‘เรืองไกร’ ร้องป.ป.ช.สอบรัฐบาลแจกเงินหมื่นเกษตรกร 1.7 แสนล้านบาท 2 ประเด็น ‘ขัด พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง - ซ้ำซ้อนมาตรการตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้’
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า วันที่ 4 พฤษภาคม 2567 นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ สมาชิกพรรคพลังประชารัฐ เปิดเผยว่า จากการติดตามโครงการดิจิทัลวอลเลต วงเงิน 500,000 ล้านบาท ที่มีการกล่าวอ้างว่าแบบนามธรรมว่าทำได้ ๆ แต่ยังไม่เห็นรูปธรรมความเป็นไปได้ของโครงการที่ชัดเจน และหลายฝ่ายทักท้วงว่า จะขัดต่อกฎหมาย แต่พวกที่อยากที่จะทำโครงการนี้ ก็หารับฟังไม่ โดยวงเงิน 500,000 ล้านบาท จะมีการจะใช้เงินดิจิทัลวอลเลตผ่านธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ (ธ.ก.ส.) อยู่จำนวน 172,300 ล้านบาท
นายเรืองไกร กล่าวว่า ตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 23 เม.ย. 2567 ประกอบกับความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกาน่าเชื่อว่า รัฐบาลจะมีการใช้เงินโครงการ Digital Wallet จำนวน 172,300 ล้านบาท ผ่าน ธ.ก.ส. ดังนั้น ถ้านำดิจิทัลวอลเลตไปแจกในมูลค่าคนละ 10,000 บาท ก็มีเกษตรกรที่จะได้รับ 17.230 ล้านคน
นายเรืองไกร กล่าวว่า เรื่องนี้ จึงควรตรวจสอบก่อนว่าจำนวนเกษตรกร 17.230 ล้านคน มีอยู่จริงหรือไม่ และการแจกดิจิทัลวอลเลตให้เกษตรกรแต่ละคนนั้น เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของ ธ.ก.ส. หรือไม่ และจะซ้ำซ้อนกับโครงการอื่นที่รัฐบาลชุดนี้เคยช่วยเหลือเกษตรกรผ่าน ธ.ก.ส. ก่อนหน้านี้ หรือไม่
นายเรืองไกร กล่าวว่า ทั้งนี้ หากย้อนดูมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 26 ก.ย. 2566 จะพบว่า คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบ เห็นชอบ และอนุมัติ โครงการ “ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้” ที่นายเศรษฐา ทวีสินในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เสนอ มาก่อนแล้ว โดยโครงการดังกล่าวจะใช้กับเกษตรกร 2.698 ล้านคน โดยมีวงเงิน 12,096 ล้านบาท โดยระบุข้อมูลไว้ว่า ยอดคงค้าง ณ วันที่ 22 ก.ย. 2566 ที่รัฐบาลต้องรับชดเชยจำนวน 1,000,295.186 ล้านบาท หรือคิดเป็นอัตราร้อยละ 31.41 ของงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 เมื่อนำยอดเงิน 12,096 ล้านบาท มารวม ภาระก็จะเพิ่มขึ้นเป็น1,012,391.186 ล้านบาท หรือคิดเป็นอัตราร้อยละ 31.79 ที่ยังไม่เกินอัตราร้อยละ 32 ของงบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ. 2566
@ส่อขัด พ.ร.บ.วินัย มาตรา 28
นายเรืองไกร กล่าวว่า เกณฑ์อัตราร้อยละ 32 มาจากหนังสือกระทรวงการคลัง ที่ระบุไว้ว่า ตามประกาศคณะกรรมการฯ เรื่อง กำหนดอัตราชดเชยค่าใช้จ่ายหรือการสูญเสียรายได้ของหน่วยงานของรับในการดำเนินกิจกรรม มาตรการ หรือโครงการตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 28 พ.ศ. 2565 กำหนดว่า อัตรายอดคงค้างรวมทั้งหมดของภาระที่รัฐต้องรับผิดชอบชดเชยค่าใช้จ่ายหรือการสูญเสียรายได้ของหน่วยงานของรัฐในการดำเนินกิจกรรม มาตรการ หรือโครงการตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 28 แห่ง พ.ร.บ. วินัยการเงินการคลังฯ ต้องมียอดคงค้างทั้งหมดรวมกันไม่เกินร้อยละ 32 ของงบประมาณรายจ่ายประจำปี
นายเรืองไกร กล่าวว่า ดังนั้น คณะรัฐมนตรีต้องรู้อยู่แล้วว่า ยอดคงค้างที่รัฐบาลต้องรับชดเชย จำนวน 1,012,391.186 ล้านบาท จะต้องมารวมกับยอดโครงการดิจิทัลวอลเลตจำนวน 172,300 ล้านบาท ด้วย ซึ่งจะทำให้ภาระที่รัฐบาลต้องรับผิดชอบชดเชยฯ เพิ่มเป็น 1,184,691.186 ล้านบาท ซึ่งหากนำไปเทียบกับงบประมาณ 2567 จำนวน 3,480,000 ล้านบาท จะได้ร้อยละ 34.04 ซึ่งเกินกว่าร้อยละ 32 ดังนั้น โครงการดิจิทัลวอลเลตที่จะใช้ผ่าน ธ.ก.ส. น่าจะขัดต่อพ.ร.บ. วินัยการเงินการคลังฯ ม. 28
นายเรืองไกร กล่าวว่า นอกจากนี้ ยังมีเหตุอันควรสงสัยว่า เกษตรกรในโครงการ “ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้” จำนวน 2.698 ล้านคนกับเกษตรกรในโครงการดิจิทัลวอลเลตจำนวน 17.230 ล้านคน จะเป็นเกษตรกรที่ซ้ำซ้อนกัน หรือไม่ ถ้าไม่ซ้ำซ้อนก็จะมีเกษตรกรรวม 19.928 ล้านคน ใช่หรือไม่ ซึ่งรัฐบาลก็ยังไม่เคยชี้แจงให้ชัดเจนว่า จำนวนเกษตรกรของ ธ.ก.ส. ที่ถูกต้องมีจำนวนเท่าใด
นายเรืองไกร สรุปว่า โครงการดิจิทัลวอลเลตเฉพาะกรณีที่จะใช้ผ่าน ธ.ก.ส. ก็มีหลายประเด็นที่อาจไม่ชอบ วันนี้จึงส่งหนังสือทางไปรษณีย์ EMS ถึง ป.ป.ช. เพื่อให้ตรวจสอบว่า โครงการดิจิทัลวอลเลตวงเงิน 172,300 ล้านบาท ที่จะใช้ผ่าน ธ.ก.ส. นั้น จะทำให้ยอดภาระที่รัฐบาลต้องรับผิดชอบชดเชยฯ เกินอัตราที่กำหนด หรือไม่ ขัดต่อพ.ร.บ. วินัยการเงินการคลังฯ ม. 28 หรือไม่ และจำนวนเกษตรกรที่ถูกต้อง มีจำนวนเท่าใด เกษตรกรที่จะได้รับเงินหมื่นซ้ำซ้อนกับเกษตรกรที่ได้รับการช่วยเหลือจากรัฐบาลในโครงการ “ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้” หรือไม่