‘ธปท.’ หารือ ‘คลัง’ ผลักดันกลไก ‘ค้ำประกันเครดิตฯ’ หวังช่วยเหลือธุรกิจ SMEs ให้เข้าถึงแหล่งทุนได้มากขึ้น ขณะที่ ‘ผลศึกษาฯ’ ชี้ SMEs เกินครึ่ง เข้าไม่ถึง ‘สินเชื่อแบงก์’ ซ้ำมี ‘ต้นทุนเงินกู้ยืม’ สูงกว่ารายใหญ่
....................................
เมื่อวันที่ 4 มิ.ย. ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จัดงานเสวนาเรื่อง ‘กลไกค้ำประกันเครดิต ตัวช่วยของ SMEs ในการเข้าถึงเงินทุน’ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อแลกเปลี่ยนมุมมองจากผู้เกี่ยวข้องในภาคส่วนต่างๆ และรับฟังความเห็นที่จะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนากลไกค้ำประกันเครดิตของไทย เพื่อช่วยเพิ่มโอกาสการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของธุรกิจ โดยเฉพาะผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs)
นายรณดล นุ่มนนท์ รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธปท. กล่าวเปิดงานโดยเน้นถึงปัญหาของ SMEs ที่มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย ว่า ยังมีข้อจำกัดในการเข้าถึงแหล่งเงินทุน จนทำให้ไม่สามารถดำเนินธุรกิจได้เต็มที่ ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องจึงควรร่วมกันหาแนวทางเพื่อพัฒนากลไกที่จะเพิ่มโอกาสการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของ SMEs และตอบโจทย์ของประเทศได้ดีที่สุด
“ที่ผ่านมา ธปท.ตระหนักถึงปัญหาและอุปสรรคในการเข้าถึงเครดิตของ SMEs มาอย่างต่อเนื่อง และนี่ถือเป็นหนึ่งในปัญหาสำคัญเชิงโครงสร้างของประเทศที่ต้องเร่งแก้ไข โดยได้ทำการศึกษากลไกที่จะมาช่วยเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงแหล่งเงินของธุรกิจและรายย่อย รวมถึงประสบการณ์จากต่างประเทศในการใช้ประโยชน์ของกลไกในการค้ำประกันเครดิตฯนี้” นายรณดล กล่าว
นายรณดล กล่าวด้วยว่า ธปท.อยู่ระหว่างการหารือกับกระทรวงการคลัง เพื่อร่วมกันออกแบบและผลักดันกลไกในการค้ำประกันเครดิตฯ ซึ่งจะเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงแหล่งเงินให้กับภาคธุรกิจ โดยเฉพาะธุรกิจ SMEs
ด้าน นายสมชาย เลิศลาภวศิน ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายสถาบันการเงิน ธปท. ได้กล่าวสรุปผลการศึกษาของ ธปท. เกี่ยวกับปัญหาการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของ SMEs และบทบาทของกลไกค้ำประกันเครดิต โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้
1.การเข้าถึงแหล่งเงินทุนของ SMEs เป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่สำคัญของไทย โดยสินเชื่อธุรกิจ SMEs หดตัวต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงก่อนโควิด 19 ถึงปัจจุบัน โดยล่าสุด ณ ไตรมาส 1/2567 สินเชื่อธุรกิจ SMEs หดตัว 5.1% นอกจากนี้ จากข้อมูลสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) และ ธปท. พบว่า จากจำนวน SMEs ในระบบทั้งหมด 3.2 ล้านราย มี SMEs ไม่ถึงครึ่งที่เข้าถึงสินเชื่อเพื่อธุรกิจในระบบสถาบันการเงิน
2.SMEs เข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ยาก จากทั้งการมีทุนและความสามารถในการแข่งขันที่จำกัด ทำให้ผลประกอบการผันผวน การมีข้อมูลประวัติทางการเงินไม่เพียงพอ และไม่มีหลักประกัน รวมทั้งมูลค่าสินเชื่อมีขนาดเล็ก ไม่คุ้มกับต้นทุนของสถาบันการเงินในการประเมินและติดตามความเสี่ยง ทำให้โดยรวม สถาบันการเงินระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อ หรือให้สินเชื่อด้วยต้นทุนกู้ยืมที่สูงกว่าธุรกิจขนาดใหญ่ เพื่อชดเชยความเสี่ยง
