‘สุริยะ’ ถอยแล้ว ไอเดียเก็บภาษีคนกรุงฯอุดหนุนค่าโดยสารรถไฟฟ้าปีละ 7-8 พันล้านบาท หลัง ‘พีระพันธุ์’ ไม่ตอบรับ ชี้มีอีกหลายมาตรการจูงใจเยอะแยะ
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า วันที่ 22 ธันวาคม 2566 จากกรณีที่นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม มีแนวคิดจัดตั้งกองทุนส่งเสริมระบบตั๋วร่วม ตาม ร่างพ.ร.บ.การบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม พ.ศ. … หรือ พ.ร.บ.ตั๋วร่วม ที่จะเสนอเข้าที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร (สส.) ในสมัยประชุมนี้ โดยจะระดมทุนจากการเก็บภาษีเพิ่มอีก 50 สต./ลิตร เน้นพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑล เพื่อนำมาใช้อุดหนุนค่าโดยสารรถไฟฟ้าทุกสายทางปีละ 7,000-8,000 ล้านบาทนั้น
ต่อมา นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ให้สัมภาษณ์ว่า ยังไม่ทราบเรื่อง แต่การมาจูงใจให้คนใช้รถไฟฟ้ามันมีมาตรการอีกตั้งเยอะ และมองว่า การขึ้นภาษีมันอยู่ที่รัฐบาล แต่ส่วนตัวคงไม่ขึ้น เพราะตอนนี้มาตรการของรัฐบาลเราคือจะให้ลด ไม่ได้ให้ขึ้น และตอนนี้ยังไม่ได้มีการประสานที่จะหารือมา และเรื่องนี้มันก็จะเป็นการไปสร้างปัญหาความเดือดร้อนให้ประชาชนอีก ซึ่งรัฐบาลเป็นกังวลอยู่แล้ว แต่ก็หารือกันได้
เมื่อถามย้ำว่า การขึ้นภาษีน้ำมันเบนซินเฉพาะกทม.และปริมณฑล อาจทำให้คน กทม.และปริมณฑลไม่พอใจ นายพีระพันธุ์ กล่าวว่า ก็ต้องไปถามนายสุริยะ เพราะตนไม่ได้เป็นต้นเรื่องในเรื่องนี้
@’สุริยะ’ ถอยไอเดียภาษีน้ำมันอุดหนุนค่าโดยสารรถไฟฟ้า
ล่าสุด นายสุริยะ เปิดเผยว่า จากกรณีดังกล่าว ต้องขอโทษพี่น้องประชาชนที่อาจจะสื่อสารและทำให้เข้าใจคลาดเคลื่อน ซึ่งในการกล่าวถึงเรื่องนี้ เป็นเพียงการหยิบยกตัวอย่างจากต้นแบบในต่างประเทศเท่านััน รวมถึงยกตัวอย่างเพื่อให้เห็นถึงกรณีศึกษา และการเปรียบเทียบถึงข้อดี และข้อเสีย โดยไม่ได้มีแนวคิดจะนำมาดำเนินการแต่อย่างใด เนื่องจากกระทรวงคมนาคม ให้ความสำคัญกับการลดค่าครองชีพของพี่น้องประชาชน ส่วนมาตรการค่ารถไฟฟ้าสูงสุดไม่เกิน 20 บาท นั้น กระทรวงคมนาคมยืนยันว่าจะเปิดให้บริการเต็มรูปแบบภายใน 2 ปี โดยจะไม่มีการเก็บภาษีน้ำมันเพิ่มขึ้นตามที่มีกระแสข่าวอย่างแน่นอน