บอร์ดรฟท.อนุมัติสร้างไฮสปีดเทรนไทยจีนเฟส 2 ช่วงโคราช - หนองคาย 357 กม. วงเงิน 3.41 แสนล้านบาทแล้ว เล็งเสนอ ครม.ต่อไป ความคืบหน้า EIA รอกก.วล.เคาะ พร้อมกันนี้บอร์ดยังอนุมัติ PPP ศูนย์เปลี่ยนถ่ายสินค้าฯนาทา 7.2 พันล้านบาท
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า วันที่ 24 เมษายน 2567 แหล่งข่าวจากการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) รฟท.ที่มีนายจิรุตม์ วิศาลจิตร อธิบดีกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) เป็นประธาน เมื่อวันที่ 18 เม.ย. 2567 ได้มีมติอนุมัติ โครงการความร่วมมือระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ในการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูงเพื่อเชื่อมโยงภูมิภาค ช่วงกรุงเทพมหานคร-หนองคาย (ระยะที่ 2 ช่วง นครราชสีมา-หนองคาย)ระยะทาง 357.12 กิโลเมตร (กม.) รวมมูลค่าการลงทุน ทั้งสิ้น 341,351.42 ล้านบาท โดยขั้นตอนหลังจากนี้ รฟท.จะสรุปเรื่องเสนอไปกระทรวงคมนาคม เพื่อพิจารณานำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ขออนุมัติภายในปี 2567 คาดว่าจะใช้เวลาก่อสร้างงานโยธา 48 เดือน (หรือ 4 ปี) ก่อสร้างงานระบบรถไฟฟ้า 66 เดือน (หรือ 5 ปีครึ่ง )กำหนดเปิดให้บริการปี 2574
ปัจจุบัน โครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน เฟส 2 ช่วง นครราชสีมา-หนองคาย มีการออกแบบงานโยธาเสร็จเรียบร้อย โดยอยู่ระหว่างจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ซึ่งล่าสุดเมื่อวันที่ 16 ก.พ. 2567 คณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม โครงการโครงสร้างพื้นฐานทางบก และทางอากาศ (คชก.) ได้ให้ความเห็นชอบรายงาน EIA แล้ว เตรียมเสนอคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (กก.วล.) อนุมัติต่อไป
สำหรับ โครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน เฟส 2 ช่วง นครราชสีมา-หนองคาย มีมูลค่าการลงทุน 341,351.42 ล้านบาท โดยแบ่งงานเป็น 2 ส่วน คือ 1.งานรถไฟความเร็วสูง วงเงินลงทุน 335,665.21 ล้านบาท ได้แก่ ค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินและชดเชยทรัพย์สิน วงเงิน 10,310.10 ล้านบาท ,ค่าก่อสร้างงานโยธา วงเงิน 235,129.40 ล้านบาท ,ค่าลงทุนระบบราง วงเงิน 30,663.75 ล้านบาท ค่าระบบรถไฟฟ้าและเครื่องกล วงเงิน 29,007.08 ล้านบาท ,ค่าจัดหาขบวนรถไฟ วงเงิน 17,874.35 ล้านบาท ค่าจัดหาขบวนรถซ่อมบำรุงทาง วงเงิน 2,620.43 ล้านบาท ,ค่าที่ปรึกษาควบคุมงานก่อสร้างงานโยธา วงเงิน 6,466.06 ล้านบาท ,ค่าที่ปรึกษาบริหารโครงการและที่ปรึกษาควบคุมงานก่อสร้างงานระบบรถไฟ วงเงิน 2,792.38 ล้านบาท และค่าที่ปรึกษาวิศวกรอิสระ วงเงิน 801.66 ล้านบาท
