‘สุรพงษ์ รมช.คมนาคม’ สั่งดึงรถไฟฟ้าสายสีแดงกลับจาก ครม. สั่งศึกษาขยายสายทางถึง ‘อยุธยา-นครปฐม’ คาดใช้เวลาอีก 1-2 เดือน ก่อนดันเข้าไลน์ ครม. ไม่เกิน ก.พ. 67 ย้อนแผนรถไฟฟ้าต่อแนวเหนือ-ใต้ ตะวันออก-ตะวันตกยาวถึง ‘อยุธยา-นครปฐม-ราชบุรี-ฉะเชิงเทรา’
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า วันที่ 20 ธันวาคม 2566 นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า จากที่กระทรวงคมนาคมมีนโยบายเร่งรัดการพัฒนาโครงการระบบรถไฟชานเมืองสายสีแดง ส่วนต่อขยายจำนวน 3 เส้นทาง วงเงินรวม 21,734.96 ล้านบาท ประกอบด้วย ช่วงรังสิต-มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ระยะทาง 8.84 กม. วงเงิน 6,448.69 ล้านบาท, ช่วงตลิ่งชัน-ศาลายา ระยะทาง 14.80 กม. วงเงิน 10,670.27 ล้านบาท และ ช่วงตลิ่งชัน-ศิริราช ระยะทาง 5.7 กม. วงเงิน 4,616 ล้านบาท
ล่าสุด มีแนวคิดใหม่ว่า ควรขยายเส้นทางเพิ่มเติมออกไปยังเมืองรอบนอกมากขึ้น เช่น ช่วงรังสิต-ม.ธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ควรขยายไปถึงจ.พระนครศรีอยุธยาอยุธยา หรือ ช่วงตลิ่งชัน-ศาลายา ควรขยายไปถึง จ. นครปฐม ซึ่งจะต้องนำกลับมาพิจารณาศึกษาเพิ่มเติม จึงได้ถอนเรื่องกลับ เพื่อส่งคืนให้หน่วยงานเจ้าของโครงการ คือ การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ไปศึกษาทบทวนขยายระยะทางเพิ่มเติม คาดว่าจะใช้เวลาไม่นาน 1-2 เดือน เนื่องจากโครงการมีผลศึกษาเดิมอยู่ก่อนแล้ว โดยจะนำกลับไปเสนอครม.ได้อีกครั้งประมาณเดือนม.ค.- ก.พ. 2567
“เหตุผลที่ให้รฟท.ทบทวน สายสีแดง ส่วนต่อขยายโดยลากเส้นทางออกไปอีก เพื่อรองรับการขยายการเติบโตของเมืองและเชื่อมกับชุมชม เป็นการเชื่อมต่อการเดินทางด้วยระบบรางที่มีความสะดวก และปลอดภัย เป็นการเตรียมแผนลงทุนที่คุ้มค่าเพื่ออนาคต และทำให้ภาครัฐสามารถวางแผนในการสร้างชุมชนใหม่ๆให้เกิดขึ้น และช่วยให้ลดความแออัดของเมืองลงอีกด้วย” รมช.คมนาคมกล่าว
นายสุรพงษ์กล่าวว่า การขยายเส้นทางออกไป จะส่งผลต่อค่าก่อสร้างที่เพิ่มขึ้น ซึ่งคงต้องมีการปรับเรื่องตัวเลขวงเงินลงทุนโครงการใหม่ด้วย ทั้งนี้ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณารายละเอียดอย่างรอบคอบ
สำหรับการพัฒนาโครงการระบบรถไฟชานเมืองสายสีแดง ส่วนต่อขยายจำนวน 3 เส้นทาง ได้แก่ ช่วงรังสิต-มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ศูนย์รังสิต ระยะทาง 8.84 กม. วงเงิน 6,448.69 ล้านบาท ซึ่งก่อนหน้านี้ ได้เสนอเรื่องไปที่สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) แล้ว อยู่ระหว่างรอบรรจุวาระการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาซึ่ง ล่าสุดกระทรวงคมนาคมได้ถอนเรื่องกลับมาแล้ว
สุรพงษ์ ปิยะโชติ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม
ส่วน สายสีแดง ส่วนต่อขยาย ช่วงตลิ่งชัน-ศาลายา ระยะทาง 14.80 กม. วงเงิน 10,670.27 ล้านบาท อยู่ในขั้นตอนสอบถามความเห็นหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.)และช่วงตลิ่งชัน-ศิริราช ระยะทาง 5.7 กม. วงเงิน 4,616 ล้านบาท รอการพิจารณาหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเช่นกัน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตามรายงานแผนแม่บทระบบขนส่งมวลชนทางรางในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ที่จัดทำโดยสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เมื่อเดือน มิ.ย. 2553 ให้รายละเอียดแนวเส้นทางรถไฟชานเมืองสายสีแดง ดังนี้
โครงข่ายรถไฟสายสีแดงได้รับการพัฒนาตามแนวทางรถไฟเดิมของ รฟท. ประกอบด้วยโครงข่ายใน แนวเหนือใต้ (สายสีแดงเข้ม) และแนวตะวันออกตะวันตก (สายสีแดงอ่อน) ของพื้นที่กรุงเทพมหานครและ ปริมณฑล สามารถเดินรถต่อเนื่องระหว่างพื้นที่ (Through Operation) ได้ โดยมีสถานีกลางบางซื่อ (ปัจจุบันคือสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์) นอกจากนันยังอาจนับรวมระบบขนส่งทางรถไฟเชื่อมท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (Suvarnabhumi Airport Rail Link, SARL) หรือรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิ้งค์เป็นหนึ่งในโครงข่ายร่วมกับระบบรถไฟสายสีแดง แต่อย่างไรก็ดีรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิ้งค์มีวัตถุประสงค์เฉพาะในการรองรับการเดินทางเชือมโยง ศูนย์กลางเมืองกับท่าอากาศยานเพือเพิมความสะดวกรวดเร็วแก่ผู ้โดยสาร
สำหรับโครงข่ายรถไฟชานเมืองสายสีแดง (ดูภาพประกอบด้านล่าง) ไม่รวมรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิ้งค์ แนวเหนือ-ใต้หรือสายสีแดงเข้ม มี 3 ช่วง ได้แก่ ช่วงที่ 1 (ด้านเหนือ) บางซื่อ - รังสิต -ม.ธรรมศาสตร์ รังสิต - ภาชี ซึ่งปัจจุบันได้สร้างช่วงบางซื่อ - รังสิตแล้ว ช่วงที่ 2 (ด้านกลาง) บางซื่อ - หัวลำโพง และช่วงที่ 3 (ด้านใต้) หัวลำโพง - บางบอน - มหาชัย - ปากท่อ
ส่วนแนวตะวันออก-ตะวันตกหรือสายสีแดงอ่อน มี 3 ช่วง เช่นกัน ได้แก่ ช่วงที่ 1 (ด้านตะวันออก) มักกะสัน - หัวหมาก - ฉะเชิงเทรา ช่วงที่ 2 (ด้านกลาง) บางซื่อ - พญาไท - มักกะสันและบางบำหรุ - มักกะสัน และช่วงที่ 3 (ด้านตะวันตก) บางซื่อ - ตลิ่งชัน - ศาลายา - นครปฐม
โครงข่ายรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดง
ที่มา: โครงการศึกษาปรับแผนแม่บทระบบขนส่งมวลชนทางรางในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล