฐานที่โจทก์ได้ทราบมาแล้วว่าใครเป็นผู้อยู่เบื้องหลังการจัดทำคำให้การพยานที่เหมือนกัน เพื่อนำเข้าสำนวนการตรวจสอบ
ต่อมาเมื่อวันที่ 16 เม.ย. 2567 หลังจากที่โจทก์มายื่นหนังสือถึง ผบช.ก.ภาค 2 เรื่องร้องขอให้สอบโจทก์ในฐานะผู้ร้อง เพื่อมอบหลักฐานเข้าสำนวนการตรวจสอบ ได้มีข้าราชการตำรวจผู้หวังดีแจ้งโจทก์ว่า การที่โจทก์ได้ร้องขอให้ ผบ.ตร.ตรวจสอบการทำคำให้การดังกล่าวและที่โจทก์ทำหนังสือไปยื่นร้องขอให้ผบช.ก.ภาค 2สอบโจทก์ในฐานะผู้ร้องด้วยนี้ จะทำให้ข้าราชการตำรวจผู้เกี่ยวข้องในการทำสำนวนสอบสวนคดีดังกล่าวต้องเดือดร้อน ขอให้โจทก์ไปถอนเรื่องโดยด่วน ก่อนเที่ยงของวันที่ 26 เม.ย.2567 มิเช่นนั้น กลุ่มข้าราชการตำรวจที่เกี่ยวข้องกับการทำสำนวนจะไปขอให้อธิบดีอัยการภาค 2 มีคำสั่งฟ้องโจทก์ ในบ่ายวันที่ 26 เม.ย.2567 ซึ่งโจทก์ก็มิได้เชื่อว่าจะทำได้ เพราะโจทก์ยังไม่เคยถูกสอบสวนในฐานะผู้ต้องหามาก่อนแต่อย่างใด แต่ปรากฏว่าช่วงเย็นวันที่ 26 เม.ย.2567 พนักงานอัยการเจ้าของสำนวนคดีดังกล่าว ได้ส่งหนังสือแจ้งคำสั่งของอธิบดีอัยการภาค 2 มาทางไลน์ เป็นหนังสือด่วนที่สุด แจ้งคำสั่งฟ้องโจทก์ สั่งให้พนักงานสอบสวนนำตัวโจทก์ส่งให้พนักงานอัยการเพื่อยื่นฟ้องต่อศาลภายในวันที่ 29 เม.ย.2567 เวลา 15.00น.หากส่งตัวไม่ได้ ให้ขอศาลออกหมายจับตัวโจทก์
ซึ่งคำสั่งฟ้องโจทก์และให้ส่งตัวโจทก์เพื่อยื่นฟ้องต่อศาลดังกล่าวเป็นคำสั่งที่ผิดกฎหมาย เพราะอำนาจของอธิบดีอัยการภาค 2ต้องอยู่ในบังคับของ ป.วิมาตรา 141 ที่บัญญัติว่า ถ้ารู้ตัวผู้กระทำผิดแต่เรียกหรือจับตัวยังไม่ได้ เมื่อได้ความตามทางสอบสวนอย่างใด ให้ความเห็นว่าควรสั่งฟ้องหรือสั่งไม่ฟ้องส่งไปพร้อมกับสำนวนยังพนักงานอัยการ และวรรคสี่ ถ้าพนักงานอัยการเห็นว่าควรสั่งฟ้อง ก็ให้จัดการอย่างหนึ่งอย่างใดเพื่อให้ได้ตัวผู้ต้องหามา ซึ่งระเบียบสำนักงานอัยการสูงสุดว่าด้วยการดำเนินคดีอาญาของพนักงานอัยการ พ.ศ.2563ข้อ 77 การสั่งคดีสำหรับผู้ต้องหาที่เรียกหรือจับตัวไม่ได้ ในคดีคดีที่พนักงานอัยการเห็นว่าควรสั่งฟ้องผู้ต้องหาที่เรียกหรือจับตัวไม่ได้ ตามความในวรรคสี่ ของมาตรา 141 ให้ทำความเห็นว่า “ ควรสั่งฟ้อง...” เมื่อสอบสวนผู้ต้องหาแล้ว ถึงจะให้พนักงานอัยการมีคำสั่งตามมาตรา 143 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ซึ่งหมายความว่าจะต้องมีการสอบสวนโจทก์ในฐานะผู้ต้องหาเสียก่อน ถึงจะมีอำนาจตามกฎหมายสั่งฟ้องโจทก์ได้ ซึ่งอธิบดีอัยการภาค 2 ใช้อำนาจผิดกฎหมาย คือสั่งฟ้องโจทก์ก่อนแล้วให้แจ้งข้อหาและสอบสวนภายหลัง
วันที่ 29 เม.ย. 2567 โจทก์มีหนังสือแจ้งพนักงานสอบสวน สภ.อ.เมืองพัทยาให้ยุติการดำเนินดำเนินการเรียกตัวโจทก์เพื่อส่งตัวให้พนักงานอัยการยื่นฟ้องต่อศาล เพราะเป็นคำสั่งที่ผิดกฎหมาย และโจทก์ได้ร้องทุกข์กล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวน สภ.อ.นาจอมเทียน ให้ดำเนินคดีกับอธิบดีอัยการภาค 2 แล้ว