2.งานศูนย์เปลี่ยนถ่ายสินค้านาทา วงเงินลงทุน 5,686.21 ล้านบาท ได้แก่ ค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินและชดเชยทรัพย์สิน วงเงิน 2,108.51 ล้านบาท ,ค่าก่อสร้างงานโยธา วงเงิน 2,325.46 ล้านบาท ,ค่าลงทุนระบบราง วงเงิน 418.76 ล้านบาท ค่าระบบรถไฟฟ้าและเครื่องกล วงเงิน 89.44 ล้านบาท , ค่าเครื่องมือ/อุปกรณ์ยกขนในศูนย์เปลี่ยนถ่ายสินค้าฯ 429.24 ล้านบาท ,ค่าจัดหารถจักรในศูนย์เปลี่ยนถ่ายสินค้าฯ 210.00 ล้านบาท
ค่าที่ปรึกษาควบคุมงานก่อสร้างงานโยธา วงเงิน 63.95 ล้านบาท ,ค่าที่ปรึกษาบริหารโครงการและที่ปรึกษาควบคุมงานก่อสร้างงานระบบรถไฟ วงเงิน 29.38 ล้านบาท และค่าที่ปรึกษาวิศวกรอิสระ วงเงิน 11.47 ล้านบาท
โครงการรถไฟไทย-จีน เฟส 2 ช่วงนครราชสีมา-หนองคาย มีจุดเริ่มต้นต่อจากจุดสิ้นสุดของโครงการเฟสแรก ช่วงกรุงเทพ-นครราชสีมา ไปสิ้นสุดที่ริมแม่น้ำโขงฝั่งไทย รวมระยะทาง 357.12 กม. โดยเป็น ทางวิ่งยกระดับ (Elevated Structure) ระยะทาง 202.48 กม. ทางวิ่งระดับดิน 154.64 กม. (แบบคันทาง 138.93 กม. เป็นสะพานรถไฟ 15.71 กม.) มี 5 สถานี ได้แก่ สถานีบัวใหญ่,สถานีบ้านไผ่, สถานีขอนแก่น, สถานีอุดรธานี, สถานีหนองคาย
มีหน่วยซ่อมบำรุงทาง 4 แห่ง ได้แก่ หน่วยซ่อมบำรุงบ้านมะค่า , หน่วยซ่อมบำรุงหนองเม็ก, หน่วยซ่อมบำรุงโนนสะอาด , หน่วยซ่อมบำรุงนาทา มีศูนย์ซ่อมบำรุง 2 แห่ง คือ ศูนย์ซ่อมบำรุงนาทา และศูนย์ซ่อมบำรุงเชียงรากน้อย และมีย่านกองเก็บตู้สินค้าและย่านเปลี่ยนถ่ายสินค้า 1 แห่ง ที่นาทา ตลอดเส้นทางมีอาคารจ่ายไฟฟ้าย่อย 14 แห่ง มีอาคารควบคุมระบบอาณัติสัญญาณรายทางและอาคารควบคุมสื่อสารรายทาง 51 แห่ง และโครงการจะแก้ปัญหาจุดตัดทางรถไฟกับถนน จำนวน 261 แห่ง (เป็นสะพานรถไฟ 113 แห่ง สะพานรถยนต์ข้ามทางรถไฟ 21 แห่ง สะพานรถยนต์ข้ามทางรถไฟรูปตัวยู 2 แห่ง ทางลอดใต้ทางรถไฟ 96 แห่ง ทางบริการข้ามทางรถไฟ 2 แห่ง ยกเลิกจุดตัด 3 แห่ง และคงรูปแบบเดิม 3 แห่ง )
แหล่งข่าวกล่าวว่า เบื้องต้นการก่อสร้างงานโยธาทั้งโครงการมูลค่าการลงทุน 341,351.42 ล้านบาท จะแบ่งงานออกเป็น 13 สัญญา โดยในส่วนของ การก่อสร้างแนวเส้นทางรถไฟความเร็วสูง ช่วงนครราชสีมา-หนองคาย ระยะทาง 357.12 กม. วงเงิน 235,129.40 ล้านบาท แบ่งงานโยธาเป็น 11 สัญญา เฉลี่ยมูลค่าสัญญาละประมาณ 20,000 ล้านบาท ทั้งนี้เพื่อให้ได้ผู้รับจ้างก่อสร้างที่มีคุณภาพ และการเข้าร่วมประมูลไม่มากราย หรือไม่น้อยรายจนเกินไป นอกจากนี้ ยังมีงาน ศูนย์ซ่อมบำรุงนาทา 1 สัญญา และศูนย์ซ่อมบำรุงเชียงรากน้อย 1 สัญญา โดยจะใช้วิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (e – bidding) ตามระเบียบกรมบัญชีกลาง
@อนุมัติ PPP ย่านถ่ายสินค้านาทา
นอกจากนี้ บอร์ดรฟท.ยังเห็นชอบผลการศึกษาโครงการศึกษาและวิเคราะห์การให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ โครงการศูนย์เปลี่ยนถ่ายสินค้าและย่านกองเก็บตู้สินค้าเพื่อรองรับการขนส่งทางราง จังหวัดหนองคาย (ศูนย์เปลี่ยนถ่ายสินค้าฯนาทา) ตามมาตรา 22 แห่งพ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 ซึ่งเห็นว่าควรแยกการลงทุนออกมาดำเนินการในรูปแบบ PPP โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อโครงการที่ช่วยขยายขีดความสามารถทางการขนส่งของจังหวัดหนองคาย ให้สามารถเชื่อมโยงการขนส่งสินค้าทางรถไฟระหว่างประเทศไทย-ลาว-จีน
โดยหลังจาก บอร์ดรฟท. ให้ความเห็นชอบ หลังจากนั้นจะนำเสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ตาม พ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 ก่อนเสนอคณะกรรมการนโยบายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (บอร์ด PPP) เห็นชอบหลักการและเสนอคณะรัฐมนตรี อนุมัติ คาดว่าจะดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จและเปิดให้บริการในปี 2571
สำหรับโครงการศูนย์เปลี่ยนถ่ายสินค้านาทา และย่านกองเก็บตู้สินค้า เพื่อรองรับการขนส่งทางราง จ.หนองคาย ใช้รูปแบบ PPP Net Cost มูลค่าการร่วมลงทุน 7,211.94 ล้านบาท ระยะเวลาร่วมลงทุน 20 ปี ประเมินค่าสัมปทานที่การรถไฟฯ ได้รับตลอดอายุโครงการ ที่ 4,457.07 ล้านบาท โดย การรถไฟฯ มีผลตอบแทนทางการเงิน (FIRR) 5.87% เอกชน 15.09% มีมูลค่าปัจจุบันสุทธิ (NPV) รฟท. ที่ 941 ล้านบาท เอกชน 32 ล้านบาท
คาดการณ์ปริมาณตู้สินค้าในปีแรกที่เปิดให้บริการ เฉลี่ยไม่ต่ำกว่าปีละ 5.56 ล้านตัน หรือ 317,439 ทีอียู และเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง ในปีที่ 20 เป็น 11.05 ล้านตัน หรือประมาณ 631,237 ทีอียู
อย่างไรก็ตาม จากผลการวิเคราะห์ โครงการ PPP จะเกิดความคุ้มค่าในการลงทุน คือ มีการก่อสร้างสะพานรถไฟใหม่ คู่ขนานกับสะพานมิตรภาพแห่งที่ 1 และมีการเดินรถไฟจากศูนย์เปลี่ยนถ่าย นาทาฯ ไปยังสถานีเวียงจันทน์ใต้ได้โดยตรง ดังนั้น หน่วยงานของไทยที่เกี่ยวข้อง ทั้งกระทรวงคมนาคม กระทรวงการต่างประเทศ และคณะกรรมการร่วมระหว่างไทย และสปป.ลาวต้องร่วมกันผลักดันการก่อสร้างสะพานรถไฟแห่งใหม่ และการเจรจากับหน่วยงานของสปป.ลาว ตลอดจนขอความร่วมมือกับรถไฟจีน เพื่อผลักดันให้มีการเดินรถระหว่างไทย สปป.ลาว และจีน เป็นความตกลงโครงข่ายทางรถไฟเอเชีย (Tran - Asia Railway Network Agreement)