‘แบงก์ชาติ’ เร่งผลักดัน 'ธนาคารพาณิชย์' ออก 'ผลิตภัณฑ์ทางการเงิน' สนับสนุน ‘เอกชน’ ปรับตัวด้านสิ่งแวดล้อม-ขับเคลื่อนเศรษฐกิจสู่ความยั่งยืน หวังให้ออกผลิตภัณฑ์ฯในช่วงต้นไตรมาส 3
..................................
เมื่อวันที่ 12 มี.ค. นายรณดล นุ่มนนท์ รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยระหว่างการบรรยายในหัวข้อ Financing the transition ภายในงาน Sustainability Week Asia (Economist Impact) ตอนหนึ่งว่า ธปท. ได้มีการผลักดันให้ภาคการเงินสนับสนุนภาคเอกชนให้ปรับตัวด้านสิ่งแวดล้อม โดยปัจจัยสำคัญ 3 ประการ ที่จะช่วยให้ไทยปรับตัวได้อย่างยั่งยืน A B C ได้แก่
Alignment (A) คือ เป้าหมายและแผนการลดก๊าซเรือนกระจกระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน , Balance (B) คือ การรักษาสมดุลระหว่างการรักษาเสถียรภาพและการพัฒนาเพื่อรับมือกับอนาคต และ Collaboration (C) คือ การสร้างความร่วมมือของทุกภาคส่วนเพื่อมุ่งสู่เป้าหมายเดียวกัน
ทั้งนี้ ธปท. มีบทบาทที่เป็น supporter และ foundation โดยในมุมของบทบาท supporter นั้น ธปท. คาดหวังให้ธนาคารพาณิชย์ (ธพ.) ดำเนินการใน 2 ด้าน คือ (1) มีผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่จะช่วยให้ภาคธุรกิจปรับตัวไปสู่การลดกิจกรรมที่ไม่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (less brown activities) โดยคาดว่าช่วงต้นไตรมาส 3 ปี 2567 จะเห็นแผนการออกผลิตภัณฑ์ดังกล่าว และ (2) สถาบันการเงินกลุ่ม D-SIBs เริ่มจัดทำแผนการเปลี่ยนผ่าน (Transition Plan) สำหรับ priority sector อย่างน้อย 1 sector ภายในปี 2568
“จุดนี้เป็นจุดที่ไทยแตกต่างจากประเทศที่พัฒนาแล้ว ที่มุ่งเน้นการจัดทำ transition plan ก่อน เนื่องด้วยบริบทของไทย ภาคเอกชนมีความตระหนักและความพร้อมในการปรับตัวด้านสิ่งแวดล้อมแตกต่างกัน ดังนั้น การมีผลิตภัณฑ์ทางการเงินตัวอย่างที่ตอบโจทย์การปรับตัวด้านสิ่งแวดล้อมในบริบทไทยจะช่วยสร้างแรงกระตุ้นให้ภาคธุรกิจเริ่มปรับตัว และสามารถขยายผลเป็นวงกว้างขึ้นในอนาคต โดยเฉพาะกลุ่ม SMEs” นายรณดล กล่าว
ส่วนบทบาทในด้าน foundation นั้น ธปท. มีความคืบหน้าสำคัญคือ (1) ออกแนวนโยบาย (standard practice) ให้สถาบันการเงินผนวกประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในการดำเนินธุรกิจ และร่วมมือกับสมาคมธนาคารไทยจัดทำ industry handbook เพื่อใช้อ้างอิงแนวปฏิบัติ
และ (2) ร่วมมือกับภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้อง จัดทำ Thailand Taxonomy ระยะที่ 1 สำหรับภาคพลังงานและการขนส่ง แล้วเสร็จในปีที่ผ่านมา และอยู่ระหว่างจัดทำ Taxonomy ระยะที่ 2 สำหรับภาคเศรษฐกิจอื่นที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูง เพื่อเป็นเครื่องมือช่วยให้สถาบันการเงินสามารถบริหารจัดการความเสี่ยงในพอร์ตของตนได้อย่างเป็นระบบ
“ในอนาคตความท้าทายสำคัญ คือ 1.การจัดเก็บข้อมูลชี้วัดด้านสิ่งแวดล้อม และ 2.การขับเคลื่อนให้ภาคเศรษฐกิจเปลี่ยนผ่านไปสู่ความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมที่สอดคล้องกันและเกิดผลสัมฤทธิ์ ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน รวมถึงมีนโยบายและการสนับสนุนจากภาครัฐที่ชัดเจน” นายรณดล กล่าว