ราชกิจจาฯ ประกาศคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี และ กระทรวงมหาดไทย ที่ 3877/2566 ห้ามออกใบอนุญาตพกอาวุธปืนเป็นเวลา 1 ปี มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป เพื่อลดการใช้อาวุธปืนก่อเหตุร้ายในที่สาธารณะ-อาชญากรรม
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 19 ธ.ค. 2566 ราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่ คำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีและกระทรวงมหาดไทย ที่ 3877/2566 เรื่อง ห้ามการออกใบอนุญาตให้มีอาวุธปืนติดตัว (แบบ ป.12) เป็นการชั่วคราว เป็นระยะเวลา 1 ปี เริ่มมีผลบังคับตั้งแต่วันนี้ (20 ธ.ค. 66) ถึง วันที่ 19 ธ.ค. 67 โดยเหตุผลของการออกคำสั่งดังกล่าวระบุไว้
“เนื่องจากปัจจุบันได้มีการนำอาวุธปืนติดตัวไปในที่สาธารณะและได้ก่อเหตุร้าย ทำให้เกิดอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย และทรัพย์สิน เป็นที่หวาดกลัวของประชาชน อันส่งผลกระทบต่อสวัสดิภาพในด้านความปลอดภัยและขัดต่อความสงบเรียบร้อยของสังคม ดังนั้น เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยและความปลอดภัยสาธารณะ ลดอาชญากรรมและควบคุมสถานการณ์ให้บ้านเมืองกลับมาเป็นปกติสุข จึงได้ออกคำสั่งห้ามออกใบอนุญาตให้มีอาวุธปืนติดตัว (แบบ ป.12) เป็นการชั่วคราว
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 6 วรรคหนึ่ง และมาตรา 57 ประกอบมาตรา 22 แห่งพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย จึงออกคำสั่งห้ามออกใบอนุญาต ให้มีอาวุธปืนติดตัว (แบบ ป.12) เป็นการชั่วคราว เว้นแต่กรณีจำเป็นเพื่อประโยชน์แก่ทางราชการ ทั้งนี้ ให้มีผลใช้บังคับ มีกำหนดระยะเวลา 1 ปี นับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป”
โดย น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล เลขานุการ รมว.มหาดไทย และ โฆษกกระทรวงมหาดไทย ได้ให้ข้อมูล เกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวว่า คำสั่งฯ จะไม่มีผลบังคับกับเจ้าหน้าที่ หรือบุคคลที่ได้รับอนุญาตให้พกอาวุธปืนติดตัว ซึ่งอยู่ระหว่างการปฏิบัติหน้าที่ อาทิ เจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อยของประชาชน เช่น ทหารตำรวจ ข้าราชการ พนักงาน หรือลูกจ้างของหน่วยงานราชการ ประชาชน ซึ่งอยู่ระหว่างการช่วยเหลือราชการและมีเหตุจำเป็นต้องมีและใช้อาวุธตามกฎหมาย
น.ส.ไตรศุลี กล่าวอีกว่า นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.มหาดไทย ได้มีนโยบายเพิ่มความเข้มงวดเพื่อควบคุมไม่ให้มีการใช้อาวุธปืนที่ได้รับอนุญาตไปใช้ในการก่อเหตุจนกระทบต่อความสงบสุขของประชาชน ที่ผ่านมากระทรวงมหาดไทยจึงมีการออกมาตรการต่างๆ อาทิ การงดการออกใบอนุญาตให้ร้านค้าอาวุธปืน ในการสั่ง หรือนำเข้าอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืน (แบบ ป.2) และให้เจ้าหน้าที่มีการตรวจสอบคุณสมบัติผู้ที่จะขอรับใบอนุญาตซื้อปืน (แบบ ป.3) ที่เข้มงวดมากขึ้น นอกจากนี้ ปัจจุบันยังอยู่ระหว่างการเสนอร่างแก้ไขพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) อาวุธปืนฯ เพื่อให้มีการขึ้นทะเบียนและส่งมอบอาวุธปืนที่ผิดกฎหมาย และการจัดทำรายละเอียดเกี่ยวกับอาวุธปืน หรือจัดเก็บอัตลักษณ์อาวุธปืนด้วยต่อไป