‘กสม.’ ย้ำให้ความสำคัญของสิทธิในสิ่งแวดล้อม ขอทุกภาคส่วนได้มีส่วนร่วมอนุรักษ์-ฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม พร้อมจัดทำข้อเสนอแนะแก้ไข ร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติฯ-ร่าง พ.ร.บ.การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
.................................
เมื่อวันที่ 4 มิ.ย. คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้เผยแพร่สารเนื่องใน ‘วันสิ่งแวดล้อมโลก’ ประจำปี 2567 โดยมีเนื้อหาว่า คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ และสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ รับรองว่า “สิทธิในสิ่งแวดล้อมที่สะอาด ดีต่อสุขภาพ และยั่งยืน เป็นสิทธิมนุษยชน” และยืนยันว่ารัฐมีหน้าที่ในการเคารพ คุ้มครอง และส่งเสริมสิทธิดังกล่าวให้เกิดขึ้นจริง
สถานการณ์ด้านสิ่งแวดล้อมในปัจจุบัน ทั้งปัญหาหมอกควันและฝุ่นละออง PM 2.5 ปรากฏการณ์เอลนีโญ และลานีญา ที่ส่งผลให้บางพื้นที่ประสบภัยแล้งยาวนาน ขณะที่บางพื้นที่เผชิญภาวะน้ำท่วมหนัก หรือการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ (climate change) ล้วนคุกคามและส่งผลกระทบโดยตรงต่อความเป็นอยู่ที่ดีและสิทธิของทั้งคนรุ่นปัจจุบันและอนาคตในทุกภูมิภาค
โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลกระทบต่อประชากรกลุ่มเปราะบาง เช่น ผู้ยากไร้ ผู้สูงอายุ เด็ก กลุ่มชาติพันธุ์ แรงงานอพยพข้ามชาติ ฯลฯ ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีอุปสรรคในการเข้าถึงสิทธิและสวัสดิการขั้นพื้นฐาน เช่น สิทธิในที่อยู่อาศัย สิทธิในการรับบริการสาธารณสุข และสิทธิในการเข้าถึงและร่วมใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ อาหารและน้ำที่สะอาด
คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ในฐานะสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ตระหนักถึงบทบาทหน้าที่ในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนที่เกี่ยวข้องกับประเด็นสิทธิชุมชนและสิทธิทางสิ่งแวดล้อม โดยที่ผ่านมาได้มีข้อเสนอแนะต่อรัฐสภาเกี่ยวกับร่างพระราชบัญญัติบริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาด และอยู่ระหว่างการจัดทำข้อเสนอแนะเพื่อปรับปรุงแก้ไขพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ และข้อเสนอแนะต่อร่างพระราชบัญญัติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
รวมทั้งอยู่ระหว่างการผลักดันร่างปฏิญญาอาเซียนว่าด้วยสิทธิในสิ่งแวดล้อมร่วมกับคณะกรรมาธิการระหว่างรัฐบาลอาเซียนว่าด้วยสิทธิมนุษยชน หรือ AICHR เพื่อรับรอง คุ้มครอง และส่งเสริมสิทธิทางสิ่งแวดล้อมของประชาชนในภูมิภาคอาเซียนในทุกมิติ ทั้งการตอบสนองอย่างมีประสิทธิภาพต่อสถานการณ์ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป การอนุรักษ์และฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม การเข้าถึงข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อม การมีส่วนร่วมของประชาชนในการตัดสินใจด้านสิ่งแวดล้อม การเข้าถึงความยุติธรรมทางสิ่งแวดล้อมตามกฎหมาย รวมถึงการพื้นฟูเยียวยาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมที่เป็นธรรมสำหรับทุกคน
“เนื่องในวันสิ่งแวดล้อมโลก 5 มิถุนายน ประจำปี 2567 นี้ กสม. ขอเน้นย้ำถึงความสำคัญของสิทธิในสิ่งแวดล้อมที่ดีว่าเป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน และขอให้ทุกภาคส่วนได้มีส่วนร่วมอนุรักษ์ ฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม และใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติโดยคำนึงถึงการพัฒนาที่ยั่งยืน เพื่อคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีของเราทุกคนทั้งในรุ่นปัจจุบันและรุ่นต่อๆไป” สาร กสม. ระบุ