โดยสำนักงานอัยการสูงสุดจำเลยเป็นหน่วยงานของรัฐมีฐานะเป็นนิติบุคคลตาม พ.ร.บ.องค์กรอัยการและพนักงานอัยการ พ.ศ.2553มาตรา 7มีหน้าที่ควบคุม กำกับดูแลการปฏิบัติหน้าที่ของข้าราชการฝ่ายอัยการและพนักงานอัยการ ให้เป็นไปตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายและหลักนิติธรรม ตามมาตรา 8 การตัดสินความถูกผิดในการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐในหน่วยงานของจำเลยในส่วนพนักงานอัยการนั้น คือการพิจารณาสั่งคดีในเรื่องของความถูกผิด จึงถือเป็นเรื่องที่สำคัญเพราะกระทบต่อสิทธิเสรีภาพของบุคคลซึ่งเจ้าหน้าที่ของจำเลยกระทำละเมิดต่อโจทก์ กล่าวคือ นายพงษ์นรินทร์ นิลจันทร์ อัยการผู้เชี่ยวชาญ สำนักงานอัยการภาค 3 รักษาการในตำแหน่งอัยการจังหวัดพัทยา มีอำนาจหน้าที่ปฏิบัติราชการให้เป็นไปตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย โดยรู้ข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายในสำนวนคดีดีอยู่แล้วว่าอำนาจการมีคำสั่ง 'สั่งฟ้อง' ของอธิบดีอัยการภาค 2 รวมทั้งอำนาจของพนักงานอัยการ และอัยการจังหวัดพัทยานั้น ยังไม่มีอำนาจสั่งฟ้องโจทก์ อีกทั้งไม่มีอำนาจสั่งพนักงานสอบสวนให้ส่งตัวโจทก์มายังพนักงานอัยการ เพื่อนำตัวโจทก์ยื่นฟ้องต่อศาล
โดยเมื่อวันที่ 26 เม.ย.นายพงษ์นรินทร์ ได้สั่งการในหนังสือสำนักงานอัยการจังหวัดพัทยาสั่งผกก.สภ.อ.ความว่า "ขอให้ท่านแจ้งพันตำรวจโท พิทักษ์ เนินแสง พนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบ ส่งตัวพันตำรวจเอกไพรัตน์ (หมายถึงโจทก์) ผู้ต้องหาที่ 2 ไปยังสำนักงานอัยการจังหวัดพัทยา เพื่อยื่นฟ้องต่อศาล ภายในวันที่ 29 เม.ย. หากส่งตัวไม่ได้ ขอให้ศาลออกหมายจับ" ซึ่งเป็นคำสั่งที่ผิดต่อ ป.วิ อาญา มาตรา 141 วรรคสี่ หลังจากที่นายพงษ์นรินทร์ มีคำสั่ง โจทก์ได้มีหนังสือขอให้ยกเลิกการมีคำสั่งดังกล่าว โดยร้องขอให้ดำเนินการให้แล้วเสร็จก่อนวันที่ 15 พ.ค.2567 และเมื่อดำเนินการแล้ว ขอให้แจ้งให้โจทก์ทราบ แต่ปรากฏว่านายพงษ์นรินทร์ ได้รับทราบแล้วกลับเพิกเฉย เป็นเหตุให้พนักงานสอบสวน นำหนังสือที่นายพงษ์นรินทร์ สั่งการโดยผิดต่อกฎหมาย มาออกหมายเรียกเพื่อนำตัวโจทก์ส่งให้พนักงานอัยการยื่นฟ้องต่อศาล โดยผิดกฎหมายอีกเช่นกัน
และยังพยายามที่จะยื่นคำร้องขอศาลออกหมายจับโจทก์ตามคำสั่งที่ผิดกฎหมายดังกล่าวอยู่ การกระทำของนายพงษ์นรินทร์ นิลจันทร์ รักษาการอัยการจังหวัดพัทยา จึงเป็นการกระทำละเมิดแก่โจทก์ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย สร้างมลทินให้กับโจทก์ซึ่งเป็นข้าราชการตำรวจระดับสูง อันมีผลต่อหน้าที่การงานและชื่อเสียงทางสังคม ต้องถูกดูหมิ่นฯ จำเลยเป็นหน่วยงานรัฐมีหน้าที่ดูแลและกำกับการปฎิบัติงานของข้าราชการอัยการทุกหน่วยงาน จึงต้องรับผิดต่อโจทก์ ภายใต้ พรบ.ความรับผิดชอบทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 มาตรา 5
โดยโจทก์คิดเป็นเงินค่าเสียหาย เป็นเงิน 4 เเสนบาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 5 ต่อปี นับแต่วันฟ้อง ภายหลังยื่นฟ้อง ศาลเเพ่งนัดชี้สองสถานวันที่ 8 ก.ค. 2567
พ.ต.อ.ดร.ไพรัตน์ ยังระบุว่า เมื่อวันที่ 30 เม.ย.ที่ผ่านมาตนได้ยื่นหนังสือขอความเป็นธรรมถึงอัยการสูงสุดกรณีที่อธ.อัยการภาค 2 มีความเห็นสั่งฟ้องขัดกับพยานหลักฐาน เเละได้เเจ้งความดำเนินคดีอาญาไว้เเล้ว