3.ที่ผ่านมาการค้ำประกันโดยบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เป็นกลไกสำคัญที่แบ่งเบาความเสี่ยงของ SMEs ทำให้สถาบันการเงินกล้าปล่อยสินเชื่ออย่างทั่วถึงขึ้น ซึ่งโครงการค้ำประกันสินเชื่อ (Portfolio Guarantee Scheme–PGS) ของ บสย. แต่ละโครงการ รวมถึงการค้ำประกันสินเชื่อฟื้นฟูในช่วงโควิด 19 มีส่วนช่วยให้สินเชื่อธุรกิจ SMEs ขยายตัวได้แม้ในช่วงวิกฤติ
อย่างไรก็ดี กลไกค้ำประกันในปัจจุบันยังมีข้อจำกัด เช่น ขอบเขตการค้ำประกันที่จำกัด โดยครอบคลุมเฉพาะการค้ำประกันสินเชื่อที่ปล่อยโดยสถาบันการเงิน (ธนาคารพาณิชย์ สถาบันการเงินเฉพาะกิจ บริษัทเงินทุน บริษัทเครดิตฟองซิเอร์) และบริษัทลูกเท่านั้น โดยสินเชื่อธุรกิจ SMEs ขยายตัวในช่วงโควิด 19 เป็นผลจากมาตรการสินเชื่อ soft loan /สินเชื่อฟื้นฟู
เครื่องมือไม่เพียงพอ ทำให้การประเมินความเสี่ยงของ SMEs แต่ละรายทำได้ยาก จึงต้องใช้วิธีค้ำประกันแบบกลุ่ม (portfolio guarantee) ที่คิดค่าธรรมเนียมจากลูกหนี้เท่ากันทุกรายในแต่ละโครงการ ทำให้ลูกหนี้บางส่วนอาจต้องจ่ายค่าธรรมเนียมสูงกว่าความเสี่ยงของตนเอง
และการค้ำประกันขาดความยืดหยุ่นในการช่วยสนับสนุนภาคธุรกิจที่สอดคล้องกับทิศทาง/ยุทธศาสตร์ของประเทศ หรือเป็นกลไกให้ความช่วยเหลือภาคธุรกิจในช่วงวิกฤต เห็นได้จากในช่วงโควิด 19 ที่ต้องออกพระราชกำหนด (พรก.) เพื่อให้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (soft loan) แก่ SMEs ในการช่วยเหลือเพิ่มเติม
(สมชาย เลิศลาภวศิน)
4.กลไกค้ำประกันเครดิตที่มีประสิทธิภาพ ควรตอบโจทย์ทั้งภาครัฐ ผู้ให้กู้ยืม และ SMEs ภายใต้แรงจูงใจที่เหมาะสมร่วมกัน โดยตัวอย่างกลไกค้ำประกันเครดิตที่ประสบความสำเร็จในประเทศที่มี SMEs เป็นแกนหลักคล้ายกับไทย เช่น เกาหลีใต้ มาเลเซีย และไต้หวัน มีลักษณะสำคัญ คือ ไม่จำกัดประเภทผู้ให้กู้ยืม หรือรูปแบบการกู้ยืมอยู่ที่เฉพาะสินเชื่อ ทำให้สามารถสนับสนุนการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของ SMEs ในรูปแบบที่หลากหลายและเหมาะกับธุรกิจแต่ละกลุ่มมากขึ้น รวมถึงสนับสนุนธุรกิจตามเป้าหมายการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศในระยะยาว
มีข้อมูลและแบบจำลองเพื่อใช้ประเมินความเสี่ยงด้านเครดิตที่สะท้อนระดับความเสี่ยงของลูกหนี้แต่ละราย ทำให้กำหนดค่าธรรมเนียมที่เหมาะสมได้ (risk-based pricing) , มีความยืดหยุ่น สามารถใช้เป็นกลไก/เครื่องมือเชิงนโยบายทั้งในภาวะปกติและช่วงวิกฤติ ,มีเงินทุน (funding) ที่มีเสถียรภาพ มั่นคง ที่มาจากผู้มีส่วนได้เสียในแต่ละภาคส่วน อย่างเกาหลีใต้ เงินสมทบจะมาจากทั้งรัฐบาล สถาบันการเงิน และภาคธุรกิจอื่นๆ ตามความสมัครใจ ทำให้ทั้งรัฐ สถาบันการเงิน และเอกชนต้องร่วมกันประเมินและปล่อยสินเชื่ออย่างรับผิดชอบ
และให้การสนับสนุน SMEs มากกว่าเพียงการเข้าถึงแหล่งเงินทุน อาทิ เป็นที่ปรึกษาทางการเงินที่มีบริการครบวงจร ทั้งให้คำปรึกษาเกี่ยวกับการดำเนินธุรกิจ และการบริหารจัดการเงิน เพื่อช่วยยกระดับศักยภาพของ SMEs
ทั้งนี้ ภายในงานเสวนาฯ ผู้แทนจากภาคส่วนที่เกี่ยวข้องได้ร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับแนวทางการพัฒนากลไกค้ำประกันเครดิตให้ตอบโจทย์ SMEs ไทยได้มากขึ้น ได้แก่ นายแสงชัย ธีรกุลวาณิช ประธานสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย ,นายสิทธิกร ดิเรกสุนทร กรรมการและผู้จัดการทั่วไป บสย. ,นายชัยยศ ตันพิสุทธิ์ ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกสิกรไทย ,นายสมชัย จิตสุชน ผู้อำนวยการวิจัยด้านการ พัฒนาอย่างทั่วถึง สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI)