กทม.เผยโควิด-19 กลับมาระบาดสูงขึ้นหลังสงกรานต์ เล็งจัดซื้อวัคซีนให้เด็กนักเรียนสังกัด กทม.ระดับประถม ส่วนไข้เลือดออกรายงาน 4 เดือน (17 ม.ค. - เม.ย. 67) ติดแล้ว 1,730 คน เสียชีวิต 22 คน แนะผู้ป่วยทุกรายทายากันยุงเพื่อป้องกันยุงกัด
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า วันที่ 20 เมษายน 2567 นางทวิดา กมลเวช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการควบคุมโรคติดต่อกรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 2/2567 วานนี้ (19 เม.ย.67) มีการรายงานสถานการณ์โรคติดต่อที่สำคัญในปี 2567 อาทิ โควิด-19 โรคไข้หวัดใหญ่ และโรคไข้เลือดออก
โดยสถานการณ์โรคโควิด-19 ในช่วง 4 เดือนของปีนี้ พบสถานการณ์ระบาดสูงกว่าปีที่ผ่านมา ซึ่งปกติแล้วหลังสงกรานต์จะมีการระบาดเพิ่มขึ้น สำนักอนามัยจึงประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนป้องกันตนเองจากโรคติดต่อทางเดินทางหายใจในช่วงนี้ สถานการณ์ไข้หวัดใหญ่รายเดือนเทียบกับค่ามัธยฐาน 5 ปีย้อนหลัง ในปี 2566-2567 มีค่าสูงขึ้น สำนักอนามัยจึงได้ขออนุมัติจัดซื้อวัคซีนเพื่อฉีดให้นักเรียนสังกัดกทม. ในระดับประถมศึกษา และจะดำเนินการฉีดต่อไป
ทั้งนี้ ที่ประชุมได้หารือสาเหตุของการเพิ่มจำนวนผู้ป่วย อาจเกิดจากระยะในการรับวัคซีนที่ห่างมานาน ซึ่งการรับวัคซีนไม่ได้รับประกันว่าจะไม่ติดแต่จะลดอาการของผู้ป่วย สำนักอนามัยจึงควรให้ความรู้หลักการปฏิบัติตนให้มากขึ้น
@4 เดือน คนกทม.ตายจากไข้เลือดออกแล้ว 22 คน
สถานการณ์โรคไข้เลือดออกในกทม. สัปดาห์ที่ 13 (17 ม.ค.-เม.ย.67) ประเทศไทยพบผู้ป่วย 24,619 ราย เสียชีวิตแล้ว 22 คน ในกทม.พบผู้ป่วย 1,730 ราย เสียชีวิต 2 คน อย่างไรก็ดี กระทรวงสาธารณสุขได้รายงานผลการศึกษาต่อคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ โดยประสิทธิผลของยาทากันยุงในผู้ป่วยสามารถลดการแพร่เชื้อได้ จึงมีข้อแนะนำให้ผู้ป่วยทุกรายทายากันยุงเพื่อป้องกันยุงกัดในผู้ป่วยและสมาชิกในครัวเรือน โดยให้ปฏิบัติควบคู่ไปกับมาตรการเสริมอื่น
”โครงการตรวจสุขภาพล้านคนของกทม.เริ่มมีข้อมูลเข้ามาแล้ว ต่อไปจะมีการวิเคราะห์ข้อมูลให้มากขึ้น เพื่อให้สามารถดำเนินการวิเคราะห์ และวางแผนต่อไปได้ โดยกทม.จะรื้อวิธีการจัดเก็บข้อมูลใหม่และนำความคืบหน้ามารายงานคณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานครในการประชุมครั้งหน้า“ รศ.ทวิดา กล่าว
นางทวิดา กล่าวเพิ่มเติมว่า ที่ผ่านมากทม.รณรงค์เฉพาะในชุมชนและครัวเรือน แต่ไม่เคยรณรงค์ในสถานที่ทำงาน จึงควรทำงานให้ครอบคลุมทุกพื้นที่เสี่ยง ทั้งไซต์ก่อสร้าง โรงงานและขอให้สำนักอนามัยวิเคราะห์ข้อมูลลงลึก ลักษณะของชุมชนที่มีการระบาด และสมมุติฐานของการเกิดระบาด เพื่อให้เกิดแนวทางแก้ปัญหาที่เหมาะสมและสามารถลดจำนวนผู้ป่วยได้อย่างมีประสิทธิภาพ
นอกจากนี้ในที่ประชุมสำนักอนามัยยังได้รายงานสถานการณ์โรคไวรัสซิก้า (โรคไข้ปวดข้อยุงลาย (ชิคุนกุนยา) โรคไอกรน โรคฝีดาษวานร โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์